วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เอาโฟมคืนเขา เอาสะเปาคืนมา


นานวันเข้า ล่องสะเปา ก็ลอยเข้าสู่วังวนของอำนาจและผลประโยชน์ เงินแลกเอาโฟม แลกเอางานเหมาประดับประดาดอกไม้ ที่น่าสงสัยว่าจะมี “เงินทอน” ตามประเพณีปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างแบบไทยๆ หรือไม่ คนรุ่นใหม่เริ่มเลือนไปในคุณค่าของการล่องสะเปา ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นที่ลำปางแห่งเดียวในประเทศไทย และก็เป็นเช่นเดียวกับที่อื่นๆ วัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ เริ่มถูกทดแทนด้วยวัสดุที่จะสะสมเป็นขยะพิษอยู่คู่กับโลกไปอีกแสนนาน

มีสักกี่คนที่ยังจำได้ถึงบรรยากาศการล่องสะเปา ที่สะท้อนวิถีไทยที่งดงามเช่นอดีต ย้อนกลับไปเมื่อก่อนเราเรียกประเพณีลอยกระทงว่า ล่องสะเปา ซึ่งหมายถึงเรือสำเภาในภาษาพื้นเมือง เมื่อถึงเทศกาลล่องสะเปา ชาวบ้านจะจัดทำ สะเปาขึ้นจากความเชื่อที่ว่า การล่องสะเปาคือการทำทานให้แก่ผู้ล่วงลับ โดยใช้กาบกล้วย มะละกอ ไม้ไผ่ หรือกระดาษแก้วใส ตกแต่งและประดับประดาด้วยดอกไม้ หรือใช้กระดาษสีตัดเป็นลวดลายสวยงามติดด้านข้างลำสะเปาเพื่อตกแต่งให้สวยงาม นอกจากนี้ยังมักใส่ ข้าวสุก กล้วย อ้อยควั่น ข้าวต้มจิ้ม น้ำตาล เกลือ ยาสูบ หมาก พลู ดอกไม้ ธูป เทียน ลงไปในสะเปา เพราะเชื่อกันว่าผู้ล่วงลับที่ได้อุทิศส่วนกุศลหรือทำทานไปให้ จะนำสิ่งของเหล่านั้นไปใช้ในอีกภพหนึ่ง

ล่องสะเปาจาวละกอนประเพณีในวันคืนเก่าแก่กำลังจะย้อนกลับมาอีกครั้ง จะมีการประกวดสะเปาอันงดงาม ชาวลำปาง หน่วยงาน ร้านค้าต่างๆ จะร่วมกันตกแต่งบ้านเรือนด้วยตุงและโคมตามแบบฉบับล้านนา หรือที่เรียกว่า ซุ้มประตูป่า ในยุคปัจจุบันก็จะรณรงค์ให้แต่งกายเสื้อผ้าพื้นเมือง และจัดทำกระทงเป็นรูปเรือสำเภาตามแบบโบราณ

ย้อนเวลาคิดถึงเมื่อครั้งยังเด็ก งานลอยกระทง จะเป็นงานตื่นตาตื่นใจมาก เพราะมีขบวนสะเปาเล็กล่องน้ำ และสะเปาใหญ่แห่บนถนนฉัตรไชย ช่วงหัวค่ำคนลำปางต่างไปจับจองพื้นที่สองข้างทางรอชมขบวนแห่ พ่อค้าแม่ค้าจับจองที่ทางรอขายลูกชิ้นปิ้ง ปลาหมึก ข้าวโพด กระทง ฯลฯ หน่วยงานต่างๆส่งสะเปาเล็กใหญ่ ประชันความคิดสร้างสรรค์ เพื่อส่งประกวดชิงรางวัล เหล่านี้ล้วนเป็นสีสันตื่นตา และน่าภาคภูมิใจ

แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน จากการที่คนในหน่วยงานระดมความคิดและกำลัง ช่วยกันเสกสรรค์ปั้นแต่งผลงานเพื่ออวดโฉม กลายเป็นเอางบประมาณมาจัดจ้างให้ร้านตัดโฟม จ้างเหมาร้านดอกไม้ทำงานแทน

สถาบันการศึกษาที่เคยมีบรรยากาศที่ครูศิลป์ออกแบบนักเรียน นักศึกษาต่างร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผลงานที่ได้จึงเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ

ยังไม่ต้องพูดถึงว่า คนรุ่นใหม่ หรือกระทั่งคนรุ่นเก่าที่มองข้ามการรักษาประเพณีวัฒนธรรมที่งดงามเหล่านี้เท่านั้น ประวัติศาสตร์อันเรืองรองของแผ่นดินนี้ ที่เป็นบ่อเกิดอารยธรรม และประเพณีล่องสเปาก็เลือนหายไปด้วย

ตามตำนานบันทึกไว้ว่า เมื่อจุลศักราช 309 พระยาจุเลราช ได้ครองราชสมบัติ ในนครหริภุญไชยในสมัยนั้นเมืองหริภุญไชยได้มีคนตายจำนวนมากจากโรคภัยไข้เจ็บ ประชาชนชาวหริภุญไชยจำนวนมากจึงพากันหนีโรคภัยไปอาศัยอยู่ที่มืองสุธรรมวดี ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าภุกามราชผู้ครองเมืองสุธรรมาวดี ไม่ยินดีที่จะต้อนรับชาวหริภุญไชย แม้แต่ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ได้ความกรุณาปราณี ฝ่ายชาวเมืองหริภุญไชยได้จึงพากันหนีจากเมืองสุธรรมาวดีนครไปยังเมืองหงษาวดีแล้วใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนั้น

พระเจ้าหงษาวดีทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ชาวเมืองหริภุญไชยเป็นอย่างมาก ชาวหริภุญไชยกับชาวหงษาวดีจึงได้มีรักใคร่กลมเกลียวต่อกันสืบมา ครั้งเมื่อครบ 6 ปี โรคภัยไข้เจ็บได้หายไป ผู้ที่ต้องการกลับมาอยู่เมืองหริภุญไชยก็พากันกลับมาสู่ภูมิลำเนาเดิม คนที่ไม่อยากกลับบ้านเมืองเดิม ก็เลยอยู่อาศัยในเมืองหงษาวดีนั้นเสีย เพราะเหตุนี้ ผู้คนทั้งหลายที่ได้กลับมายังเมืองหริภุญไชยนี้แล้ว เมื่อคิดถึงหมู่ญาติที่อยู่เมืองหงษาวดี ครั้งถึงกำหนดปีเดือน ก็เลยแต่งเครื่องสักการะลอยน้ำไปบูชาทางน้ำ ที่เรียกว่า ลอยโขมด (ลอยไฟ) จึงกลายเป็นประเพณีลอยประทีปสืบมา


ประวัติศาสตร์นั้น ทำให้เราภูมิใจในความมีรากเหง้า การรักษาประเพณีดั้งเดิม ด้วยฝีไม้ลายมือและจิตวิญญาณของคนลำปางแท้ๆ กำลังถูกทำให้เลือนหายไป ด้วยการซื้อทุกสิ่งด้วยเงินแม้แต่สมบัติล้ำค่าชิ้นนี้ ล่องสะเปาจาวละกอน

(แร็คลานนา คม - คิด ฉบับที่ 948 วันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2556) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์