วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เปิดช่องปรับผังเมือง แก้น้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ


โยธาฯและผังเมืองเตรียมแผนปรับปรุงผังเมืองลำปางเน้น พื้นที่เศรษฐกิจเสี่ยงภัยน้ำท่วมลุ่มน้ำวัง และบรรเทาอุทกภัยและสนับสนุนการบริการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำวัง ขณะที่จังหวัดเดินหน้าโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำรองรับฤดูน้ำหลาก 3 แห่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เกี่ยวกับโครงการวางปรับปรุงผังเมืองพื้นที่เศรษฐกิจเสี่ยงภัยน้ำท่วมลุ่ม น้ำวังและโครงการวางผังเมืองพื้นที่เศรษฐกิจใหม่เพื่อลดความแออัดของชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยลุ่มน้ำวัง เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2556 ที่ผ่านมา

ข้อมูลจากการประชุมดังกล่าวพบว่า การประเมินความเหมาะสมของสภาพพื้นที่อำเภอเมืองลำปาง และวิเคราะห์ข้อมูลจากปัจจัยด้านภูมิศาสตร์กายภาพ พบว่า สถานการณ์อุทกภัยบริเวณพื้นที่อำเภอเมืองลำปางมีแนวโน้มรุนแรง และพื้นที่เสี่ยงภัยมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของเมือง ชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจ ลำธารหลายจุดถูกนำไปใช้เป็นพื้นที่เกษตร มีการบุกรุกถือครองพื้นที่ ทางระบายน้ำธรรมชาติของลุ่มน้ำวังตื้นเขินจากการชะล้างพังทลายของดิน ทำให้แม่น้ำวังมีตะกอนท้องธารมาก โอกาสในการกัดเซาะตลิ่งพังจึงมีแนวโน้มรุนแรง ประกอบกับบริเวณอำเภอเมืองมีสภาพพื้นที่เป็นแอ่งรองรับน้ำหลากของแม่น้ำวังและแม่น้ำสาขาหลายสาย ในช่วงฤดูฝนหรือฝนวิกฤตมักมีน้ำหลากและน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง

ทั้งนี้ เป้าหมายในการวางและจัดทำผังนโยบายการใช้ที่ดินลุ่มน้ำวัง ปรับปรุงผังเมืองรวมครอบคลุมอำเภอเมืองลำปาง เพื่อให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแนวทางปรับปรุงและบังคับใช้ ผังเมืองรวม การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นควบคุมอาคาร และการถมดินกีดขวางทางน้ำ เพื่อทำผังนโยบายการใช้ที่ดินลุ่มน้ำวังบรรเทาพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมของ ลุ่มน้ำวังต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้จังหวัดลำปางยังมีโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ โดยกำหนดมีพื้นที่ก่อสร้างโครงการ 3 โครงการ ประกอบด้วย

1. อ่างเก็บน้ำแม่ตีบ ในพื้นที่ ต.แม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง ก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ระดับเก็บกัก +318.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 28.50 ล้าน ลบ.ม. ความจุใช้งาน 27.90 ล้าน ลบ.ม.

2. อ่างเก็บน้ำแม่อ้อน 2 ในพื้นที่ ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ระดับเก็บกัก +355.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 19.10 ล้าน ลบ.ม. ความจุใช้งาน 18.60 ล้าน ลบ.ม.


3. อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งผาก ในพื้นที่ ต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง ก่อสร้างเขื่อนชนิดดินถม ระดับเก็บกัก +223.50 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 19.47 ล้าน ลบ.ม. ความจุใช้งาน 18.27 ล้าน ลบ.ม. อีกด้วย

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 949 วันที่  25 - 31 ตุลาคม 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์