“ฮัลโหล ฮัลโหล ชาวบ้านร้านตลาดเอ๋ย
บ้านไหนมีงูเข้าบ้าน อย่าได้โปรดมาตามฉันเลย ฉันไปจับงูให้ท่านไม่ได้ดอก
ฉันก็กลัวโดนกัด ไอ้ฉันก็แค่คนเลี้ยงงูเท่านั้นเอง”
ข้อความชวนให้ยิ้มอารมณ์ดีวางอยู่บนกล่องพลาสติกใส ด้านในมีงูบอลไพธอลลวดลายสวยนอนขดอยู่อย่างสงบ
ถัดไปยังมีกล่องพลาสติกใสเรียงรายอยู่หลายกล่อง พร้อมคำบรรยาย นอกจากงูเหลือมทรายแซนด์บัว
งู Corn Snake สีส้มสดสวย และงูอีกหลายชนิดแล้ว
ก็ยังมีแมงมุม กิ้งก่าเครามังกร และกิ้งก่าคาเมเลียนจอมเปลี่ยนสี
ที่เรียกความสนใจจากคนผ่านไปผ่านมาได้ไม่น้อย โดยเฉพาะเด็ก ๆ
ในขณะที่พ่อแม่กลับทำหน้าเบ้ เดินเลี่ยงไปเสียไกล
นี่คือพื้นที่เล็ก ๆ ของ Lampang Exotic
Pets Club เหล่าคนรักสัตว์แปลกที่มารวมตัวกันทุกวันเสาร์-อาทิตย์ในกาดกองต้า
บริเวณซอยสะพานวัดเกาะฯ เพื่อพบปะพูดคุยกันถึงสัตว์เลี้ยงของพวกเขา
โดยแต่ละชนิดที่นำมาตั้งโชว์ก็ไม่ใช่เพื่อขาย แต่หวังว่าจะมีใครสักคนสนใจ
และพวกเขาก็จะให้ความรู้ในการเลี้ยงอย่างถูกต้องเท่านั้นเอง
อาจพูดได้ว่า อนุวัตร์ แสงเจริญกูล
เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของกลุ่ม ชายหนุ่มผู้หลงใหลงูและเลี้ยงงูเป็นงานอดิเรกบอกว่า เขาเลี้ยงงูเขียวปากจิ้งจกตัวแรกตอนอายุ
14 ปี จากนั้นก็เลิกร้างไป แล้วกลับมาสนใจการเลี้ยงสัตว์แปลกอีกครั้งเมื่อหลายปีก่อน
หลังจากนั้นก็ได้รวมกลุ่มในเฟสบุกกับเพื่อน ๆ 4-5 คนที่รักสัตว์แปลกเหมือนกัน
กระทั่งคิดที่จะขยายฐานของกลุ่มด้วยการมารวมตัวที่กาดกองต้า เปิดพื้นที่ให้แต่ละคนนำสัตว์เลี้ยงของตนเองมาโชว์
นั่งลงพูดคุยกันอย่างออกรส ซึ่งก็ได้ผล เพราะทุกวันนี้เฉพาะในจังหวัดลำปาง
พวกเขามีสมาชิกในนาม Lampang Exotic Pets Club
แล้วกว่าครึ่งร้อย แต่หากนับรวมสมาชิกจากทั่วประเทศจะมีมากถึง 450 คนเลยทีเดียว
“เราเป็นกลุ่มจากต่างจังหวัดกลุ่มเดียวในโลกออนไลน์ที่คึกคักครับ” อนุวัตร์พูด “อาจเพราะพวกเราไม่เน้นธุรกิจ แต่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันด้วยมิตรภาพมากกว่า
แล้วอีกอย่างกลุ่มของเราไม่สนับสนุนการค้าสัตว์ป่า
หรือสัตว์ที่อยู่ในอนุสัญญาไซเตสครับ เรียกว่าสัตว์เลี้ยงพวกนี้เป็นลูกเพาะ
ไม่ใช่ลูกป่าอย่างที่หลายคนสงสัยว่าเลี้ยงแล้วจะผิดกฎหมายหรือเปล่า”
อย่างที่อนุวัตร์บอก กลุ่มของเขาเคร่งครัดในเรื่องนี้ คำว่า Exotic
Pets ของกลุ่มจึงครอบคลุมชนิดของสัตว์ที่ไม่ได้เป็นสัตว์ป่าสงวน
หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยเป็นชนิดที่ไม่ได้อยู่ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พ.ศ. 2535 รวมทั้งไม่ได้ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในหนังสือปกสีแดงของสหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ
(IUCN) และไม่ได้ถูกจัดเป็นชนิดที่ควบคุมทางการค้าตามที่ระบุไว้ในบัญชีที่
1 และบัญชีที่ 2 ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์
(CITES)
เช่นนี้ สัตว์แปลกของสมาชิกในกลุ่มอย่างงู กิ้งก่า เต่า แมงมุม
หนูแฮมสเตอร์ ชูการ์ไกลเดอร์ ดอร์เมาส์ เฟอเรต ตุ๊กแกเสือดาว ชินชินลา
แม้จะเป็นสัตว์สายพันธุ์จากต่างประเทศ แต่ก็ผ่านการเพาะเลี้ยงในประเทศไทยมาหลายรุ่น
หรือที่คนเลี้ยงสัตว์แปลกเรียกว่า “ลูกเพาะ” และไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ในธรรมชาติอีกแล้ว ชีวิตของพวกมันจึงขึ้นอยู่กับคนเลี้ยงอย่างแท้จริง
การเลี้ยงสัตว์แปลกสักตัวจึงไม่ใช่เรื่องง่าย อนุวัตร์แนะนำว่า ก่อนอื่นต้องถามใจตัวเองว่าชอบสัตว์พวกนี้จริง
ๆ หรือเพียงแค่เห่อตามกระแส เพราะสัตว์แปลกมีราคาสูง และบางชนิดอายุยืนถึง 20 ปี เมื่อใจตอบว่ารักจริง ก็ควรศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งการเตรียมสถานที่
การทำความเข้าใจกับคนในครอบครัว เรื่องการหาอาหาร
รวมทั้งเรื่องกำลังทรัพย์ในระยะยาวก็ไม่ควรมองข้าม
เมื่อมีข้อมูลและความพร้อมเพียงพอ ทางกลุ่มก็พร้อมที่จะช่วยเป็นที่ปรึกษาอีกแรง
หากความสุขของการได้เลี้ยงสัตว์สักตัว อยู่ที่การได้รักและถูกรัก การได้รับความจงรักภักดี
การโอบกอด เคล้าเคลีย แล้วความสุขในการเลี้ยงสัตว์แปลกของพวกเขาเหล่านี้
อยู่ที่สิ่งใดกันเล่า ในเมื่อสัตว์ส่วนใหญ่ล้วนเป็นสัตว์เลือดเย็น
ไม่ได้รู้สึกถึงความรักที่เจ้าของมีให้สักนิด
อนุวัตร์ตอบว่า ความรู้สึกของเขาคงคล้ายกับคนชอบเลี้ยงปลา แค่มีความสุขที่ได้เห็นการเติบโตอย่างสมบูรณ์
ได้ตกแต่งที่อยู่อาศัยให้ ได้นั่งลงดูพฤติกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะตอนงูลอกคราบ
หากคราบของงูยาวสวย ก็แสดงว่าสัตว์เลี้ยงของเขาสุขภาพดี และนั่นทำให้เขาภูมิใจที่สุด
“งูที่กลุ่มเราเลี้ยงเป็นงูไม่มีพิษครับ และความเป็นลูกเพาะทำให้มีความก้าวร้าวน้อยมาก
แต่เราก็ต้องมีความรู้ในการจับงูอย่างปลอดภัยด้วย เอาเข้าจริง ๆ คนเลี้ยงงูจะได้แผลจากงูน้อยกว่าได้แผลจากหมาแมวเสียอีก”
ส่วนเจ็กอา ผู้หลงใหลกิ้งก่าบอกว่า ความสุขของเขาคือการได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของกิ้งก่าแต่ละตัว
ช่วงเวลาให้อาหาร หรือการได้นำกิ้งก่าออกมาวางไว้บนฝ่ามืออุ่น สำหรับเขามันคือช่วงเวลาแห่งความผูกพัน
แม้เมื่อมันเจ็บป่วย หรือตายจาก ก็สามารถหลั่งน้ำตาได้ไม่ต่างจากสูญเสียเพื่อนรัก
อาจเป็นเรื่องราวของมนุษย์กับสัตว์ที่หลายคนยังไม่พร้อมทำความเข้าใจ
แต่หากใครสักคนก้าวข้ามความกลัว เขาคนนั้นจะได้รู้จักมิตรภาพในอีกรูปแบบหนึ่งที่อยู่เหนือข้อจำกัดแห่งคำว่ารูปลักษณ์
ทว่าสวยงามไม่แตกต่าง
(ร้อยเรื่องราว ฉบับที่ 949 วันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2556)