วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หนุ่มเถิน ดับอนาคต “เจ้าพ่อคุ้มพระลอ”


เกรียงไกร เตชะโม่ง ไอ้หนุ่มเถิน จังหวัดลำปางไม่เพียงขโมยเพชรมาจากราชวงศ์ซาอุฯ เท่านั้น แต่เขายังขโมยชีวิตอันรุ่งโรจน์ของนายตำรวจมือปราบ เจ้าของฉายา “สิงห์เหนือ เจ้าพ่อแห่งคุ้มพระลอ” ในฐานะที่เป็นเจ้าของไร่กว้างใหญ่ ที่จังหวัดตากมาด้วย ถึงแม้อดีต พล.ต.ท.ชลอ  เกิดเทศ  นักโทษประหารจะรอดความตายมาได้ แต่เขาก็ต้องสูญเสียอิสรภาพ กลายเป็น นช.ชลอ  เกิดเทศ ยาวนานถึง 19 ปี ก่อนที่จะได้รับการพักโทษเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน

ในชั่วโมงนั้น ไม่มีใครไม่รู้จักชลอ  เกิดเทศ เขารับมอบตำแหน่งสมาคมกีฬาที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศไทยอย่างสมาคมฟุตบอลมาจาก ประชุม  รัตนเพียร และสร้างชื่อสร้างเสียงให้ทีมฟุตบอลไทย เป็นที่รู้จักและยอมรับในฝีเท้าระบือลือลั่น ถ้าบังยี วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลใน พ.ศ.นี้ เป็นที่รู้จักสักสิบส่วน ชลอ เกิดเทศ ก็นับพันที่ผู้คนรู้จักและให้การยอมรับในฝีมือทำทีมฟุตบอลไทย บารมีของชลอ เกิดเทศ เบ่งบานสุดขีด หากแต่เมื่อเขาก้าวเข้ามาติดตามโคตรเพชร “บลูไดมอนด์” ชะตาชีวิตก็พลิกผัน กลายเป็นดวงดาวที่ร่วงหล่นลงดินเพียงชั่วข้ามคืน
           
วันที่ชลอ เกิดเทศ เดินออกมาจากคุกนั้น ไร้สิ้นซึ่งสง่าราศี เป็นชายแก่ๆ ที่ไม่สามารถเรียกอดีตอันเรืองรองกลับมาได้อีก
           
ชลอ เกิดเทศ รุ่งโรจน์อย่างยิ่ง ในห้วงเวลาที่เขาเป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย หากเขาไม่พลาดครั้งนั้น บางทีชลอ เกิดเทศ อาจได้ขานชื่อในตำแหน่ง ผบ.ตร.ไม่กลายเป็นนายชลอ เกิดเทศ ที่เป็นนักโทษประหาร ถูกจองจำนานปีในสภาพโรคร้ายรุมเร้า
         
ด้านหนึ่งของชลอ เกิดเทศ จึงเป็นด้านที่ควรเก็บรับและศึกษา การก้าวไวอาจเป็นหนทางแห่งหายนะ การก้าวช้า แต่มั่นคง อาจเป็นหนทางแห่งความรอด โชคดีที่ชลอ เกิดเทศ รอดจากความตายวันนี้ แต่หันกลับไปมองข้างหลัง เขาไม่สามารถหวนกลับไปเริ่มต้นและแก้ไขอดีตได้อีกแล้ว
           
คดีความที่ทำให้ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ กลายเป็นนายชลอ นักโทษประหาร หลังจากประกาศถอดยศและตัดสินถึงที่สุดโดยศาลฎีกาตั้งแต่ตุลาคม 2552 แล้ว ชีวิตของชลอ  มีความน่าสนใจที่น่าจะเป็นอุทาหรณ์ของคนรุ่นหลังอย่างยิ่ง เพราะความตายที่เคยรออยู่ตรงหน้าเขามาจากความมุ่งมั่น เอาจริง เอาจังที่จะคลี่คลายคดีเพชรซาอุฯให้ได้ เหมือนเช่นที่เขาทำสำเร็จมาแล้วหลายคดีไม่ว่าจะเป็นคดีฆ่านายกำธร ลาชโรจน์ อดีตส.ส.ปัตตานี ฆ่านายวันดี ทองประภา บรรณาธิการ น.ส.พ.ตะวันสยาม และอีกหลายคดี
           
"พี่ลอ เขาต้องการทำให้สำเร็จ แต่มันแรงไป..."
           
พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ครั้งเป็นรอง ผบช.น.ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ตั้งแต่แรก บอกกับ “ม้าสีหมอก”
           
ในวันที่ชลอ เกิดเทศ สิ้นอิสรภาพนั้น เขากำลังรุ่งเรืองในชีวิตราชการ เป็นผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ และเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลไทยที่สร้างผลงานยอดเยี่ยม ยาวนานนับสิบปี แต่ครั้นเมื่อเขาได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ ติดตามเพชรของราชวงศ์ไฟซาล แห่งซาอุดิอาระเบีย ชลอ ก็ปิดฉากชีวิตของตัวเองทันที หลังจากเขาจับกุมสองแม่ลูกศรีธนะขันฑ์ ไปบีบคั้นหาความลับที่ซ่อนเพชรซาอุฯ จากสันติ ศรีธนะขัณฑ์ พ่อค้าเพชร โดยเฉพาะโคตรเพชรที่เรียกชื่อว่า “บลู ไดมอนด์”
           
เนื่องเพราะการตามไปถึงรังของเกรียงไกร เตชะโม่งที่ลำปาง และเกรียงไกรเปิดปากว่า เพชรเม็ดสำคัญนั้น อยู่ที่สันติ ศรีธนะขันฑ์  เขาถึงมุ่งไปหาสันติ
           
ความหวังที่จะบีบคั้นให้สันติ เปิดปาก กลับตาลปัตร เมื่อสันติไปแจ้งความดำเนินคดีว่าลูกและเมียถูกลักพาตัวไป ชลอ จึงจำเป็นต้องสั่งการให้ ตำรวจปราจีนบุรีฆ่าสองแม่ลูกนั้น แล้วปล่อยรถให้ไหลลงจากเนินไปปะทะกับรถสิบล้อ พังยับเยิน เพื่อให้ดูเป็นอุบัติเหตุ แต่ชื่อและนามสกุล ศรีธนะขัณฑ์ ทำให้ “ม้าสีหมอก” ครั้งยังทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการข่าวอยู่ที่กรุงเทพ ฉุกคิดถึงกรณีเพชรซาอุฯ ด้วยแนวคิดในการทำข่าวเชิงสืบสวน สอบสวน ของหนังสือพิมพ์ส่วนกลางใน พ.ศ.นั้น จึงเสนอข่าวอุบัติเหตุนี้ พร้อมข้อสงสัยว่าจะเป็นฆาตกรรมอำพรางหรือไม่
           
ไม่นานนัก ความจริงก็ปรากฏ ชลอ เกิดเทศ กับนายตำรวจหลายคนถูกดำเนินคดี บางคนตายระหว่างคดี บางคนได้รับการลงโทษสถานเบาในศาลชั้นต้น เช่นเดียวกับที่ชลอ เกิดเทศ ถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิตชั้นศาลอาญา ก็ถูกตัดสินลงโทษหนักขึ้นในศาลสูง
           
นี่เป็นเส้นทางชีวิตของอดีตนายตำรวจที่หยุดชีวิตตัวเองในขณะที่ยังรุ่งโรจน์ เพียงความคิดชั่ววูบเดียว ชีวิตในวัยกว่า 70  คงไม่มีความหวังใดอีก
           
และถ้าไม่มีผู้ชายคนที่ชื่อ เกรียงไกร เตชะโม่ง ชลอ เกิดเทศ ก็จะไม่กลับกลายเป็นราชสีห์สิ้นลายในวันนี้

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 950 วันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2556) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์