วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โรงเรียนอินเตอร์แข่งดุ จิวะสันติการดันแครนเบอร์รี่ชิงธง


ผู้สื่อข่าวลานนา BizWeek รายงานจากการสำรวจการแข่งขันตลาดการศึกษาในขณะนี้ว่า สถาบันการศึกษาต่างๆเริ่มมีการพัฒนาและขยายการบริการในเชิงรุกมากขึ้น ขณะเดียวกันมีการเปิดตัวประชาสัมพันธ์ในกลุ่มตลาดโรงเรียนนานาชาติระดับปฐมวัย โดยล่าสุด กลุ่มทุนการศึกษาท้องถิ่น ตระกูลจิวะสันติการ เปิดตัว โรงเรียนนานาชาติ แครนเบอร์รี่ บริเวณใกล้กับสี่แยกลำปางเชียงใหม่ พร้อมกันนี้มีกระแสข่าว ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เตรียมแผนพัฒนาโรงเรียนระดับปฐมวัย และ โรงเรียนนานาชาตินวัตภูมิ หรือโรงเรียนนานาชาติอังกฤษแห่งภาคเหนือ (The British International School of Northern) กำลังพัฒนาพื้นที่โครงการก่อสร้างแห่งใหม่เพื่อรองรับกาขยายตัวของโรงเรียน รวมถึงการขยายเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติในระดับภูมิภาค

นรเศรษฐ์ จิวะสันติการ ผู้จัดการโรงเรียนนานาชาติ แครนเบอร์รี่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เปิดดำเนินการโรงเรียนนานาชาติ แครนเบอร์รี่(Cranberry International School)  ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติ ระดับปฐมวัย หลักสูตร ที่สร้างขึ้นจากแนวคิดของการขยายโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยในระดับท้องถิ่น โดยเชื่อว่า ระบบการศึกษา แบบโรงเรียนนานาชาติมีความจำเป็นและดีมากสำหรับเมืองไทย และในต่างจังหวัด มีโรงเรียนนานาชาติน้อยมาก ขณะที่ความต้องการทางตลาดมีเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มตลาดบน ที่ต้องการเตรียมลูกหลานเรียนในโรงเรียนคุณภาพ แต่ยังมีโรงเรียนนานาชาติรองรับความต้องการของผู้เรียนน้อยมาก

"โรงเรียนนานาชาติแครนเบอร์รี่ เป็นหลักสูตรอเมริกัน โดยสถาบันหลักสูตรนานาชาติที่มีชื่อเสียงระดับสากล มีแผนเปิดสอนตั้งแต่ ระดับปฐมวัย เตรียมอนุบาล ถึง ระดับประถม และมีเป้าหมาย ขยายจนถึงระดับมัธยมในอนาคต ในระยะแรกเปิดสอนระดับเตรียมอนุบาล จนถึงอนุบาล ห้องเรียนละไม่เกิน 15 คน และพัฒนาโครงการก่อสร้างเพื่อขยายการเปิดสอนตามระดับชั้นไปตามลำดับ ทั้งนี้เราให้ความสำคัญกับการคัดเลือกครูผู้สอนต้องเป็นครูเจ้าของภาษา และ มีพี่เลี้ยงเป็นคนไทยสำหรับชั้นเตรียมอนุบาล สถานที่เรียนมีบรรยากาศแบบโปร่งสบาย ให้สนุกกับการเรียน เพราะเราเน้นเรื่องนวัตกรรมสร้างสรรค์จินตนาการ"

สำหรับด้านการแข่งขันธุรกิจนั้น  ผู้จัดการโรงเรียนนานาชาติแครนเบอร์รี่ มองว่า การแข่งขันตลาดยังน้อยมากเพราะมีโรงเรียนนาชาติเพียงไม่กี่แห่ง และเป็นตลาดบนของผู้มีกำลังซื้อสูงเป็นเป้าหมายหลัก โดยเบื้องต้นค่าธรรมเนียมปีการศึกษาละ 1 แสนบาท สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการให้บุตรหลานเรียนโรงเรียนระดับคุณภาพ 

ด้าน ดร.พิมลมาส โพธ์ทอง ผอ.โรงเรียนนานาชาติอังกฤษแห่งภาคเหนือ จังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงเรียนสองแห่ง คือโรงเรียนนานาชาติอังกฤษแห่งภาคเหนือที่ลำปาง รองรับนักเรียนจากภาคเหนือตอนบน และโรงเรียนนานาชาติอังกฤษ กระบี่ และอีกแห่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเปิดทำการในอีก 6 เดือนข้างหน้า คือโรงเรียนนานาชาติอังกฤษ หาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุน กับกลุ่มทุนในหาดใหญ่ และเป็นหนึ่งในโครงการสกายปาร์ค  คอมเพล็กซ์มูลค่าโครงการสองพันล้านบาท โดยโรงเรียนจะรองรับนักเรียนจากหมู่บ้านจัดสรรในเครือสกายปาร์ค  ซึ่งตอนนี้ ขายไปแล้วกว่าหนึ่งพันหลัง และมีแผนรองรับนักเรียนประจำจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจากประเทศ เพื่อนบ้าน ทั้งจากมาเลเซียและอินโดนีเซียและบรูไนอีกด้วย  

เรามีเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติในยุโรป ดังนั้นนักเรียนของเราสามารถไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการเรียน รวมถึงการให้คำแนะนำเรื่องการขอรับทุน และการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร เพื่อเปิดโอกาสให้นักดนตรี  นักร้องของโรงเรียนได้มีโอกาสแสดงออก และโครงการมีส่วนร่วมกับสังคมอื่นๆ ซึ่งนักเรียนสามารถเก็บผลงานของเขาไปลงในประวัติผลงาน เพื่อประกอบการสมัครเข้าเรียนต่อและขอรับทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษ

โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นการดีที่จะมีสถานศึกษานานาชาติในลำปางเพิ่มขึ้น เพราะผู้ปกครองและนักเรียนจะมีตัวเลือกมากขึ้น และในเวลาเดียวกัน ดิฉันเชื่อว่า ทุกสถานศึกษา ต่างก็มุ่งเน้นการแข่งขันทางด้านคุณภาพ ต้องจัดการศึกษาที่ดีที่สุด เพื่อให้ทันคู่แข่ง นับเป็นผลดีต่อคนลำปางโดยรวม ดร.พิมลมาส กล่าว

และล่าสุด เมื่อกลางเดือน สิงหาคม 2556 ได้มีการลงนามสนับสนุนการเงินเพื่อจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งจังหวัดลำปางระหว่าง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กับ บมจ.กรุงไทย โดยได้ขออนุมัติวงเงินสินเชื่อจาก บมจ.กรุงไทย จำนวน 250 ล้านบาท เพื่อนำมาบริหารจัดการและดำเนินงานใน 3 ส่วน คือ 1) ขยายห้องเรียนเพื่อเปิดรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 -6 โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ศูนย์ลำปาง โดยปรับปรุงอาคารสำนักงานและห้องเรียนให้มีความทันสมั พร้อมกับสร้างห้องประชุมสำหรับนักเรียน ผู้ปกครอง 2) สร้างห้องปฏิบัติการอาหาร เพื่อรองรับงานด้านคหกรรมและให้บริการด้านอาหารแก่ประชาชน ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ คือ การศึกษาปฐมวัยและด้านการอาหาร เป็นอัตลักษณ์โดดเด่นของ มสด. และส่วนที่ 3) สร้างห้องประชุมเพื่อให้บริการจัดเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการของชุมชนและ ประชาชนในพื้นที่

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 950 วันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2556)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์