บริเวณห้าแยกหอนาฬิกา
ซึ่งเปรียบดังแลนด์มาร์กของเมืองลำปางเรา คึกคักไปด้วยรถม้าวิ่งไปวิ่งตลอดทั้งวัน
เสียงกุบกับ ๆ ฟังแล้วเพลิน
เมื่อก่อนเรายังเคยเห็นรถม้าจอดให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพคู่กับหอนาฬิกา การถ่ายภาพให้ทั้งตัวเอง
ทั้งรถม้า ทั้งหอนาฬิกา อยู่ในเฟรมเดียวกันคงต้องใช้เวลาเล็งแล้วเล็งอีก
จึงอาจทำให้การจราจรบริเวณนั้นปั่นป่วนได้ เดี๋ยวนี้รถม้าส่วนใหญ่จึงไม่จอดให้นักท่องเที่ยวลงมาถ่ายภาพกันอีก
เส้นทางรถม้าเปิดมุมมองให้นักท่องเที่ยวรู้จักเมืองลำปางกว้าง
ๆ ได้อย่างรวดเร็วและได้บรรยากาศ อย่างน้อยก็มีคนรู้จักแม่น้ำวัง บ้านเสานัก จวนผู้ว่าฯ
กาดกองต้า สวนเขลางค์ ฯลฯ เพิ่มขึ้น เสียดายอยู่อย่างหนึ่งก็คือ
เราไม่มีโอกาสแนะนำตัวเองให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักอย่าง “เข้าใจ”
ทั้งที่บริเวณห้าแยกหอนาฬิกานั้น มีจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งน่าสนใจ
และน่าจะเป็นตัวแทนบอกเล่าถึงเมืองลำปางได้
ภายในอาคารสำนักงานเทศบาลหลังเก่าเป็นที่ตั้งของ
“ปูมละกอน” ซึ่งให้คำนิยามตัวเองว่า “พิพิธภัณฑ์เมืองของชาวลำปาง” เปิดให้บริการตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2554 โดยที่ชาวลำปางหลายคนไม่รู้ ?!?!
เทศบาลนครลำปางสร้างพิพิธภัณฑ์เล็ก
ๆ แห่งนี้ขึ้น เนื่องจากยังไม่เคยมีการเผยแพร่และจัดแสดงเรื่องราวของเมืองลำปางในลักษณะพิพิธภัณฑ์เมืองมาก่อน
มีเนื้อหาแสดงเหตุ ปัจจัย เงื่อนไข
และบทบาทของสิ่งที่กำหนดจิตวิญญาณในแต่ละยุคสมัย เพื่อให้ผู้ชมเห็นตัวอย่างจากอดีต
และเกิดแรงบันดาลใจในการกำหนดทิศทางนครลำปางทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยกลุ่มผู้ชมหลักคือชาวลำปางทุกเพศทุกวัย
แต่เน้นไปที่เยาวชน
ก่อนการเดินชมพิพิธภัณฑ์
เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ดูวีดิทัศน์เกี่ยวกับเมืองลำปาง ถ่ายทำโดยรายการท่องเที่ยวรายการหนึ่งที่มีพิธีกรคือ
แคท รัตติกาล นักร้องคนดังคนลำปาง ผู้ชมจะได้รู้จักเมืองลำปางคร่าว ๆ ผ่านแหล่งท่องเที่ยวเด่น
ๆ อย่างวัดพระธาตุลำปางหลวง อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน บ้านป่าเหมี้ยง และดอยขุนตาน จากนั้นจึงค่อยเดินขึ้นไปบนชั้นสอง
ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการถาวร
ส่วนแรก
“โถงจิตวิญญาณ” พื้นที่ส่วนแรกและส่วนสุดท้ายของการจัดแสดง
ทำหน้าที่แสดงแนวคิดหลักของพิพิธภัณฑ์ กล่าวถึงผู้กำหนดบทบาทและทิศทางของเมืองลำปางในแต่ละยุคสมัย
ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดคำถามและค้นหาคำตอบในเวลาเดียวกัน “เมืองพันปีที่มีเจ้าชีวิต” ส่วนนี้บอกเล่าบทบาทของเจ้าเมืองทางเหนือในอดีต
โดยนำเสนอผ่านตำนานนางสุชาดาและข้อมูลเมืองลำปางโบราณ ๓ ยุคสมัย “สังคมอินเตอร์” แสดงเรื่องราวเมืองลำปางในสมัยรัชกาลที่
5-6 ว่ามีการหลั่งไหลเข้ามาของคนหลากหลายชาติพันธุ์
การทำป่าไม้ และการค้าขายในย่านตลาด “สีสันจากบางกอก” การมาถึงของรถไฟที่ไม่เพียงนำสินค้าจากกรุงเทพฯ มายังเมืองลำปางเท่านั้น
แต่หมายรวมวัฒนธรรมที่ทันสมัยต่าง ๆ จากเมืองหลวงด้วย “การกลับมาของคำสาป” จุดเปลี่ยนทำให้เมืองลำปางที่เคยคึกคักกลับชะงักงันในหลาย ๆ ด้าน
พร้อมกับทิ้งท้ายไว้ว่า หรือนี่จะเป็นไปตามคำสาปของเจ้าแม่สุชาดา และสุดท้ายส่วนของ
“ฮอมแฮงแป๋งเวียง”
แสดงเรื่องราวในยุคปัจจุบันที่มีคนรุ่นใหม่เสนอความคิดเห็นต่าง ๆ อันมีประโยชน์ต่อเมืองลำปาง
ด้วยตระหนักว่า เมืองของเราก็คืออนาคตของเรา
“ปูมละกอน” เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์
ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์-วันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา
แต่โดยทั่วไปแล้วบรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา ส่วนจัดแสดงหลายส่วนก็ยังรอการปรับปรุง
ดูเหมือนนักท่องเที่ยวไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องราวในอดีต
แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม โบราณคดี ถ้าไม่ได้มีชื่อเสียงจริง ๆ
ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล
นักท่องเที่ยวไทยเวลาไปเที่ยวต่างประเทศชอบดูอะไรที่ทันสมัย (ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะบ้านเราไม่มี)
อย่างไปญี่ปุ่นก็อยากนั่งรถไฟชินคันเซ็นที่มันปรู๊ดปร๊าดมากกว่าจะเลือกเนิบนาบอยู่แถววัดเก่าในเกียวโต
จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นวัดวาอารามพากันแปลงโฉมโบสถ์ วิหาร ภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือแม้แต่ลายคำ
จนใหม่เอี่ยมเพื่อเอาใจคณะศรัทธา ไม่เหลือความเก่า ความขลังที่มีคุณค่าไว้บ้างเลย
พิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยบก็พอมีอยู่
โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือนั้น
มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโดยกรมศิลปากรขึ้นที่เชียงใหม่ น่าน และเชียงแสน
โดยมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน
เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกสุดของภาคเหนือ ขณะที่พะเยา แพร่ และลำปางยังเงียบอยู่
โบราณวัตถุของจังหวัดที่ยังไม่มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเหล่านี้
จึงยังคงตกค้างอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย หลายชิ้น สำหรับโบราณวัตถุของบ้านเราก็คือ
ช่อฟ้าวัดพระธาตุเสด็จนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม
จังหวัดไหนที่มีพิพิธภัณฑ์เป็นของตนเองแล้ว ก็ต้องทำให้ร่วมสมัยด้วย
จะได้ไม่ต้องเกิดคำถามว่า อะไรที่ทำให้คนไทยไม่เที่ยวพิพิธภัณฑ์ สาเหตุอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เองที่ทำตัวทึนทึก
หรืออยู่ที่ตัวนักท่องเที่ยวที่ไม่สนใจประวัติศาสตร์รากเหง้า...คำตอบอยู่ที่ไหน
คงล่องลอยอยู่ในสายลมกระมัง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 976 ประจำวันที่ 2 - 8 พฤษภาคม 2557)