วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

ลุ้นศาลสูงสั่ง กฟผ.จ่ายเยียวยา 115 ล้าน



ผู้ป่วยแม่เมาะใกล้ถึงฝัน หลังรอนาน 12 ปี  ตุลาการนัดฟังคำแถลงแย้งอุทธรณ์  คาดผลยืนตามศาลชั้นต้นจ่ายค่าเยียวยาคนละ 2.4 แสนบาท รวม 115 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 57 ที่ผ่านมา นางมะลิวรรณ  นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ พร้อมด้วยกลุ่มผู้ป่วยแม่เมาะ กว่า 200 คนใช้รถบัสจำนวนสามคัน เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมรับฟังการแถลงแย้งคำอุทธรณ์ของตุลาการเจ้าของคดีต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีคดีฟ้อง กฟผ. ในวันที่ 11 มี.ค.ที่ศาลปกครองสูงสุด โดยก่อนจะออกเดินทางกลุ่มผู้ป่วยทั้งหมดได้นำดอกไม้ ธูปเทียนมาสักการะขอพรที่อนุสาวรีย์หลวงพ่อเกษมเขมโก อดีตเกจิชื่อดังของชาวจังหวัดลำปางเพื่อขอพรและให้การเดินทางไปรับฟังการแถลงให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและราบรื่น

โดยนางมะลิวรรณ กล่าวว่า สำหรับการเดินทางไปศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ ทางกลุ่มผู้ป่วยมีความหวังเต็มเปี่ยมและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความเมตตาจากศาล หลังเข้าสักการะหลวงพ่อเกษม เขมโก ซึ่งถือเป็นเกจิที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวลำปางเพื่อสร้างขวัญ กำลังใจและขอพรให้ศาลปกครองสูงสุดซึ่งจะมีคำพิพากษาในอีกหนึ่งเดือนถัดจากนี้ พิพากษายืนตามศาลปกครองเชียงใหม่ที่ให้ กฟผ.จ่ายค่าชดเชยให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่รอคอยการเยียวยา มานานกว่า 12 ปี  ซึ่งระหว่างที่รอผู้ป่วยก็เสียชีวิตไปแล้ว12 ราย จากจำนวนที่ยื่นฟ้องทั้งหมด 131 ราย

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ทางกลุ่มผู้ป่วยแม่เมาะซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กฟผ.ต่อศาลปกครองเชียงใหม่  เพื่อให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายและเยียวยาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.เมื่อ ปี 2546 และ เมื่อ 2552   ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้ กฟผ.ชดใช้เงินแก่ราษฎรนับร้อยรายที่ได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) โดยกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมสุขภาพอนามัย และจิตใจแก่ราษฎรที่อยู่ในพื้นที่จริง ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำ ตามปริมาณและจำนวนครั้งที่ กฟผ. ปล่อย SO2 โดยส่วนใหญ่จะได้รายละ 246,900 บาท พร้อมดอกเบี้ย และ มีคำพิพากษาให้ กฟผ. อพยพราษฎรและให้ปลูกป่าแทนสนามกอล์ฟ หลังจากนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ตามขั้นตอนของกฎหมาย


ตุลาการเจ้าของสำนวนได้ตรวจพิจารณาบทกฎหมายและกฎที่สำคัญดังต่อไปนี้ประกอบด้วยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิต จัดให้ได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้า ผู้ถูกฟ้องคดีทำเหมืองแร่ลิกไนต์เพื่อใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงกระแสไฟฟ้าและสร้างโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยได้เริ่มสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กกำลังการผลิต 12.5 เมกกะวัตต์ จำนวน 2 โรง ในปี พ.ศ. 2503 ต่อมาได้ดำเนินการก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 13 โรงดังนี้ ระหว่างปี พ.ศ. 2541 ถึง พ.ศ. 2524 ก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้าที่ 1 ถึงที่ 3 กำลังการผลิต 75 เมกกะวัตต์ มีปล่องระบายก๊าซสูง 80 เมตร ปี พ.ศ. 2527 ถึงปี พ.ศ. 2528 ได้ก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้าที่ 4 ถึงที่ 7 กำลัง การผลิต 150 เมกกะวัตต์ มีปล่องระบายก๊าซสูง 150 เมตร ปี พ.ศ. 2532 ถึงปี พ.ศ. 2535 ได้ก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้าที่ 8 ถึงที่ 11 กำลัง การผลิต 300 เมกกะวัตต์ มีปล่องระบายก๊าซสูง 150 เมตร และ ปี พ.ศ. 2538 ก่อสร้างและใช้งานโรงไฟฟ้าที่ 12 ถึงที่ 13 กำลัง การผลิต 300 เมกกะวัตต์ มีปล่องระบายก๊าซสูง 150 เมตร หลังจากใช้งานโรงไฟฟ้าที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าวแล้ว ก็ได้เลิกใช้งานโรงไฟฟ้าขนาดเล็กทั้งสองโรงดังกล่าว ในการควบคุมและกำจัดฝุ่นละอองจากใช้งานโรงไฟฟ้านั้น ผู้ถูกฟ้องคดีได้ติดตั้งเครื่องกำจัดฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต Electrostatic Precipitator หรือ ESP ทุกโรงตั้งแต่เริ่มใช้งาน ส่วนการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์นั้น เดิมผู้ถูกฟ้องคดีใช้วิธีกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยการทำปล่องระบายสูงเพื่อให้ก๊าซดังกล่าวกระจายไปในบรรยากาศ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซ Flue Gas Desulfurization หรือ FGD จำนวน 8 เครื่องที่เครื่องผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า 10 โรง โดยเริ่มใช้งานที่โรงไฟฟ้าที่ 12 และที่ 13 เมื่อปี พ.ศ 2538 และทยอยติดตั้งและใช้งานที่โรงไฟฟ้าที่ 4 ถึงที่ 11 ปี แล้วเสร็จในปี 2543 ส่วนโรงไฟฟ้าที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น ไม่ได้ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซเนื่องจากได้หยุดใช้งานเมื่อปี พ.ศ. 2542 ส่วนการตรวจสอบสภาวะอากาศในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง นั้นกรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตรวจวัดระดับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฝุ่น กลิ่น เสียง และความสั่นสะเทือน โดยมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จำนวน 4 สถานี คือ สถานีบ้านสบป้าด สถานีบ้านสบเติ๋น สถานนีประปาส่วนภูมิภาค และสถานีบ้านท่าสี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศจำนวน 12 สถานี คือ สถานีตรวจอากาศหลัก สถานีบ้านกอออ สถานีบ้านห้วยคิง สถานีศูนย์ราชการรวม สถานีบ้านสบเมาะ สถานีบ้านสบป้าด สถานีบ้านแม่จาง สถานีบ้านหัวฝาย สถานีบ้านท่าสี สถานีค่ายประตูผา สถานีบ้านใหม่รัตนโกสินทร์ และสถานีบ้านท่าเสด็จ หลังจากที่ได้มีการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซที่โรงไฟฟ้าจำนวน 11 ถึงที่ 13 แล้วปรากฏว่าเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 โรงไฟฟ้าแม่เมาะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 11 โรง โดยเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ 7 และที่ 12 หยุดซ่อมตามวาระ และหยุดซ่อมอุปกรณ์เครื่องกำจัดก๊าซของโรงไฟฟ้าที่ 8 ที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 เหลือเพียงเครื่องกำจัดก๊าซของโรงไฟฟ้าที่ 9 และที่ 11 ที่สามารถใช้งานใช้งานได้ปกติ จึงทำให้เกิดการสะสมของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศในปริมาณสูงในช่วงระหว่างวันที่ 17 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2541 ทำให้มีราษฎรได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้ารับการรักษาพยาบาลจำนวน 868 ราย เป็นผู้ป่วยนอก 865 ราย ผู้ป่วยใน 3 ราย ต่อมาจังหวัดลำปางได้มีคำสั่งจังหวัดลำปางที่ 2014/2541 ลงวันที่ 8 กันยายน 2541 แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการแพทย์กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้จ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบกรณีผู้ป่วยในเป็นค่าสินไหมทดแทน 8,200 บาท ค่าขาดประโยชน์ในการทำงานคนละ 131 บาทต่อวัน กรณีผู้ป่วยนอกเป็นค่าสินไหมทดแทน 3,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ในการทำงานคนละ 131 บาทต่อวัน โดยให้ราษฎรที่ได้รับความเสียหายยื่นบัญชีความเสียหายภายในวันที่ 4 ตุลาคม 2541 แต่ยังคงมีราษฎรอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ยื่นบัญชีความเสียหายภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ฟ้องคดีให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อศาลจังหวัดลำปางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1945/2542 หมายเลขแดงที่ 431/2547 และคดีหมายเลขดำที่ 1960/2542 หมายเลขแดงที่ 354/2547 ซึ่งศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายแก่พืชผักผลไม้ของโจทก์ สำหรับผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 สำนวน นั้นหลังจากเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ซึ่งให้ความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีป่วยเป็นโรคนิวโมโคนิโอซิส (โรคปอดอักเสบจากฝุ่นหิน) และโรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 สำนวน จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเป็นคดีนี้ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 สำนวน นายสุชาติ มงคลเลิศลพ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด พิมพ์จากความเห็นตุลาการเจ้าของสำนวน


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 969  ประจำวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2557)  
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์