วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Energy Hub ลำปาง ฝันไกล ไปไม่ถึง?



เมื่อกระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC ) กำลังพุ่งแรง หน่วยงานรัฐและเอกชนสายเศรษฐกิจต่างเกาะกระแสเอาไว้แน่น อาจเป็นเพราะแนวโน้มของการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาคกำลังก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจน ในกลุ่มจังหวัดที่เชื่อมต่อชายแดนไทย ลาว พม่า คาดหวังว่าจะเชื่อมโยงเส้นทางการค้ากับจีนเพิ่มเติมจาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียนผ่านเส้นทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง R3A ได้ง่ายขึ้น 

เช่นเดียวกับจังหวัดลำปาง เป็นหนึ่งในพื้นที่กรอบงบประมาณพัฒนาในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอน บน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน) ซึ่งกำหนดตำแหน่งจุดยืนทางยุทธศาสตร์ (Positioning) ของกลุ่มจังหวัดและจังหวัด ตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัด 4 ปี (.. 2557 – 2560) โดยเน้นเฉพาะเรื่องสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและสร้างรายได้ ว่าเป็น " ศูนย์กลางการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนสู่สากล โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา สังคมน่าอยู่ทุกถิ่นที่" โดยพื้นที่ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางขนส่งทางอากาศ (Aviation Hub) จังหวัดลำปางเป็นศูนย์กลางขนส่งทางบกและจุดพักสินค้า (Land Logistics Hub และ Inland Container Deposit) พื้นที่เพื่อการผลิตและนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ จังหวัดลำพูน (Industrial Estate) จังหวัดลำปางเป็นศูนย์กลางพลังงานและอุตสาหกรรมสะอาด  (Energy Hub และ Clean Industry) ดังนั้นแผนนี้มีความคาดหวังจากนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลค่อนข้างสูง 

ข้อมูลจากงานเสวนา "ธุรกิจไทยจะเดินไปพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จะเกิดขึ้น และภาคพลังงานจะมีส่วนร่วมอย่างไร" จัดโดยบริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด และบริษัท อมตะ จัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด ปรากฏว่าหลายฝ่าย สนับสนุนให้ไทยเกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เพราะจะช่วยให้ผลิตมวลรวมประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ตลอดระยะเวลาลงทุน 7 ปี (2557-2563) การค้าชายแดนขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตามการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือ ที่ภาคเอกชนในลำปาง มักขายฝันในที่ประชุมระดับจังหวัดว่า คาดหวังจะมีท่อก๊าซธรรมชาติ เชื่อมตรงมาตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อรองรับยุทธศาสตร์  Energy Hub และ Clean Industry

เรื่องนี้ นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เผยในโอกาสสัมมนา “เจาะลึกพลังงานไทยและพลังงานโลก" ร่วมกับ บ.ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดระยอง ว่า เรื่องของท่อก๊าซธรรมชาติมาถึงภาคเหนือตอนบนนั้นอาจมีทางเป็นไปได้ในอนาคต แต่ไม่ใช่เร็วๆนี้ โดยขณะนี้ มีโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก นครสวรรค์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)(PTT) เพื่อขยายโอกาสในการใช้พลังงานสะอาดและลดมลภาวะในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม เขตภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง เริ่มก่อสร้างแล้วเมื่อกันยายน 2556 เสร็จสิ้นโครงการประมาณต้นปี 2558 แต่ความเป็นไปได้ ในประเด็นศูนย์กลางพลังงาน ในแง่ของน้ำมัน เป็นไปได้แน่นอน เนื่องจากกำลังมีโครงการ แนวท่อน้ำมันมาถึงภาคเหนือในเร็วๆนี้

ด้านแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ใน บ.ปตท.จำกัด (หมาชน) เผยว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังศึกษาโครงการ ต่อขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามนโยบายราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเท่ากันทั่วประเทศ เพื่อวางโครงสร้างรองรับการเชื่อมโยงกับตลาดเพื่อนบ้านได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาเซียนรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ท่อน้ำมันจะเชื่อมโยงกับ สปป.ลาวและจีน แต่โครงการท่อก๊าซนั้นอาจจะเป็นเรื่องห่างไกล และหากเป็นไปได้ ต้องรอให้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเสร็จสิ้นก่อน จึงสามารถเดินท่อตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งอาจจะมากกว่า 20 ปีข้างหน้า  

จากข้อมูลดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า โครงการยักษ์ใหญ่ แม้จะถูกกำหนดแนวทางไว้ แต่ยังต้องอิง อุปสรรคและความเป็นไปได้ รวมไปถึงนโยบายงบประมาณจากรัฐเป็นเชื้อเพลิงของไฟฝัน  แนวทางการศึกษาและพัฒนา (R&D)ยังต้องนำมาเป็นฐานกำหนดเป้าหมาย เพราะการผลักดันยุทธศาสตร์ Clean Industry ต้องอาศัยความชัดเจนและมั่นคงทางพลังงาน แม้ต้องใช้เวลายาวไกลแค่ไหน หากแต่เส้นทางฝันนั้นยิ่งไกลยิ่งต้องสานต่อจิกซอว์ส่วนอื่นให้แน่นหนาก่อนไปถึงปลายทางที่จะดันให้ลำปางเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเอาเซียนในอนาคต

                     ศชากานท์ แก้วแพร่ รายงาน

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 949 วันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์