วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ทำตามใจ ไทย(ลำปาง)แท้


พื้นที่บนฟุตบาตถูกผนวกรวมเป็นหน้าร้าน พื้นที่บนถนนสาธารณะถูกจับจองเป็นพื้นที่ส่วนตัว บางบ้านเขียนถ้อยคำดุดัน ห้ามจอดรถกีดขวาง แม้รถนั้นจะอยู่บนถนนหลวง  พื้นที่น้ำถูกรุกล้ำเป็นชาน เป็นห้องหับ ทั้งอยู่อาศัย ทั้งทำการค้า การแสดงความเป็นเจ้าของบนพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ ไม่มีใครปฎิเสธได้ว่าเป็นความผิด แต่ก็เป็นความผิดที่เห็นจำเจ จนยอมรับกันโดยปริยายว่า ทำได้ไม่ผิด นี่คือนิสัยคนไทย ทำได้คือไทยแท้ ลำปางแท้ๆ ก็ทำกันเต็มบ้าน เต็มเมือง
           
เทศบาล ผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐคนสำคัญที่มีหน้าที่รักษากฎหมาย คือตำรวจ ต่างคนต่างทำมาหากิน กินตามน้ำ กินตามด่าน กันไป โดยไม่สนใจหน้าที่ ชาวบ้านตาดำๆ เดินถนนก็ไม่มีกำลังจะไปว่ากล่าวหรือเรียกร้องให้ตำรวจไม่เลือกปฎิบัติ เพราะในหลายครั้งคนทำมาหากิน หาเช้ากินค่ำ กลับเป็นกลุ่มคนที่เจ้าหน้าที่รัฐเอาจริง เอาจัง เข้มงวดในการรักษากฎหมาย ในขณะที่ชาวบ้านระดับอภิสิทธิ์ชน ผู้หลักผู้ใหญ่ ที่คนเคารพยำเกรง ใช้กฎหมายคนละฉบับ ทำผิดท้าทายกฎหมายอย่างไร ก็สุขสบาย ปลอดภัย เพราะทำหน้าที่ส่งส่วยสาอากรเสมอต้น เสมอปลาย
           
ทุกวันนี้ชาวบ้านอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกละเมิดสิทธิ์โดยไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวว่าถูกละเมิดแต่ไม่สามารถทำอะไรได้
           
ธรรมชาติของน้ำจะไหลที่สูงลงสู่ที่ต่ำ นอกเสียจากเราจะบังคับการไหลของน้ำให้ขึ้นสู่ที่สูงด้วยเทคโนโลยี  ทางน้ำผ่านไม่ว่าจะเป็นคู คลอง ร่องน้ำ ลำเหมือง ที่ เคยเป็นทางเดินของน้ำในจังหวัดลำปางถูกรุกล้ำบุกยึดครอง
           
คูคลอง ร่องระบายน้ำในพื้นที่กลางเมืองลำปางที่อดีตเคยมีหลายสาย  ปัจจุบันถูกบุกรุกและแทนที่ด้วยท่อระบายน้ำ ถมทับด้วยดิน คอนกรีต ใช้ระบบการจัดการน้ำแต่ไม่มีการดูแลบำรุงรักษา ท่อเหล่านั้นก็อุดตันด้วยขยะ สิ่งปฏิกูลในที่สุด  จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดหากเราเจอปัญหาน้ำท่วมจากการระบายน้ำไม่ทัน เหมือนอย่างฤดูฝนที่ผ่านมา บางบริเวณในเมืองลำปาง อย่างย่านสบตุ๋บที่ปกติไม่ท่วมกลับกลายเป็นจุดแรกที่เจอปัญหา คงต้องกลับมาย้อนคิดถึงสาเหตุกันเสียที ว่าการบริหารจัดการน้ำนั้นถูกต้องหรือไม่
           
การสร้างอาคาร ที่มีกฎหมายควบคุมอาคารในการบังคับเกี่ยวกับแนวร่นอาคารจากทางสาธารณะ ที่ว่างด้านหน้า ด้านหลังอาคาร และระยะห่างเขตที่ดินข้างเคียง อย่างชัดเจน แต่ผู้ประกอบการหลายรายที่เห็นแก่ตัวกลับเลี่ยงบาลี หรือใช้เทคนิคพิเศษถึงได้รับอนุญาตสร้างได้ทั้งแบบการก่อสร้างดูยังไงก็ผิด
           
“ลานนาโพสต์”เคยนำเสนอภาพข่าวการรุกล้ำ ทำลายกำแพงเมืองโบราณ เอาพื้นที่มาใช้ส่วนตัว แต่ที่น่าแปลกใจคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว 
         
ย่านรอบโรงเรียน หน้าโรงพยาบาล พ่อค้าแม่ขายยึดฟุตบาตขายของ เบียดทางเดินจนคนเดินเท้าต้องใช้ถนน ฟุตบาท กลายเป็นที่จอดรถ ริมถนนที่จอดรถได้ก็นำหลักมาขวาง ติดป้ายว่าห้ามจอดยึดครองหน้าตึกที่เป็นที่สาธารณะเป็นของตัวเอง สังคมเริ่มไร้ระเบียบ และที่เลวร้ายความนั้นคือผู้ที่ดูแลระเบียบไม่ใส่ใจ
           
เราพยายามบริหารจัดการระเบียบน้ำ จัดระเบียบอาคารบ้านเรือน แต่เราไม่พยายามจัดระเบียบคน ระเบียบสังคมที่กำลังละเมิดสิทธิ์ไม่ที่เราไม่รู้ตัว
           
จะว่าไป พฤติกรรมตัวอย่างที่กล่าวถึงนี้มีความผิดอาญา ทั้งจำและปรับทีเดียว
           
เช่น ผู้ที่ทำให้รางระบายน้ำ ร่องน้ำ หรือท่อระบายของโสโครก อันเป็นสิ่งสาธารณะเกิดขัดข้อง ทำให้เกิดปฎิกูลแก่น้ำในบ่อ สระหรือที่ขังน้ำอันมีไว้สำปรับประชาชนใช้สอย กีดขวางทางสาธารณะ ขุดหลุมหรือราง หรือปลูกปัก หรือวางสิ่งเกะกะไว้ในทางสาธารณะ แขวน ติดตั้งหรือวางของไว้ในลักษณะที่น่าจะตก หรือพัง  มีโทษทางอาญาทั้งจำคุก และปรับ
           
น่าเศร้า ที่น่าจะมีคนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความผิดน้อยกว่าน้อย
           
สังคมลำปางเริ่มจะทำตามใจกันสนุกสนาน โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วยช่วยกันปิดตาไม่รู้ มองดูไม่เห็นผิด






 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 950 วันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2556) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์