วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เหมยขาบกับโลกที่กำลังเปลี่ยน


ฤดูหนาวปีนี้ บ้านเราหนาวที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา นักวิชาการมองว่า โลกกำลังเผชิญสภาวะอากาศแบบสุดขั้ว แต่ถึงอย่างนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่กลับบอกว่า เมื่อสี่ซ้าห้าสิบปีก่อนเมืองลำปางเราหนาวกว่านี้อีก !

 “เมื่อตอนลุงอายุสัก 20 จำได้ว่าพอถึงหน้าหนาว ตามทุ่งนานี่จะเห็นเหมยขาบขาวโพลนไปหมด” ลุงวิรัตน์ ธิช่างทอง เท้าความหลังให้ฟัง หากนับอายุลุง นี่ก็ผ่านมาแล้ว 50 ปีเห็นจะได้ที่ลุงไม่ได้เห็นเหมยขาบอีกเลย 

ผู้เฒ่าผู้แก่ทางภาคเหนือต่างพากันเรียกปรากฏการณ์ที่น้ำค้าง หรือไอน้ำ จับตัวกันเป็นเกล็ดน้ำแข็งตามยอดหญ้า ใบไม้ยอดไม้เตี้ย ๆ เมื่ออากาศหนาวจัดและอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสว่า “เหมยขาบ” ไม่ได้เรียก “แม่คะนิ้ง” อย่างคนพื้นถิ่นอีสาน หรือเรียก “น้ำค้างแข็ง” เช่นคนภาคกลาง

 “เมื่อก่อนหนาวกว่านี้อีก เวลาก่อกองไฟก่อเท่าไรก็ได้เปลวไฟเล็กนิดเดียว เวลานอน ผ้าห่มหลายผืนก็เอาไม่อยู่ ต้องเข้าไปนอนในกองฟางนั่นแหละ ถึงจะนอนได้” ลุงวิรัตน์บอกว่า สมัยลุงเป็นเด็กบ้านเรานั้นหนาวจริง ๆ ขนาดห่มผ้าห่มซ้อนชั้นจนดิ้นไม่ได้แล้วก็ยังหนาวจนนอนไม่หลับ ต้องทำโพรงอยู่ในลอมฟาง ทนคัน ทนยุงกัดเอาหน่อย พอตื่นเช้าขึ้นมา ตามพื้นทุ่งนาที่ปกติจะมีใยแมงมุมอยู่เป็นบริเวณกว้าง บนใยแมงมุมนั้นก็จะพบเหมยขาบ ลักษณะเป็นเกล็ดน้ำแข็งเกาะจับเป็นวงกว้าง

 “คนสมัยก่อนเรียกเหมยขาบอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ผีตากผ้าอ้อม’ เพราะเกล็ดน้ำแข็งที่ค้างอยู่บนใยแมงมุม มองไกล ๆ เหมือนผืนผ้าสีขาวแผ่กว้างทั่วไปหมด” ลุงวิรัตน์เล่า

ผู้สูงวัยที่เคยอาศัยอยู่ในอำเภอวังเหนือเมื่อสมัยเด็ก ๆ ก็พูดให้ฟังว่า ช่วงฤดูหนาวนั้น พื้นเรือนที่เป็นไม้กระดานจะเย็นยะเยือกจนแทบเหยียบไม่ได้เลยทีเดียว

จะว่าไปแล้ว เหมยขาบจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยผ่านฤดูหนาวอันแสนสาหัสมามากกว่าเรา แต่เป็นเรื่องคุ้นชินที่ห่างหายไปจากการรับรู้อย่างยาวนาน นานจนกระทั่งคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าแม่คะนิ้งกันหมด

เหมยขาบตามทุ่งนาพื้นราบหายไป แต่สำหรับบนยอดดอยยังมีให้เห็นในปีที่หนาวจัด ๆ อย่างปีนี้ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ฮือฮาของนักท่องเที่ยวที่ได้เห็นเหมยขาบหลายครั้ง เพราะอากาศหนาวยาวนานต่อเนื่องในรอบหลายปีที่ผ่านมา จนเกิดเหมยขาบหลายวันและเกิดเป็นบริเวณกว้าง นับเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก

ทว่าความมหัศจรรย์ของเหมยขาบก็ทำความเสียหายให้แก่พืชไร่ด้วยเหมือนกัน เช่น ข้าวที่กำลังออกรวงเมล็ดจะลีบ พืชผักใบหงิกงอไหม้เกรียมเพราะถูกความหนาวเย็นจัดเกาะจับแบบกะทันหัน ไม้ผลบางชนิดโดนพิษเหมยขาบเล่นงานถึงกับใบร่วงไปเลยก็มี

 “คำว่า ‘เหมย’ ภาษาเหนือหมายถึงหมอก หรือน้ำค้าง ส่วนคำว่า ‘ขาบ’ น่าจะมาจากภาษาเหนือว่า ‘ตกคาบ’ คือเหลือรอยให้เห็น เหมยขาบโดยรวมแล้วอาจหมายถึงหมอก หรือน้ำค้างที่ยังคงเหลือร่องรอยให้เห็นในรูปของเกล็ดน้ำแข็งนั่นเอง” ลุงวิรัตน์สันนิษฐาน

แต่สำหรับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำจำกัดความ “เหมยขาบ” ไว้ว่า “เป็นภาษาไทยถิ่นเหนือ เรียกละอองน้ำค้างที่กลายเป็นน้ำแข็งแผ่นบาง ๆ เกาะอยู่บนใบไม้ใบหญ้าในเวลาที่อากาศหนาวจัดว่าน้ำค้างแข็ง คำว่า เหมยขาบ ประกอบด้วยคำว่า เหมย ซึ่งแปลว่า น้ำค้าง กับคำว่า ขาบ แปลว่า ชิ้นเล็ก ๆ เหมยขาบจึงเป็นน้ำค้างแข็งแผ่นบาง ๆ นอกจากนี้ ภาษาไทยถิ่นเหนือยังเรียกไอน้ำที่แข็งตัวเพราะความเย็นจัดว่า เหมยแขง แต่ถ้าน้ำค้างที่ลงจัดจนเหมือนละอองฝนจะเรียกว่า เหมยช้าง คือน้ำค้างที่ลงหนักมาก แข็งเป็นแผ่นใหญ่”

อย่างไรก็ตาม เหมยขาบยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และปีต่อ ๆ ไปเราจะยังได้เห็นเหมยขาบอีกหรือไม่ ก็ในเมื่อทุกสิ่งที่เราทำทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วง ชนิดที่ไม่เคยเป็นเลยตลอด 600,000 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ ปริมาณคาร์บอนในบรรยากาศพุ่งกระฉูด และโลกก็ร้อนขึ้นทุกที

งานวิจัยทั่วโลกกว่า 100 ชิ้น ยืนยันตรงกันว่า การหมุนเวียนน้ำกำลังเปลี่ยนแปลง วัฏจักรน้ำหมุนเร็วขึ้น ตึงเครียดขึ้น น้ำระเหยเร็วขึ้น ฝน หิมะ ลูกเห็บ แปรปรวนทั่วโลก น้ำท่วมและภาวะแห้งแล้งเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น เมื่อโลกร้อนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน กระแสน้ำในมหาสมุทรจะเริ่มผันผวน ส่งผลโดยตรงต่อระบบลมฟ้าอากาศทั้งหมด

น่าเศร้าหากสักวันหนึ่งคนรุ่นหลังจะนึกภาพของเหมยขาบไม่ออก หรือหากพวกเขามีโอกาสเห็น ก็คงไม่รู้จะนิยามปรากฏการณ์นี้ว่าอย่างไรด้วยซ้ำ


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 963  31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์