นอกจากเป็นทางด่วนแห่งการปะทะสังสรรค์
ในเรื่องที่หาสาระได้น้อยแล้ว โลกออนไลน์หรือสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะเฟสบุ๊ค ก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ใช้ซื้อใจ
เด็กยุค I ที่เริ่มมีสิทธิ มีเสียง
รวมทั้งใช้เป็นหอกระจายข่าวเท็จ หรือการปล่อยข่าวโคมลอย โจมตีสื่อ
หรือฝ่ายตรงข้ามอย่างไร้แก่นสาร ในลำปาง นักการเมืองบางคนที่พยายามแสดงราคา “คนรุ่นใหม่”
แต่ใช้วิธีการดึกดำบรรพ์ คือปั้นน้ำเป็นตัว เลียนแบบนักการเมืองระดับชาติบางคนด้วย
ยุคนี้นักการเมืองกลุ่มการเมืองต่างๆมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและสารพัดอุปกรณ์ไฮเทค
ไม่ว่าจะเป็น ไอโฟน ไอแพด สมาร์ทโฟนสารพัดรุ่น ขนกันมาใช้ในการหาเสียงและสร้างภาพลักษณ์
การใช้สื่ออินเทอร์เน็ต Social Media ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์
Instagram กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
เพราะเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ประหยัดและสร้างภาพให้ดูว่ามีความทันสมัย
ทันกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก เข้าถึงกลุ่มนิยม “Like”
กลุ่มการเมืองได้เริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มของวัยรุ่นมากขึ้น
หลังจากกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
มีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้ง หลายกลุ่มได้มีการนำคนวัยหนุ่มสาวมาเปิดตัวในฐานะตัวแทน ผลักดันกระแสคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างฐานเสียงในกลุ่มของวัยรุ่นและผู้ที่เชื่อในพลังความคิดของความเป็นหนุ่มสาวว่าจะทำงานโดยไม่มีเรื่องราวของผลประโยชน์หรือสิ่งใดแอบแฝง
และกลุ่มการเมืองพยายามสร้างคะแนนเสียงจากกลุ่มวัยรุ่นนี้ ดูจากการใช้สีสัน ใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างกระแส
โปรยนโยบายที่สั้นๆแต่โดนใจ
คนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีส่วนร่วมกับการเมืองมากขึ้นก็ได้มีความสนใจเรื่องของการเมืองมากขึ้นด้วย
มีการจับกลุ่มสนทนากันตามกลุ่มการเมืองในเฟสบุ๊ค
มีการนำเสนอความคิดเห็นตามกระดานข่าว (Web
Board) แม้ว่าภาพที่มองนั้นจะเป็นภาพลบมากกว่าบวกก็ตาม
นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ถึงปัญหาการเมืองไทย
และหากคนรุ่นใหม่ได้รับการหล่อหลอมและสั่งสมประสบการณ์แยกแยะสิ่งดีและไม่ดีออกจากกันได้ย่อมส่งผลให้การพัฒนารูปแบบการเมืองไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต
การเบื่อ การไม่ยุ่งหรือไม่สนใจการเมืองไทยนั้นไม่ใช่วิธีที่แก้ปัญหา
กลับกลายเป็นช่องทางให้นักการเมืองที่ทุจริตดำเนินการได้ง่ายยิ่งขึ้น!!!
การที่กลุ่มการเมืองหันมาใช้ไอทีในการเดินเกมการเมืองทำให้เกิดกระแสได้ง่าย....ซึ่งบางทีอาจง่ายเกินไป
เพราะตามธรรมชาติของการแชร์ข่าวสารนั้น ข่าวร้ายมักจะกระจายเร็วกว่าข่าวดี อย่างที่ลำปางสังเกตได้จากการเลือกตั้งหลายสนามที่ผ่านมา
ทั้งสนามเลือกตั้ง
นายก อบจ. ส.อบจ. นายกเทศบาลแต่ละแห่ง
ที่ฝ่ายการเมืองต่างขั้วต่างปล่อยข่าวโจมตี สร้างกระแสภาพลบแก่ฝ่ายตรงข้าม
หรือแม้แต่หลังผลการเลือกตั้งประกาศแล้วก็ยังสร้างความสับสน สร้างกระแส ทั้งๆที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงประกาศออกมา
หวังเพียงเพื่อดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม ตามธงที่ปักไว้
มีกลุ่มการเมืองที่ใช้ Social Media ขับเคลื่อนก่อกระแสโจมตีฝ่ายตรงข้าม
แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าข้อมูลที่ปล่อยออกมามีข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ
มีแหล่งอ้างอิงไม่ใช่ยกมาลอยๆ อย่างนั้นเป็นการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์
งานนี้ต้องประเมินประโยชน์ดีๆ
นักการเมือง
กลุ่มการเมือง ที่ปล่อยข่าวเท็จผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อาจหวังผลเฉพาะหน้า
ยิ่งในห้วงระยะเวลาก่อนการเลือกตั้ง แต่ในระยะยาวเมื่อโกหกบ่อยเข้า
พูดความจริงน้อยลง ทำตัวเป็น “เด็กเลี้ยงแกะ” ในโลกออนไลน์
ความน่าเชื่อถือที่ลดลงก็จะย้อนกลับมาทำลายตัวเองในที่สุด
(แร็คลานนา คม - คิด ฉบับที่ 949 วันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2556)