วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เปิดตลาดน้ำผลไม้ ‘ธนัชญา’ ลุยพม่า



เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม หรือเครื่องดื่มแก้กระหาย ประเภทน้ำผลไม้  Functional Drink เป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่มาโดยตลอด เมื่อปี 2556 ตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านบาท ขณะที่ในท้องตลาดเครื่องดื่มในจังหวัดลำปาง เริ่มมีสินค้าประเภทเครื่องดื่มโลคอลแบรนด์ (ยี่ห้อท้องถิ่น) วางขายหลากหลายขึ้น

เช่นเดียวกับ เครื่องดื่มชา และน้ำผลไม้ยี่ห้อ “ธนัชญา” เป็นผลิตภัณฑ์ถือกำเนิดที่ลำปาง ภายใต้ชื่อสินค้า "ชาไทย" ขายในท้องตลาด ราคาขวดละ 10 บาท  และน้ำผลไม้ เช่น น้ำส้ม บ๊วย มะขาม แคนตาลูป ในราคาขวดละ 5 บาท เริ่มกระจายตลาด วางขายตามตู้แช่ในร้านค้าทั่วไปในลำปาง และจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนั้นยังเป็นสินค้าที่เริ่มรู้จักและเป็นที่ต้องการในตลาดเพื่อนบ้านอย่างพม่า ผ่านช่องทางการค้าด่านชายแดนแม่สาย ท่าขี้เหล็กในขณะนี้

ธนัชญา ชัยชนะสูงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนเฮาส์เบฟเวอเรจ จำกัด เผยว่า จากประสบการณ์ที่เติบโตมาในธุรกิจตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม และไอศครีมเนสเล่ และดัชมิลล์ มานานกว่า 10 ปี คลุกคลีกับการทำตลาดและกระจายสินค้าเครื่องดื่มมามาก ทำให้เห็นช่องทางความต้องการตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ว่า ในท้องตลาดยังมีความต้องการบริโภคสูง จึงสนใจหันมาลงทุนทำธุรกิจเครื่องดื่ม โดยผลิตสินค้าประเภท เครื่องดื่มชาและน้ำผลไม้ เน้นรสชาติและคุณภาพที่ทัดเทียมกับสินค้าแบรนด์ดัง แพคเกจสวย แต่ราคาขายตอบโจทย์สบายกระเป๋าผู้บริโภค เพียง 5- 10 บาท

“จากที่ได้คลุกคลีกับตลาดสินค้าเครื่องดื่ม ทำให้เรารู้ว่ายังมีความต้องการซื้อสินค้าในกลุ่มนี้สูง และในตลาดส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์ดังๆ เช่น ชายี่ห้อต่างๆ ราคาขวดละ 20 บาท ก็ยังมีคนซื้อ โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบดื่มชาขวดมาก จึงเริ่มศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องรอบด้านและหาความรู้การผลิตเครื่องดื่มพาสเจอไรซ์หลายหลักสูตร เพื่อให้ได้ความรู้และหลักการผลิตที่หลากหลาย ในระยะแรกทดลองผลิตระบบครัวเรือน เริ่มต้นจากหม้อต้ม 250 ลิตร บรรจุแบบใช้แรงคน จากนั้นจึงลงทุนซื้อเครื่องจักรผลิตเป็นระบบอุตสาหกรรมขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังลงทุนซื้อเครื่องจักรผลิตน้ำดื่ม RO  และนำน้ำจากระบบ RO มาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเครื่องดื่มผลไม้ต่างๆ ขณะนี้มีสินค้าออกสู่ตลาด 12 ชนิด ยังนับว่าเป็นโรงงานขนาดเล็กและกำลังการผลิตน้อย แต่เรามีแผนจะขยายการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับระบบการตลาดผ่านผู้แทนจำหน่ายทั่วภาคเหนือ ในระยะ 1-2 ปีนี้”


กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนเฮาส์เบฟเวอเรจ จำกัด กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการแข่งขัน และการขยายโอกาสทางการตลาด มั่นใจว่า ประสบการณ์จากการทำธุรกิจตัวแทนและศูนย์กระจายสินค้าให้กับแบรนด์ดัง จะเป็นพื้นฐานที่ดีในการวางรากฐานการตลาดสินค้าแบรนด์ “ธนัชญา” ได้ไม่ยากนัก ขณะเดียวกัน ได้วางรากฐานตลาดในประเทศพม่า โดยส่งสินค้าเข้าไปขายในพม่าผ่านตัวแทนจำหน่ายชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก และ แม่สอด-เมียวดี ซึ่งมียอดขายดีมาก เนื่องจากสินค้ามีรูปลักษณ์สวยงาม รสชาติดี ราคาไม่แพง ถูกใจลูกค้าทุกกลุ่มในพม่า  ขณะเดียวกันกำลังเตรียมแผนงานจะแตกไลน์การผลิตไปในกลุ่มขนมขบเคี้ยว หรือ สแนคไทย ในเร็วๆนี้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 979 ประจำวันที่  23 - 29 พฤษภาคม 2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์