การเมืองก็ทำท่าจะเดินเข้าสู่ทางตัน
เศรษฐกิจก็ตีบตัน การทำมาหากินแบบปกติ ตรงไปตรงมา เริ่มฝืดเคือง
นี่เองที่อาจทำให้วิธีการได้มาด้วยการเสี่ยงโชค เป็นวิถีชีวิตใหม่ในสองเป้าหมาย
หนึ่งคือเพื่อปลดเปลื้องความเครียดจากปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมือง
สองเพื่อหวังจะได้เงินทอง สิ่งของมาแบบง่ายๆ ไม่ต้องลงทุน ลงแรงอะไรมาก และยิ่งการพนันอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว
การลากดึงตัวเองเข้าไปร่วมวงการพนันผิดกฎหมายก็ไม่ยากเย็น
เพราะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น
ทั้งที่ชนชั้นทำงานล้วนแต่ได้เงินเดือนขึ้นจากการปรับค่าแรงมาตั้งแต่ปี 2556 ชนชั้นคนทำงานจึงยังหันหน้าเข้าหาอบายมุข
แสวงหาโชคทั้งใหญ่น้อย จนเด็กหลงทาง และผู้ใหญ่ก็ลืมที่จะทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี
การพนันขันต่อปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ในสายเลือดของคนไทยอย่างที่ว่าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นหวย ซื้อหุ้น พนันบอล แทงสนุ๊ก หรือแม้แต่เสี่ยงดวงเสี่ยงทาย ล้วนมีอยู่คู่สังคมทุกชนชั้นไม่ว่าจะไฮโซหรือโลว์โซ ที่อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พะเยา เชียงใหม่ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร กรุงเทพ ชัยภูมิ สุรินทร์ สระแก้ว และอีกหลายจังหวัดที่เรียกได้ว่ามีปรากฏการณ์ร่วมของ สลากชิงโชค สลากแลกเหล้า-เบียร์ หรือสลากจับเบอร์ สุดแท้แล้วแต่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไรแต่ก็เป็นการกระทำผิดกฏหมายทั้งสิ้น
การมาเยือนของสลากแลกเหล้า-เบียร์ ผิดกฎหมายอย่างไร??
หลายคนอาจจะมองว่า เป็นเพียงการเสี่ยงโชคนิดหน่อยแค่ 2-3 บาท/เบอร์ คุ้มค่าหากโชคดีได้เบียร์
หรือเหล้ายี่ห้อหรูมาชุ่มลิ้น แต่รู้หรือไม่ว่าปัญหานี้ผิดกฎหมายอย่างน้อย 4
ฉบับ!! คือ ผิด พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478
บัญชี ข. เมื่อมีการเล่นพนัน, ผิด
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เมื่อปล่อยปละหรือชักจูงให้เด็กเล่นพนัน,
ผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เมื่อใช้เหล้า - เบียร์เป็นของรางวัลล่อใจให้เล่นพนัน, ผิด พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 เมื่อใช้บุหรี่เป็นของรางวัลแล้วให้เด็กอายุต่ำกว่า
18 ปี เล่นพนัน
สลากแผงหนึ่งมีประมาณ
3,000 เบอร์ จับสลากหนึ่งเบอร์ ราคา 3 บาท แผงหนึ่งสามารถทำเงินได้ราวๆ 9,000 บาท เมื่อเทียบกับต้นทุนเหล้า-เบียร์-บุหรี่
ที่มาล่อผีพนันแล้วหักลบกลบหนี้ แผงนึงกำไรครึ่งต่อต่อครึ่ง
เมื่อเห็นช่องทางกำไรขนาดนี้ กฎหมายจะมาศักดิ์สิทธิ์เหนือความอยากรวยได้อย่างไร
ยิ่งได้แบ่งเงินกันกินแบ่งกันใช้เป็นใบเบิกทาง
ขบวนการสลากเถื่อนยิ่งลิงโลดเพราะธนบัตรล่องลอยไปปิดตาหลายคนจึงทำให้ผู้กระทำผิดกฎหมายหาได้มีความเกรงกลัวไม่
แก๊งค์สลากชิงเหล้า-เบียร์นี้แพร่ระบาดไปในหลายจังหวัดของประเทศไทยแล้วและที่สำคัญมีการกล่าวอ้างว่า
“เคลียร์กับตำรวจแล้วและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว” เรื่องนี้เกิดมานานหลายปีแล้ว
แต่ก็ไม่ได้มีการเข้มงวดกวดขันในการตวจสอบและจับกุมแต่อย่างใด
ลานนาโพสต์เคยติดตามข่าวนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่การแก้ปัญหาโดยผู้พิทักษ์รักษากฎหมายยังน้อยมาก
ทั้งที่ปัญหานี้มีให้เห็นโดยตลอดมีการวางแผงอย่างโจ่งแจ้ง กลางตลาดอัศวิน
ตลาดสนามบิน รวมไปถึงตามตลาดนัดรอบนอก ร้านขายของชำ เมื่อปัญหานี้ถูกนำมาตีแผ่ที
ขบวนการสลากเหล้า-เบียร์ ก็เก็บแผงเงียบไประยะหนึ่ง
หากจะมองว่านี้คือปรากฏการณ์ร่วมที่เกิดเหตุในหลายจังหวัด
จนทำให้ “เฉย” และ “ชินชา” ปล่อยให้เยาวชนเข้าถึงสิ่งผิดกฎหมายและมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ
ก็ต้องยอมรับให้ได้ ว่าเยาวชนจะถูกมอมเมาให้ติดการพนัน ติดเหล้าเบียร์บุรี่ที่เรา “ยอมรับ” จากการเล่นสลากชิงโชค
อาจจะบานปลายเลยเถิดจนเยาวชนติดนิสัยขี้ขโมยเงินทองเพื่อมาเล่นการพนัน
จนก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมได้
ทั้งหมดนี้ก็ต้องโทษที่ “ผู้ใหญ่” ไม่เคยห้ามปราม และยังทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ผู้พิทักษ์กฎหมายไม่เคยใส่ใจจับกุมแก๊งค์สลากชิงโชค การพนันชนิดนี้เยาวชนเข้าถึงได้ง่ายมาก
เพราะปะปนอยู่ในร้านค้า แผงลอย เท่าที่ แร็ค ลานนา เห็นมาร้ายกว่านั้นคือ
ผู้ใหญ่จะเสี่ยงโชคก็จูงลูกหลานเข้ามาด้วย นี่ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก “ทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหากำไรหรือผลประโยชน์ของผู้ใหญ่” หรือเป็นการ “ไม่ปกป้องคุ้มครองเด็ก”
ตราบใดที่แม่ปูยังเดินไม่ตรงทาง
จะหวังให้ลูกปูเดินตรงทางได้อย่างไร
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 978 ประจำวันที่ 16 - 22 พฤษภาคม 2557)