กิ่วลมวิกฤติ จอกหนูหนูแพร่หนัก กระแสลมพัดสะสมหน้าเขื่อนหนาแน่น
ท่าเรือชะงักต้องเปลี่ยนจุดเทียบท่าแพท่องเที่ยว
ชี้เป้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและโรงงานอุตสาหกรรมใกล้เขื่อนจับมือเร่งกำจัดก่อนแพร่เต็มเขื่อน
ขณะที่ ผอ.โครงการกิ่วลมฯ
เตรียมเปิดประตูระบายน้ำผลักดันจอกหูหนูออกไปท้ายเขื่อน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ทันก่อนการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์
จากที่หนังสือพิมพ์ ลานนาโพสต์
ได้นำเสนอข่าวการแพร่ระบาดของจอกหูหนูบริเวณน้ำเหนือเขื่อนกิ่วลม
กระทั่งถูกกระแสน้ำพัดมารวมตัวกันอยู่บริเวณหน้าค่อนข้างหนาแน่น
ส่งผลกระทบให้เรือแพท่องเที่ยวและเรือหางยาว ไม่สามารถเข้าออกท่าเรือหน้าเขื่อนได้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น ล่าสุดคณะกองบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์
พร้อมด้วยนักวิชาการสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่บริเวณเขื่อนกิ่วลม
พบว่า การแพร่พันธุ์ขยายวงกว้างขึ้นเกือบเท่าตัว โดยจอกหนูหนูแพร่ลอยบนผิวน้ำกระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่เขื่อน
โดยเฉพาะบริเวณริมขอบมีการเกาะตัวกันหนาแน่น และมีบางส่วนลอยขวางทางเรือตามทิศทางลมเป็นแนวยาว
ขวางทางเดินเรือและแพเป็นระยะ ตั้งแต่หน้าสันเขื่อนไปจนถึงทะเลสาบกิ่วลมและหมูบ้านสำเภาทอง
จนถึงพื้นที่รอบแม่น้ำวังรอยต่อเขตตำบลบ้านสา และอำเภอแจ้ห่ม นอกจากนี้บริเวณท่าเรือสำเภาทองเริ่มมีสาหร่ายคล้ายสาหร่ายหางกระรอก
สะสมมาเป็นเวลากว่า 1 ปีและมีความหนาแน่นมากขึ้น
จากการสอบถามชาวบ้านชุมชนชาวแพ และผู้ประกอบการเรือแพท่องเที่ยวเขื่อนกิ่วลม
ระบุเป็นเสียงเดียวกันว่าตั้งแต่เกิดเหตุปัญหาจอกหูหนู ทำให้เป็นปัญหาต่อการเดินเรือและแพ
ชาวบ้านได้ขอให้ทางชลประทานลำปาง ช่วยแก้ปัญหา โดยเบื้องต้นทางชลประทานได้ว่าจ้างให้ชาวบ้านไปช่วยกันโกยจอกหูหนูหน้าเขื่อนขึ้นไปกองบนบก
แต่ปริมาณจอกหูหนูมากเกินกว่าจะใช้กำลังคนได้
จึงได้แต่เป็นการแสดงความร่วมมือและพลังชุมชนที่ได้รับผลกระทบทางตรง
แบบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่แท้จริง
โดยทางชลประทานและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอ้างว่าไม่มีงบประมาณและไม่มีอำนาจ
คล้ายกับเกี่ยงกันเป็นเจ้าภาพในการจัดการแก้ปัญหาดังกล่าว
เจ้าของแพท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวว่า ในส่วนของปัญหาเรื่องการเดินเรือแพ
ชาวบ้านและเจ้าของแพส่วนใหญ่ มีวิธีจัดการปัญหาจอกหูหนูติดใบพัดเครื่องยนต์เดินเรือแพ
และหลีกเลี่ยงการเข้าไปจอดเทียบท่ารับนักท่องเที่ยวบริเวณหน้าเขื่อน และเปลี่ยนเส้นทางไปขึ้นแพบริเวณบ้านสำเภาทอง
หรือบริเวณท่าอาคารสูบน้ำ ของ กฟผ.แทน แต่กรณีที่เจ้าหน้าที่บางส่วนมองว่า
ปัญหากระแพร่ระบาดจอกหูหนูเป็นปัญหาเฉพาะแต่ชาวแพนั่น เป็นความคิดที่คับแคบมาก
เพราะเป็นปัญหานี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม หากไม่ช่วยกันแก้ปัญหาคาดว่าจะเกิดแพร่ระบาดเต็มเขื่อนในระยะ
1-2 ปีอย่างแน่นอน
ขณะที่ ชาวแพบางส่วนระบุว่า อยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณเขื่อนกิ่วลมร่วมมือกัน
ทั้งงบประมาณและกำลังคน และเรื่องเทคนิคการกำจัดวัชพืชน้ำโดยเร็ว เพราะทราบว่า
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะและหน่วยงานที่ดูแลที่กว๊านพะเยา จ.พะเยา มีเรือกำจัดวัชพืช และ
หากเป็นเช่นนั้นจริง น่าจะขอความอนุเคราะห์ไป แทนการรองบประมาณ
สั่งซื้อเครื่องมือกำจัดวัชพืช
ด้านนายฤทัย พัชรานุรักษ์
ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา กิ่วลม-กิ่วคอหมา กล่าวว่า
ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่โครงการฯ
ร่วมกับชมรมชาวแพได้ช่วยกันเก็บตักจอกหูหนูกันขึ้นมาได้ระยะหนึ่งแต่ก็สู้ ไม่ไหว เนื่องจากจอกหูหนูขยายเติบโตอย่างรวดเร็ว
ตอนนี้มีกระจายไปในพื้นที่ประมาณ 900 กว่าไร่จากพื้นที่ผิวน้ำ 19,000 ไร่ โดยถูกลมพัดมากองอยู่หน้าเขื่อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งทางชาวแพก็ได้ร้องขอความช่วยเหลือเข้ามา โดยในวันจันทร์ที่ 17 มี.ค.
ทางโครงการฯจะเพิ่มการระบายน้ำที่จะไปช่วยบรรเทาภัยแล้งลุ่มน้ำวังและรักษาระบบนิเวศ
พร้อมกันนี้ก็จะเพิ่มการระบายเพื่อไล่วัชพืชที่มาสะสมอยู่หน้าเขื่อนออกไปด้วย
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยจะระบายน้ำออกในอัตรา 160 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
หรือประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วงเวลา 13.00-15.00 น. ประมาณ 2 ชั่วโมง
สำหรับทางท้ายเขื่อนได้สั่งการให้ทำหลักรอป้องกัน ทำเป็นตาข่ายขนาดเล็กดักวัชพืชที่ไหลออกไปทางท้ายเขื่อนด้วย
“ปัญหาจอกที่อยู่หน้าเขื่อนคงจะดำเนินการเสร็จก่อนช่วงสงกรานต์แน่นอน
แต่ส่วนที่ลอยกระจายอยู่ในอ่างนั้นคงต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเก็บหมด
ส่วนโครงการระยะยาวทางโครงการฯได้ของบประมาณเร่งด่วนไปที่กรมชลประทานแล้ว
ถ้าได้รับงบประมาณมาก็จะกำจัดวัชพืชอย่างต่อเนื่อง
เก็บเชื้อขึ้นให้หมดไม่ให้แพร่กระจายได้อีก
รวมทั้งได้ประสานไปยังสำนักวิจัยและพัฒนาของกรมชลประทาน
ผู้เชี่ยวชาญจะมาดูวิธีการที่จะกำจัดให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด”
นายฤทัย กล่าว
สาเหตุที่มาของจอก นายฤทัย กล่าวว่า ยังระบุได้ไม่แน่ชัดแต่ได้ข้อมูลมาเป็นข้อสันนิษฐานว่า
อาจจะเกิดจากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีน้ำฝนปริมาณมากทำให้น้ำล้นบ่อเลี้ยงปลา
ของชาวบ้านที่มีการเลี้ยงจอกแหนไว้สำหรับเป็นอาหารและให้ปลาอาศัย
เมื่อล้นลงในอ่างเก็บน้ำกิ่วลมจึงเกิดการแพร่ขยายพันธุ์ออกไป
อีกส่วนหนึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการที่มีชาวบ้านเข้าไปจับปลาในอ่างกิ่วลม
และนำจอกเข้าไปล่อปลา
ทำที่อยู่อาศัยของปลา แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดจากเหตุใด
ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏจอกหูหนูจำนวนมากเช่นนี้มาก่อน
จะเคยมีเป็นผักตบชวาเมื่อประมาณปี
2533
ซึ่งในตอนนั้นมีปริมาณไม่มากนัก
จึงได้เปิดประตูระบายน้ำระบายออกไป
ทำให้ผักตบชวาตายและแก้ปัญหาได้ ส่วนเรื่องคุณภาพน้ำ เมื่อมีจอกหูหนูปกคลุมอยู่บนผิวน้ำก็ทำให้น้ำมีสีเข้มขึ้น
แต่ทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพน้ำระบุว่าคุณภาพน้ำยังใช้ได้อยู่
เพราะส่วนที่เป็นน้ำเสียเจือจางรวมอยู่ในปริมาณน้ำดีที่มีมากกว่า ซึ่งเชื่อว่าการเปิดประตูระบายน้ำผลักดันจอกหูหนูหน้าเขื่อนออกไป
จะช่วยแก้ปัญหาไปในทางที่ดีได้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 969 ประจำวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2557)