วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

อพยพแม่เมาะขยับ ตั้ง กก.7 คณะสำรวจ


ผู้ว่าราชการ จ.ลำปาง ประชุมร่วมกับผู้แทนหน่วยงานทุกภาคส่วน เตรียมเดินหน้าแผนอพยพ ช่วยเหลือชาวบ้าน 5 หมู่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ผู้ว่าราชการ จ.ลำปาง ประชุมร่วมกับผู้แทนหน่วยงานทุกภาคส่วน เตรียมเดินหน้าแผนอพยพ ช่วยเหลือชาวบ้าน 5 หมู่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

หลังจากเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ)  เห็นชอบให้มีการอพยพ ราษฎร 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 ตำบลแม่เมาะ บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 บ้านดง หมู่ที่ 2 บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ที่ 7 และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง  ตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน (พน.) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร และสนับสนุนการปฏิบัติงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในพื้นที่

นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานการประชุมร่วมกับ ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.แม่เมาะ) หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด-อำเภอ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานด้านพลังงาน, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ป่าไม้, ที่ดิน โยธาธิการและผังเมือง, ชลประทาน, เกษตร และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 20 หน่วยงาน รวมทั้งตัวแทนของชาวบ้าน ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จาก 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน ที่ห้องประชุมอาลัมภางค์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อร่วมกันพิจารณาดำเนินการจัดเตรียมแผน เดินหน้าอพยพราษฎรในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน ออกจากพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ในการประชุม ได้มีการพิจารณาดำเนินการที่จะอพยพราษฎร ในพื้นที่ 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1, บ้านดง หมู่ที่ 2, บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ที่ 7, บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลบ้านดง และบ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 ที่อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลแม่เมาะ โดยการพิจารณาได้มีการกำหนดพื้นที่แห่งใหม่ ในเขตพื้นที่ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ เนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ เพื่อจะทำการจัดสรรให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยแก่ราษฎรทั้ง 5 หมู่บ้าน ที่ขออพยพ จำนวนทั้งสิ้น 1,458 ครัวเรือน ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.แม่เมาะ) ได้มีการจัดเตรียมงบประมาณสำหรับดำเนินการอพยพในครั้งนี้ไว้แล้ว รวมทั้งหมดกว่า 2,970.5 ล้านบาท นอกจากนี้ได้มีการเสนอกำหนดแนวทางการดำเนินการ ในด้านต่างๆ ประกอบด้วย การจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่าง กฟผ.แม่เมาะ กับราษฎรในพื้นที่ ที่ยืนยันไม่ต้องการอพยพออกจากพื้นที่ให้มีความชัดเจน, การสำรวจพื้นที่เพื่อประเมินที่ดินและทรัพย์สินของราษฎร และของราชการ ที่จะต้องจ่ายชดเชยในพื้นที่ที่ต้องอพยพ, วิธีการจ่ายเงินค่าชดเชย, การจัดทำผัง แผนที่ในพื้นที่ที่จะจัดสรรใหม่ให้แก่ราษฎร, การจัดสร้างสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ในพื้นที่จัดสรรใหม่, การอพยพราษฎร และการฟื้นฟูส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรที่ต้องอพยพ เพื่อให้ราษฎรที่จะต้องเข้าอาศัยในพื้นที่จัดสรรแห่งใหม่ได้มีความมั่นคง มีอาชีพที่ยั่งยืน และได้รับคุณภาพชีวิต ที่ดีกว่าในพื้นที่เดิม


โดยในเบื้องต้นที่ประชุม ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานทั้งหมด 7 ชุด โดยมีผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนราษฎรในพื้นที่ขออพยพ ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการของแต่ละชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการสำรวจที่ดินและทรัพย์สิน, คณะอนุกรรมการตรวจสอบที่ดินและทรัพย์สิน, คณะอนุกรรมการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สิน, คณะอนุกรรมการก่อสร้างวัด โรงเรียน สาธารณูปโภค อ่างเก็บน้ำ และระบบชลประทานในพื้นที่จัดสรร, คณะอนุกรรมการจัดราษฎรเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่จัดสรร, คณะอนุกรรมการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรที่อพยพในพื้นที่จัดสรร และคณะอนุกรรมการประสาน-ติดตามผลการดำเนินการอพยพราษฎร ทั้งนี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการในแต่ละคณะฯ ได้ร่วมกันดำเนินการพิจารณากำหนดแนวทางช่วยเหลือโอนย้ายครัวเรือน หรืออพยพราษฎรในพื้นที่ที่ขออพยพทั้ง 5 หมู่บ้าน ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เหมาะสม สอดคล้องกับแนวทางการปกครองในระดับหมู่บ้าน และสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ซึ่งหลังจากนี้ทางคณะอนุกรรมการทั้ง 7 คณะ จะได้มีการประชุมรายงานผล ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานร่วมกันเป็นประจำทุกเดือน เพื่อจะเร่งให้การช่วยเหลืออพยพราษฎรทั้ง 5 หมู่บ้าน เป็นไปโดยเร็วต่อไป


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 964 7-13 กุมภาพันธ์ 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์