จากยอดขายรถช่วงครึ่งปีแรกที่ทะลักทะลาย อันเป็นอานิสงค์จากนโยบายรถคันแรก
สะท้อนให้เห็นถึงการเร่งการผลิตของโรงงานแต่ละเจ้า โดยส่งมอบกันไปได้ราว 1 ล้านคัน ยังเหลืออีกราว 2 แสนคัน ที่จะค่อยๆ
ทยอยส่งมอบกันต่อไป
แต่ขณะเดียวกัน ค่ายรถยนต์ต่างก็พากันลดเป้ายอดขายในปีนี้ลงว่าอาจเหลือเพียงแค่
1.2 ล้านคัน เท่านั้น เต็มที่ก็คงจะราว 1.3 ล้านคัน ที่ค่ายยักษ์ใหญ่มองกันคนละมุม ในมุมมองของนักข่าวก็ประมาณว่า 1.2
ล้านคันมาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่นักการตลาดเห็นต่าง มองเป้าเอาไว้สูงเริด
เลยต้องมายอมลดเป้าอีกตอนครึ่งปีนี้เอง
ที่แน่ๆ
ช่วงสองสามเดือนก่อนหน้านี้ แคมเปญของค่ายรถยนต์ กระหน่ำกันแบบเทกระจาด
นาทีนี้คำว่า 0% แทบจะเป็นอุปกรณ์มาตรฐานใหม่ไปแล้ว เพราะเมื่อยักษ์ใหญ่ลงมาเล่น
ยักษ์เล็กก็ต้องเล่นตามไปด้วย ไม่งั้นสต๊อคบานเบอะแน่นอน
เท่านี้ก็ประเมินกันว่า สต๊อคในมือดีเลอร์ตอนนี้ต้องดิ้นกันทุกทาง จนบางรายหมุนเข้าหมุนออกไม่ทัน
ใครสายป่านสั้นก็ถึงขั้นกลับบ้านเก่ากันได้ และมีตัวอย่างให้เห็นกันแล้ว

ฟากของการวิจัยของธนาคารพาณิชย์ก็ระบุว่า หนี้ครัวเรือนของไทยมีอัตราการเร่งตัวเพิ่มขึ้นเป็น
80 % ต่อ จีดีพี จาก 77 % ในปี
2555 และ 70 % ในปี 2554 ขณะที่ปี 2553 หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับ 63 %
ต่อ จีดีพี ซึ่งเป็นการเติบโตภาระหนี้ที่อยู่ระดับสูงกว่า 10
% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยหนี้ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขรวมหนี้ครัวเรือนในสถาบันการเงินทั้งหมด
ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจ สหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเออร์
โดยระดับหนี้ครัวเรือน 80% ส่วนหนึ่งถูกกระตุ้นด้วยนโยบายรถคันแรกทำให้สินเชื่อรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น
ครัวเรือนมีภาระหนี้สินต่อเดือนเพิ่มขึ้น แต่ความสามารถในการใช้จ่ายลดลง
ทำให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มปล่อยกู้น้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1
หมื่นบาท
นั่นก็หมายความว่า เมื่อคุณมีภาระหนี้ในการเช่าซื้อรถยนต์คันแรกแล้ว
กลุ่มคนเหล่านี้ แทบจะไม่สามารถรับภาระหนี้ในการผ่อนบ้าน
หรืออสังหาริมทรัพย์ได้เลย เพราะสถาบันการเงินต้องควบคุมเรื่องเหล่านี้อยู่เช่นกัน
ต้องมานั่งวิเคราะห์กันมากมาย ว่า เสียเงินจองแค่พันเดียว จองมัน 3-4 โชว์รูม หรือจองมัน 3-4 ยี่ห้อเลยดีกว่า
ได้ยี่ห้อไหนก่อน ก็ยอมทิ้งเงินจอง หรือไม่งั้นก็ทำเป็นไปขอคืน อ้างโน่นนี่สารพัด
เลยเดือดร้อนให้นักการตลาดต้องออกมานั่งแถลงข่าวกันสนุกสนาน ที่นับจากนี้ไปก็แทบจะไม่เป็นข่าวแล้ว
เพราะตัวเลขมันฟ้องออกมาถึงความเป็นจริง ว่าความต้องการที่แท้จริงเป็นอย่างไร
จะต้องปรับสายการผลิตอย่างไร ให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค โดยที่ดีเลอร์ไม่ต้องสต็อครถอ้วนบวมกัน
2-3 เดือนอย่างนี้
มาว่ากันเฉพาะตลาดรถในลำปางบ้านเราบ้าง
ช่วงหน้าฝน และปลายฝนต้นหนาว โดยเฉพาะในงาน ลำปางมอเตอร์โชว์ 2013
จัดโดยหอการค้าจังหวัดลำปาง ปกติจะนับเป็นนาทีทองของผู้บริโภค แต่ยอดปีนี้แพ้ช่วงปลายปีที่แล้วไปหลายเสาไฟฟ้า
แต่เพราะปีนี้ตั้งเป้าต่ำเพียง 800 คัน
สรุปตัวเลขหลังจัดงานมียอดจองที่ 1,033 คัน เงินหวุนเวียนถึง 900
ล้านบาท เหตุเพราะอานิสงค์ผลบุญจากรถหรูโชวร์รูมต่างถิ่นไม่ว่าจะเป็น Benz
B.M.W. Lexus Volvo Mimi Cooper ที่สนนราคาคันละ 3-4 ล้าน
งานนี้ได้ยอดไปร่วม 30 คัน รถเก๋ง-บิ๊กไบค์หลักล้าน
ฟันยอดขายไปรวมอีกร้อยกว่าคันเท่านั้น
ส่วนรถเล็กอีโคคาร์เงียบหงอย
ในงานนี้ดีเลอร์หลายค่าย อัดแคมเปญเต็มเหนี่ยว แต่จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้หลายสายก็พร้อมใจกันบอกว่า
“ไม่ได้ตามเป้า” บางรายก็มียอดขายไม่ถึง
50 % ของปีที่ผ่านมา

วิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา อาทิการประชาสัมพันธ์ที่น้อยไปหรือไม่
สถานที่จัดงานที่ย้ายมาที่ลานจอดรถหลังเซ็นทรัลไม่โดดเด่นหรือเปล่า ก็อาจเป็นไปได้
แต่อาจเป็นประเด็นรอง บางคนแซวว่าแค่ย้ายที่หงอยเท่านั้นเอง
สภาวะตลาดที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค ก็ยังคาดเดากันว่า
จะค่อยๆ เริ่มกลับมาสู่ความต้องการแท้จริงได้ในเดือนท้ายๆ ของปี
แล้วเราจะได้เห็นกันว่าเผาจริง เอ๊ย ! ของจริงเป็นอย่างไร...
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 950 วันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน 2556)