วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ถอยหลังเลือกตั้ง เดินหน้า(หายนะ)ประเทศไทย !




แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่ จากปีกที่เรียกว่า “มวลมหาประชาชน” จะย้ำจุดยืน ให้มีปฎิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่อีกปีกของ น.ป.ช.และมวลชนรากหญ้าในภาคเหนือและอีสานก็ยืนยันว่า ต้องมีการเลือกตั้งตามกำหนด และหากจะปฎิรูป ก็ให้มีการปฎิรูปหลังเลือกตั้ง

และหากมีเลือกตั้ง คนลำปางก็อาจมีโอกาสได้เลือกเพียงพรรคเดียว หรือคนกลุ่มเดียว แต่แยกออกเป็นแม่น้ำสองสาย เพราะแนวโน้มที่ประชาธิปัตย์จะไม่ลงเลือกตั้งทั้งพรรคเป็นไปได้สูงยิ่ง

ทำไมถึงเลือกตั้งก่อนไม่ได้  ประสา “ม้าสีหมอก” คนข่าวการเมือง ที่อยู่ในวงการนี้มายาวนานกว่า 30 ปี ความเลวร้ายของการเมืองไทยคือ การทุจริตเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าการจัดการเลือกตั้งจะเปลี่ยนมาอยู่ในมือของ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ทุกคนก็รู้อยู่เต็มอกว่า กกต.ไม่มีศักยภาพเพียงพอ ที่จะขุดราก ถอนโคน เมล็ดพันธุ์อันชั่วร้ายนี้ได้  บทเรียน ของกกต.ชุดสามหนา พล.ต.อ.วาสนา  เพิ่มลาภ  ที่จัดการเลือกตั้งเมื่อปี 2549  จนกระทั่งนำไปสู่การเพิกถอน และสั่งการเลือกตั้งเป็นโมฆะโดยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นบทเรียนหนึ่งที่บอกว่า เราไม่อาจคาดหวัง กกต.ได้

ภาพนักการเมืองคนหนึ่ง แบกกระสอบใส่เงินเตรียมแจกชาวบ้าน เดินตามอดีตหัวหน้าพรรค คนโตตัวเล็ก แห่งเมืองสุพรรณ ในคราวเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครปฐม ยังคงติดตาผม เช่นเดียวกับ โรคร้ายร้อยเอ็ด ที่เป็นตำนานการซื้อเสียงฉบับคลาสิค เมื่อพล.อ.เกรียงศักดิ์  ชมะนันทน์ อดีตหัวหน้าคณะปฎิวัติ ไปลงเลือกตั้งที่จังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยความใสชื่อของคนอีสานที่ใครมีบุญคุณกับเขา เขาย่อมต้องตอบแทน เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อินทรีแห่งทุ่งบางเขน ที่แทบไม่มีอะไรผูกพันกับคนร้อยเอ็ดเลย ได้รับการเลือกตั้งคราวนั้น และก็กลายเป็นต้นแบบของทักษิณ ชินวัตร เมื่อเขาสร้างพรรคไทยรักไทย ขึ้นมาเพื่อยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคอีสาน และเหนือที่อาจซื้อได้ด้วยเงิน

และด้วยเงินอีกจำนวนหนึ่งไม่กี่ร้อยล้านบาท ในการซื้อ ส.ส.เกือบทั้งหมดของสภา ซึ่งนั่นก็คือ การซื้อประเทศนี้

ด้วยเหตุที่คนเหล่านี้ ไม่ใช่นักการเมือง แต่พวกเขาเป็นเพียงนักเลือกตั้งเท่านั้น

นักเลือกตั้ง หมายถึง ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่จุดยืนทางการเมืองที่แน่นอน ไม่มีจริยธรรมและคุณธรรมทางการเมือง และพยายามสร้างสำนึกจอมปลอมว่าตนเองมีฐานะเป็นตัวแทนของประชาชน บุคคลเหล่านี้จะลงสมัครเลือกตั้งทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง โดยไม่สนใจวิธีการได้มาของชัยชนะมุ่งหวังเพียงอย่างเดียวได้รับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะทุจริตการเลือกตั้งก็ตาม ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองและพวกได้เป็นตัวแทนของประชาชนโดยผ่านพิธีกรรมการทางการเลือกตั้ง 

นักเลือกตั้งจะมีเครือข่ายอำนาจอิทธิพลกว้างขวางในเขตเลือกตั้ง เป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของท้องถิ่น เป็นที่พึ่งพาอาศัยของประชาชนในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้นักเลือกตั้งจะมีการจัดระบบเครือข่ายหัวคะแนนที่มีประสิทธิภาพ "ฐานเสียง" ฐานเสียงที่หนาแน่นในท้องถิ่น เป็นการเกื้อกูลโอกาสได้รับชัยชนะสูงในสนามการเลือกตั้ง ทำให้นักเลือกตั้งเหล่านี้มีต้นทุนทางการเมืองสูงและมีโอกาสได้รับชัยชนะทุกครั้งในการเลือกตั้ง จุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของนักเลือกตั้งจึงไม่ใช่สาระสำคัญที่ประชานจะพิจารณามากกว่าระบบอุปถัมภ์และอำนาจเงิน 

นักเลือกตั้งเหล่านี้มักไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน มักจะมีเปลี่ยนพรรคการเมืองอยู่เสมอขึ้นอยู่กับการเสนอเงินเพื่อซื้อตัวของพรรคการเมือง หรือแกนนำกลุ่มการเมืองหลักด้วยเงินจำนวนมากจนเป็นที่พอใจ รวมถึงการต่อรองตำแหน่งทางการเมือง นักเลือกตั้งมักจะอาศัยคะแนนนิยมของพรรคการเมืองเพื่อที่ตนเองและกลุ่มจะได้เกาะกระแสในสนามการเลือกตั้ง การคำนวณแนวโน้มพรรคการเมืองที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล เป็นข้อพิจารณาหลักของนักเลือกตั้งมากกว่าจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมือง 
นักเลือกตั้งจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเองผ่านทางสื่อต่าง ๆ โดยอาศัยหลักการตลาดและการประชาสัมพันธ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพูดโน้มน้าวใจคนและระดมมวลชนโดยอาศัยหลักจิตวิทยามวลชน 

เป้าหมายสำคัญของนักเลือกตั้งหลังจากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งแล้วก็อาศัยช่องทางทางการเมืองเพื่อเข้าไปการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยมีการรวมกันของนักเลือกตั้งเป็นกลุ่มการเมืองไปต่อรองและจัดสรรผลประโยชน์ เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ตำแหน่งประธานกรรมาธิการ เป็นต้น นักเลือกตั้งจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกภายในกลุ่มภายใต้ระบบธุรกิจการเมือง 

และนี่คือ กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ส.ส.ภายใต้ทักษิณ ชินวัตร หากแต่เป็นเพียง นักเลือกตั้งเท่านั้น
จะมีวันเลือกตั้งหรือไม่ อาจจะเป็นคำถามอยู่ในวันนี้ แต่จะเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม เกมนี้ยังไม่จบง่ายๆ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 957  20 - 26 ธันวาคม 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์