วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บททดสอบ !


ม่เคยคิดว่า จะต้องเขียนเรื่องในบ้าน แต่เมื่อคนนอกบ้านโยนไฟเข้ามา หากไม่เร่งรีบหาน้ำมาดับไฟ ก็คงต้องวอดวายกันไป โดยหาต้นเพลิงไม่ได้

ต้นเหตุอันมาจากความไม่เข้าใจ  ความสำคัญผิดของผู้ประกอบการรายหนึ่ง ที่เห็นว่า การเสนอข่าวคำสัมภาษณ์ของตัวเองทุกถ้อย ทุกคำ ที่มีพยานหลักฐานชัดเจน เป็นความเสียหาย อีกทั้งภาพที่ให้ถ่าย ไม่มีอิดเอื้อน ไม่มีข้อแม้ กลายเป็นความผิดที่จินตนาการกันไปกว้างไกล

เท่าที่จับใจความได้ มีประเด็นข้อสงสัย ที่ต้องอธิบายให้ความรู้กัน ๒ – ๓ ประเด็น เช่น การรายงานข่าวคำสัมภาษณ์ ที่ไม่ได้แต่งเติมเนื้อหาและการใช้ภาพประกอบที่เจ้าตัวยินยอมให้ถ่ายระหว่างสัมภาษณ์เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือละเมิดหรือไม่ ความหมายของคำว่าบุคคลสาธารณะ หรือ Public Figure  เกี่ยวข้องกับข่าวนี้อย่างไร บทบาทของสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตการพิมพ์ การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

รวมทั้งประเด็นปลีกย่อย เช่น กรณีที่มีการโพสต์ข้อความ ที่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทอย่างชัดแจ้ง กล่าวเท็จให้ร้ายบรรณาธิการบริหาร ลานนาโพสต์ ซึ่งเป็นผู้หญิง ด้วยภาวะอารมณ์ ไม่ได้ไตร่ตรอง อย่างถี่ถ้วน ต่อมาได้ลบข้อความนั้นเสีย ผู้โพสต์ข้อความที่เป็นชายคนหนึ่งนั้น จะพ้นความรับผิดทางอาญาในเรื่องนี้หรือไม่

คงต้องอธิบายโดยการแสดงสถานะที่เกี่ยวข้องพอเป็นสังเขป

ม้าสีหมอก เป็นสื่อมวลชนคนหนึ่ง ที่มีฐานะเป็นทนายความจดทะเบียน ยาวนานมาเกือบ ๔๐ ปีแล้ว โดยคดีความส่วนใหญ่ที่รับผิดชอบเป็นคดีหมิ่นประมาท

ประการต่อมา ม้าสีหมอกดำรงสถานะเป็นกรรมการคนหนึ่งในสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสื่อหลักของประเทศนี้ มาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องเกือบ10 ปี

ดังนั้น บรรดาข้อกล่าวหาทั้งปวง คำขู่เข็ญ คุกคาม ที่แสดงถึงความไม่เข้าใจในข้อกฎหมายและโครงสร้างการบริหารจัดการสื่อหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่อธิบาย ให้ความรู้ กันได้ไม่ยากเย็น

และด้วยความเคารพต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ โดยคิดเอง ทึกทักกันไปเอง โปรดศึกษาเรื่องราว หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบคำอธิบายในเรื่องที่อ้างอิงในบทความนี้ที่  www.thaimedialaw.org

เรื่องแรกที่ต้องอธิบายกัน คือ การสัมภาษณ์แหล่งข่าว และถ่ายทอดคำสัมภาษณ์นั้นครบถ้วนทุกถ้อยคำ รวมทั้งการใช้ภาพที่ถ่ายประกอบข่าวเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญา หรือละเมิดในทางแพ่งหรือไม่ คำตอบคือ ไม่เป็นความผิดในทั้งสองกรณี โดยถ้อยคำเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงจากผู้ให้สัมภาษณ์เอง ไม่มีการแต่งเติมเนื้อหาสาระ ไม่เข้าองค์ประกอบในการใส่ความ โดยประการที่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง การใช้ภาพก็เช่นกัน เป็นการใช้ภาพโดยปกติด้วยสีหน้าท่าทางของผู้ให้สัมภาษณ์ขณะนั้น กรณีจึงไม่เป็นความผิดไม่ว่าในกรณีใด

นอกจากนั้น การให้แหล่งข่าวตรวจสอบข่าวและภาพก่อนตีพิมพ์ ก็เป็นเรื่องที่ขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๕ อย่างชัดแจ้ง ทั้งรัฐและเอกชนไม่สามารถแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนได้

ข้อต่อมาเรื่องของ บุคคลสาธารณะ การให้สัมภาษณ์ด้วยความยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากแหล่งข่าวแล้ว ก็เป็นสิทธิและหน้าที่ของนักข่าว ที่จะต้องรายงานข่าวตามการให้สัมภาษณ์นั้นโดยหน้าที่ทางวิชาชีพ ไม่ว่าแหล่งข่าวจะเป็นบุคคลสาธารณะ คือดารา นักแสดง นักการเมือง บุคคลที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปหรือไม่ เรื่องของบุคคลสาธารณะจะเป็นปัญหาขึ้นมาก็เฉพาะ กรณีที่มีข้อโต้แย้งว่า การก้าวล่วงเข้าไปในเรื่องส่วนตัว หรือ Right to Privacy ของบุคคลสาธารณะ สามารถทำได้มากน้อยเพียงใด

กรณีนี้จึงเป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกับเรื่องบุคคลสาธารณะ

ข้อต่อมา นับจากปี พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นต้นมา การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไม่ต้องมีใบอนุญาต พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ ก็เป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์จดแจ้งไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มีลักษณะบังคับควบคุม หรือมีโทษทางอาญาเช่นเดียวกับกฎหมายการพิมพ์ฉบับก่อนๆที่ยกเลิกไปหมดแล้ว นอกจากนั้นสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการให้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตการพิมพ์ เป็นเพียงสมาคมที่ดูแลเรื่องสวัสดิการ และเรื่องสิทธิเสรีภาพของนักข่าวที่เป็นสมาชิกเท่านั้น และนักข่าวส่วนใหญ่ก็เป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง

สรุปว่าหนังสือพิมพ์ไม่ต้องมีใบอนุญาต และสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ

สุดท้าย เรื่องการโพสต์ข้อความที่เป็นหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกสูงสุดถึง ๒๐ ปี ซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่าความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาททั่วไป ถึงแม้ว่าต่อมา ผู้โพสต์ข้อความจะลบข้อความนั้นทิ้งเสียไม่ได้อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์อีกต่อไป แต่ในทางกฎหมายถือว่าความผิดสำเร็จแล้วนับจากโพสต์ข้อความ ถ้าผู้เสียหายสามารถแสดงหลักฐานข้อความแสดงต่อศาลได้ ผู้กระทำก็ไม่พ้นความรับผิด

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงคำอธิบายบางส่วน ในประเด็นสำคัญๆ เพื่อยืนยันว่าลานนาโพสต์ เข้าใจทุกถ้อย ทุกคำที่กล่าวหา หรือพยายามจะสร้างภาพในจินตนาการให้หลงประเด็นหรือหวาดกลัว


ในฐานะผู้เสียหายแท้จริง จะมีการใช้สิทธิในทางศาลหรือไม่คงยังยืนยันไม่ได้ แต่นี่ก็ถือเป็นบททดสอบอีกบทหนึ่ง ที่ทำให้เข้าใจคนบางคนมากขึ้น และได้รู้ว่ามิตรแท้ในยามยากของลานนาโพสต์ในฐานะเป็นสื่อของคนลำปางและคนลำปางทั้งโลกที่ยืนหยัดมั่นคงมายาวนานนั้น มีจำนวนมากพอที่จะมั่นใจว่า เราไม่โดดเดี่ยวอย่างแน่นอน 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 955  6 - 12 ธันวาคม 2556) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์