วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

ขายไฟให้หลวง พลังงานทดแทน ทำเงิน


รัฐดันนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน เปิดทาง กฟภ.รับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาจากครัวเรือน  ธุรกิจรับติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บูม สต๊อคของรองรับผู้ลงทุนยื่นขายไฟฟ้า ปี 56  ขณะที่คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานระบุ ยังมีพื้นที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงอีกมาก ผุดโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแก้ปัญหา

นายพร้อมพงษ์ วงค์มณีนิล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เขต 1 เชียงใหม่ เปิดเผยในโอกาสประชุมพบปะสื่อมวลชน 6 จังหวัดภาคเหนือเพื่อประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ในการกำกับกิจกรรมพลังงาน และพิทักษ์สิทธิของผู้ใช้พลังงานตามกฎหมาย ที่จังหวัดเชียงราย และในวันที่ 22 ก.ย. 2556 ศึกษาดูงานโครงการใช้พลังงานทดแทนจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ บ้านแสงแควพัฒนา ต.แม่ยาว อ.เมือง เชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ได้กล่าวว่าขณะนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยทั่วโลกหันมาให้ความสนใจเรื่องพลังงานทดแทนมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานไฟฟ้า เริ่มมีการใช้พลังงานทดแทนจากแผงโซล่าเซลล์ และมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเพื่อใช้ในชุมชน บ้านเรือนที่อยู่อาศัยกันและ เพื่อการเกษตรมากขึ้น 

ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา พ.ศ.2556 ให้การไฟฟ้านครหลวงประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยมีปริมาณพลังไฟฟ้าที่รับซื้อ และราคารับซื้อไฟฟ้า เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา พ.ศ. 2556 อัตรารับซื้อไฟฟ้า จากบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ต่อ 1 หลังคาเรือน รับซื้อในอัตราหน่วยละ 6.9 บาท อาคารธุรกิจขนาดเล็ก กำลังการผลิตต่อราย ตั้งแต่ 10-250 กิโลวัตต์ ในอัตราหน่วยละ 6.55 บาท อาคารประเภทโรงงาน กำลังการผลิตต่อราย มากกว่า 250-1,000  กิโลวัตต์ ในอัตราหน่วยละ 6.16 บาท

 เป็นเรื่องน่ายินดี ขณะนี้รัฐบาลส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากแผงโซล่าเซลล์โดย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ( Solar PV Rooftop )โดย เปิดให้ประชาชนที่สนใจติดตั้งแผงโซล่าเซลเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ซึ่งเปิดยื่นคำขอ ขายไฟฟ้าได้ที่ กฟภ. ทั้ง 12 เขตทั่วประเทศตั้งแต่ วันที่ 23 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา นับเป็นจุดเริ่มต้นว่าจากนี้ไปการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจะเป็นรูปธรรมและขยายวงกว้างมากขึ้น" 

นายอดิศร มหามงคล นักวิศวกรไฟฟ้า ในฐานะกรรมการบริษัท อนันตพลังงาน จำกัด เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่ในวงการธุรกิจพลังงานมากกว่า 20 ปีซึ่งตนให้ความสนใจเรื่องพลังงานทดแทน และทำธุรกิจเกี่ยวกับไบโอแก๊ซมากก่อน แต่ขณะนี้กระแสพลังงานทดแทนเริ่มเป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และถือเป็นธุรกิจเทรนด์ใหม่ในประเทศไทย เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเริ่มมีผู้สนใจหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จากแผงโซล่าเซลล์กันมากขึ้น ทั้งกลุ่มผู้มีที่อยู่อาศัยห่างไกลชุมชน และกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อการเกษตร รวมถึงผู้ใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือนทั่วไปจึงหันขยายประเภทธุรกิจ มารับจำหน่ายและติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ อำเภอห้างฉัตร จ.ลำปาง

"ผมเริ่มทำธุรกิจนี้มาได้ ระยะหนึ่ง และจากนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาของรัฐบาลที่เพิ่งประกาศ และเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าไปยื่นเอกสารเพื่อขอขายไฟฟ้าให้กับ กฟภ.ได้แล้วนั้น ผมได้ลงทุนในธุรกิจนี้ ประมาณ 3 ล้านบาท โดยนำเข้าอุปกรณ์ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ด้วยแผงโซล่าเซล ขณะนี้มีสต๊อคไว้มากกว่า 500 แผ่น เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มที่ ประสงค์จะลงทุน และยื่นขอขายไฟฟ้าในโครงการ  Solar PV Rooftop ขณะนี้มีลูกค้ากลุ่มวิศวกร และนักธุรกิจ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจเรื่องพลังงานที่ติดตามโครงการนี้ของรัฐบาลและเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอขายไฟฟ้าให้ กฟภ. ติดต่อมาเพื่อซื้อระบบผลิตไฟฟ้าแล้วประมาณ 20 รายแล้ว ส่วนต้นทุนติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 3-7 แสนบาท ตามขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า" 

อย่างไรก็ตามกล่าวว่า ธุรกิจรับติดตั้งแผงโซล่าเซล นับเป็นธุรกิจใหม่ในระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องมีความเชี่ยวชาญ ด้านวิศวกรไฟฟ้าและก่อสร้าง ส่วนจะมีคู่แข่งหรือไม่นั้น เชื่อว่าต้องมีธุรกิจนี้เกิดขึ้นอีกมาก แต่ตนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก แต่จะวางธุรกิจของบริษัทให้เป็นผู้ดูแลลูกค้าอย่างมีคุณภาพ ทั้งการเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ การติดตั้ง ราคาไม่สูงจนเกินไปที่สำคัญ มีบริการดูแลเรื่องเอกสารระเบียบการที่เกี่ยวข้องในเรื่องการติดตั้งและขอขายไฟฟ้าให้กับลุกค้า เป็นจุดแข็งของการตลาด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 945 วันที่ 27 กันยากัน - 3 ตุลตาคม 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์