เมื่อฤดูหนาวอันยาวนานสิ้นสุดลง
ก็ได้เวลาที่เหล่าดอกไม้ฤดูร้อนจะบานสะพรั่ง ต้นงิ้วแดงออกดอกสีส้มแดงสดใส ไม้ผลัดใบที่สูงได้ถึง
35 เมตรชนิดนี้ มักขึ้นอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำวัง เวลาบานดอกเป็นช่วงที่คึกคักราวกับมีงานเลี้ยง
ซึ่งเราต้องแหงนจนคอตั้งบ่าจึงจะได้เห็นว่า แขกที่มาร่วมงานนั้นมากันตั้งแต่เช้า
ก่อนจะหายไปในช่วงแดดจัด ๆ แล้วจึงกลับมาใหม่ในช่วงเย็นเมื่อแดดราแรง
ดอกไม้สีแดง
หรือดอกไม้ที่มีสีสันเจิดจ้าสดใส นอกจากดอกงิ้วแดง ยังมีดอกทองกวาว
ดอกเหลืองอินเดีย ดอกชบา ดอกพวงแสด และดอกทองหลาง
ซึ่งชนิดหลังนี้แค่ดอกเดียวมีน้ำหวานมากถึง 1-2 ซีซี
เมื่อดอกไม้เหล่านี้แบ่งบาน นกจะเห็นได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นนกกินปลีดำม่วง
นกกินปลีอกเหลือง นกปรอดหัวสีเขม่า นกปรอดสวน นกเอี้ยงสาริกา นกเอี้ยงหงอน ฯลฯ
จึงพากันแวะเวียนบินเข้าบินออกสลับกันไปมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเช้า ๆ
ดอกไม้มีน้ำหวานมาก หากมีเวลาพอที่จะเฝ้าดูอย่างเงียบ ๆ เราจะได้เห็นความน่ารักของเพื่อนในธรรมชาติเหล่านี้
อย่างที่รู้กันโดยทั่วไปว่า
แมลงกับผีเสื้อต่างมีบทบาทสำคัญในการช่วยผสมเกสร แต่นก หรือแม้แต่ค้างคาวก็เป็นผู้ช่วยที่ไม่อาจมองข้ามของพืชเขตร้อนในเมืองไทย
หลายครั้งเราพบเห็นนกวนเวียนอยู่กับดอกไม้ที่ไม่จำเป็นต้องมีกลิ่น
เพราะนกส่วนมากไม่ใช้ประสาทสัมผัสการดม
ทำท่ามุดหัวเข้าไปเพื่อดื่มกินน้ำหวานที่ซ่อนลึกอยู่ภายในดอก นกที่ช่วยผสมเกสรจึงตัวเล็กและมีปากแหลมยาว
ส่วนใหญ่เกสรดอกไม้จะยื่นอยู่เหนือทางเข้าหาน้ำหวาน
เมื่อนกยื่นปากเข้าไปเกสรจะปัดถูกหัวมัน หรือไม่ลำตัวนกก็ต้องเบียดชิดกับเกสร
ทำให้ละอองเรณูติดขนนกไปผสมข้ามกับต้นอื่น
นกจึงทำหน้าที่ทำนุบำรุงพันธุ์ไม้
แล้วยิ่งถ้าต้นไหนมีนกลงเยอะ ๆ ดอกที่ออกช่อแน่น ๆ จะร่วงลงมาเกลื่อนพื้น ซึ่งนกนั่นเองที่ช่วยคัดเอาดอกดี
ๆ ไว้ เพราะช่อดอกที่แน่นเกินไปจะทำให้ผลลีบ ไม่แข็งแรง ขณะเดียวกันต้นไม้ก็ตอบแทนนกด้วยน้ำหวานปริมาณมากและให้พลังงานสูง
ดับกระหายได้อย่างดี โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่นกหาน้ำค้างดื่มยากเช่นในเวลานี้
นกกินปลีดำม่วงมักมาเป็นคู่
ตัวผู้มีสีขนฉูดฉาดกว่าตัวเมีย สีม่วงเหลือบเมื่อสะท้อนแสงแดดดูแวววาวราวกับอัญมณี
สีขนที่สดใสนี้ใช้ในการเกี้ยวพาราสีและประกาศอาณาเขตให้ตัวอื่นเห็น เสียงร้อง “สวิด...สวิด” ที่เล็กแหลมของมันได้ยินมาแต่ไกล เหล่านกกินปลีเป็นนกขนาดเล็กมาก
ปากยาวโค้ง ภายในมีลิ้นยาว ซึ่งมีลักษณะห่อโค้งเข้าด้านข้างคล้ายหลอดกาแฟ
เพื่อสะดวกในการดูดน้ำหวาน
เมื่อเราเห็นนกกินปลี
เราอาจนึกถึงนกยอดนิยมอย่างฮัมมิงเบิร์ด นกทั้งสองชนิดต่างก็เชี่ยวชาญด้านกินน้ำหวานจากดอกไม้เหมือนกัน
ทว่าทั้งนกกินปลีและฮัมมิงเบิร์ดไม่ได้เป็นเครือญาติกันสักนิด
ฮัมมิงเบิร์ดพบในทวีปอเมริกา
ส่วนนกกินปลีพบเฉพาะในแอฟริกาและเอเชียเท่านั้น
สำหรับในประเทศไทยเรามีนกกินปลีอาศัยอยู่ถึง 15 ชนิด เหล่านกกินปลีไม่สามารถกระพือปีกลอยนิ่งกลางอากาศอยู่หน้าดอกไม้เพื่อดูดน้ำหวานได้เป็นเวลานาน
ๆ อย่างฮัมมิงเบิร์ด ซึ่งสามารถกระพือปีกได้เร็วถึง 50 ครั้ง
ต่อวินาที นกกินปลีจึงต้องอาศัยการปีนป่ายดอกไม้และการทรงตัวที่เป็นเลิศ
ขนาดตัวที่เล็กของมันทำให้ต้องเสียพลังงาน
หรือสูญเสียความร้อนมาก ทั้งนกกินปลีและฮัมมิงเบิร์ดจึงต้องหากินตลอดเวลา
มิฉะนั้นมันจะหมดแรงไปเสียก่อน เช่นนี้เราจึงมักเห็นเหล่านกกินปลีกระตือรือร้นวนเวียนแวะเข้าแวะออกดอกไม้ชนิดนั้นชนิดนี้แทบทั้งวันก่อนพลังงานจะหมด
และก็บ่อยครั้งอีกเหมือนกันที่นกกินปลีขโมยน้ำหวานจากดอกเหลืองอินเดียทางลัด
โดยการเจาะรูดูดน้ำหวานจากบริเวณโคนดอก ไม่ยอมเข้าด้านหน้าดอก
ซึ่งจะโดนเกสรเป็นการช่วยผสมพันธุ์ดอก อาจไม่ได้หมายความว่า
นกกินปลีกลายเป็นจอมอู้งานหรืออย่างไร ไม่ยอมทำหน้าที่ผสมเกสร แต่เป็นไปได้ว่า
ดอกเหลืองอินเดีย รวมทั้งดอกไม้อีกหลายชนิด ไม่ได้ออกแบบมาให้นกกินปลีผสม
จึงมีท่อเกสรยาวเกินไปสำหรับปากมัน ทำให้ต้องขโมยกินแบบนั้น
ก่อนดอกไม้จะร่วงโรย
ขอเพียงใส่ใจและชื่นชม ไม่เฉพาะคนปลูกที่เพียรรดน้ำ พรวนดิน แต่ขอบคุณไปถึงมวลมิตรตัวกระจ้อยที่ทำให้โลกสวยงามเสมอด้วยดอกไม้
แมลง ผีเสื้อ ค้างคาว และนก
ซึ่งทำหน้าที่ที่ธรรมชาติมอบหมายมาอย่างไม่เคยขาดตกบกพร่อง และไม่เคยน้อยใจแม้ใครบางคนจะไม่เห็นคุณค่า
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 969 ประจำวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2557)