วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เหมือน หรือต่าง ระหว่างกาดกองต้ากับสามชุก


เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้จัดพิมพ์หนังสือ สามชุกวันนี้ Samchuk : Life Story of the Old Market” โดยมีเจตนารมณ์ที่จะเล่าเรื่องต่าง ๆ ของสามชุกผ่านภาพถ่าย สืบทอดความเป็นสามชุกอันทรงคุณค่าตั้งแต่อดีตกาลผ่านมาถึงปัจจุบันให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้มองเห็นวิถีชีวิต ภูมิปัญญา วัฒนธรรมของไทย-จีน ประสมประสานกันสืบต่อไปในอนาคต น่าสนใจตรงที่ผู้เขียนคำนิยมต่างก็เป็นบุคคลมีชื่อเสียงอย่าง รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม และเอนก นาวิกมูล ที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้ใช้เงินของคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกฯ ที่ได้จากการขายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว อีกส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคของชาวตลาด พูดได้เต็มปากว่า ใช้เงินของคนสามชุกในการจัดทำนั่นเอง คนสามชุกจึงภูมิใจในหนังสือของพวกเขามาก

หากใครเคยไปเที่ยวตลาดสามชุก ริมแม่น้ำสุพรรณบุรี คงนึกภาพออกว่าตลาดเก่าแห่งนี้คลาสสิกแค่ไหน เรือนแถวไม้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เรียงรายขนานกันไปทั้ง 5 ซอย เรือนแถวเหล่านี้ยังเป็นทั้งร้านค้าเก่าแก่และที่อยู่อาศัยไปพร้อมกัน คนรุ่นหลังสืบทอดกิจการจากปู่ย่าตายาย เคยขายอะไรวันนี้ก็ยังขายอยู่ จะว่าไป ชาวสามชุกจึงเกิดและเติบโตมาด้วยกัน รู้จักกันแทบทั้งหมด ไม่ว่าใครก็รู้สึกได้ถึงความผูกพัน       สามชุกก็เหมือนชุมชนเก่าแก่อื่น ๆ คือผ่านทั้งช่วงเวลาเฟื่องฟูและซบเซา เพียงแต่สามชุกนั้นมีกำลังคนที่เข้มแข็ง ซึ่งได้ร่วมกันพลิกฟื้นมอบคืนความรุ่งเรืองกลับมายังบ้านของพวกเขา เริ่มจากสามชุกได้เป็น 1 ใน 12 เมืองนำร่องโครงการเมืองน่าอยู่ของมูลนิธิชุมชนไทในปี พ.ศ. 2546-2549 จากนั้นก็มีแนวความคิดให้สามชุกเป็น ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา นั่นคือ เวลาเราไปเยี่ยม ๆ มอง ๆ หน้าร้านค้าของใคร เจ้าของจะส่งเสียงเชื้อเชิญให้เข้าไปดูของสะสม พร้อมกับอธิบายถึงกิจการของตนและเล่าประวัติต่าง ๆ ให้ฟังอย่างเต็มอกเต็มใจ

หลังจากร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาตลาดสามชุกมาอย่างยาวนาน รางวัลดีเด่นอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี พ.ศ. 2552 จากองค์การยูเนสโก คือผลอันน่าชื่นใจของชุมชน

5 ปีก่อน กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล ลงทุนลงแรงจัดทำหนังสือ กาดกองต้า ย่านเก่าเล่าเรื่องเมืองลำปาง เขาเขียนในคำนำว่า หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นด้วยอยากจะบันทึกเรื่องราวที่มีอยู่ในผืนดินที่ให้กำเนิด ให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ หวังเพียงจะคลี่คลายเรื่องบางเรื่องในอดีตให้คนลำปางได้ภาคภูมิกับบางเสี้ยวบางตอนของตน เพื่อก้าวเดินต่ออย่างมีทิศทางและมีที่มาที่ไป ถึงแม้หนทางอันยาวไกลข้างหน้านั้น เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลำปางจะเป็นอย่างไร ผมหวังเพียงแค่เมื่อเดินมาถึงทางแยก ภูมิหลังอันยิ่งใหญ่ที่เรามีจะทำให้เราสามารถเลือกเส้นทางได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ความเป็นชุมชนการค้าแห่งตลาดจีน หรือที่เรียกกันว่ากาดกองต้านั้น ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาด้วยโครงการถนนคนเดินกาดกองต้าครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541 แต่ไม่ประสบความสำเร็จและถูกทิ้งช่วงไปนาน กระทั่งมีการเสนอที่จะจัดการบริหารกาดกองต้าเองโดยคนในชุมชน มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกาดกองต้า ซึ่งเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างชุมชนกองต้าเหนือและกองต้าใต้ เพื่อบริหารจัดการกาดกองต้าโดยตรง ไม่มีคำว่าผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง นั่นทำให้เราได้เห็นกาดกองต้าโฉมใหม่อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ หลังล้มลุกคลุกคลานมาหลายต่อหลายครั้ง

นอกจากคณะทำงานที่เข้มแข็งแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ดิเรก ก้อนกลีบ ก็มีส่วนผลักดันส่งเสริมกาดกองต้าจนประสบความสำเร็จ และต่อมาย่านกาดกองต้ายังได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2551 ประเภทชุมชนพื้นถิ่น ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

สามชุกกับกาดกองต้าต่างก็เป็นย่านเก่าที่ผ่านทั้งช่วงเวลาแห่งความหวานชื่นและขื่นขม เป็นย่านการค้าด้วยกันทั้งคู่ ปัจจุบันยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดที่รู้จักกันทั้งประเทศ แต่อะไรทำให้ทั้งสองชุมชนต่างกันอย่างลิบลับ

ทำเลที่ตั้ง : สามชุกตั้งอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณบุรี แม่น้ำของเขายังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ยังมีชีวิตอยู่ด้วยทางเดินเลียบแม่น้ำยาวเหยียดขนานไปกับบ้านเรือน แล้วยังมีกิจกรรมล่องเรือเที่ยว กาดกองต้าตั้งอยู่ริมแม่น้ำวัง แต่แม่น้ำไม่ได้มีส่วนร่วมกับชุมชนในทางใดเลย

สถาปัตยกรรม : ตลาดสามชุกเป็นเรือนไม้เก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีลวดลายไม้ฉลุ ประตูบานเฟี้ยมยาวเหยียด อีกอย่างที่เป็นจุดเด่นก็คือ ป้ายชื่อร้านต่าง ๆ ที่ประดิษฐ์คิดสรรค์ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 บ้านเรือนในย่านกาดกองต้านั้นโอ่อ่ากว่า ด้วยทุนสร้างระดับคหบดีผู้มั่งคั่งจากการทำไม้สัก จึงน่าตื่นตาตื่นใจอยู่มาก

สินค้า : ที่สามชุก 80 เปอร์เซ็นต์เป็นสินค้าของคนสามชุกเอง ส่วนกาดกองต้า...

ศูนย์กลางชุมชน : สามชุกมีลานโพธิ์และพิพิธภัณฑ์ขุนจำนงจีนารักษ์ จัดแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชนอย่างน่าสนใจ เป็นการปูพื้นฐานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจภาพรวมของสามชุกก่อน ส่วนกาดกองต้า...

ผู้คน : ชาวสามชุกเห็นกันมาตั้งแต่เด็ก ความผูกพันและเป็นกันเองทำให้ชุมชนดูมีชีวิตชีวา ชาวกาดกองต้า...

เรื่องราว : ที่สามชุก อบอวลอยู่ในร้านรวงและผู้คนที่พร้อมจะบอกเล่า กาดกองต้า...อยู่ที่ไหนสักแห่งเบื้องหลังประตูที่ปิดสนิทบานนั้น



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 964 7-13 กุมภาพันธ์ 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์