วงการศึกษาไทย
ก็วุ่นวายไม่แพ้การเมือง ผลสอบ O-NET ที่ฟ้องความล้มเหลวในการเรียนการสอนยังไม่หนักพอ
U-NET ก็กระโจนเข้ามา สร้างความโกลาหลให้อีกครั้ง
และนี่ก็อาจเป็นข้อหนึ่งที่ควรปฎิรูปการศึกษาไปพร้อมๆกันกับการปฎิรูปการเมือง
โดยที่อาจไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขว่าเลือกตั้งก่อนหรือหลัง
เนื่องเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำทันที ไม่ให้เน่าไปกว่านี้
เราสะท้อนใจกับผล
O-NET
ไปไม่นาน วันนี้ต้องสะท้านกับ U-NET อีก
เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ประกาศผลสอบ O-NET
อย่างเป็นทางการ ผลสอบบ่งบอกถึงคุณภาพการศึกษาระดับประถม มัธยมต้น
และมัธยมปลาย อันยอดแย่
เพราะคะแนนเฉลี่ยฟ้องแบบไม่ต้องเอาไปผ่านเครื่องมือวิเคราะห์ทางสถิติใดๆก็ชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ว่า
“สอบตก” เกือบทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาหลัก คณิต
วิทย์ และภาษาอังกฤษ ที่สำคัญนั่นเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยว่าเราไม่สามารถควบคุมคุณภาพการสอนให้สัมฤทธิ์ผลตามหลักสูตรที่ตั้งไว้
บางทีสิ่งที่ระบบการศึกษาเราพยายามปิดตาข้างเดียว คิดเข้าข้างตัวเองว่าบางอย่างยกเลิกไป
อย่างเช่น
ไม่ลงโทษเด็กด้วยไม้เรียว
อาจลืมไปว่า “รักวัวให้ผู้ รักลูกให้ตี” ไม้เรียวทำให้หลายคนประสบความสำเร็จมาแล้ว
(ตีสั่งสอนไม่ใช่ตีเอาเป็นเอาตาย)
ไม่มีการเรียนซ้ำชั้น
สอบตกก็ทำงานแก้ให้ผ่านๆไป มีระบบการเข้าโรงเรียนแบบพื้นที่ในเขตให้บริการถึงแม้ว่าผลการเรียนจะแย่แค่ไหนก็ตาม
ยังไม่นับถึงกิจกรรมงานกลุ่ม
รายงานที่ผู้สอนยัดเยียดให้ทำโดยไม่อธิบายให้ชัดเจนถึงชิ้นงานที่สั่ง จะหวังให้นักเรียนมโนแล้วทำรายงานให้มีคุณภาพดีแบบนักศึกษามหาวิทยาลัยทำนั้นคงยาก
อีกทั้งยังมีการเรียนภาษาพิเศษเพิ่มเพื่อเตรียมรับ AEC นอกจากนี้ยังมีทัศนศึกษา
กีฬาสีและกิจกรรมภาคสนามของหน่วยงานอีกมากมายที่นักเรียน “ต้อง”
เข้าร่วมกิจกรรม
ไม่นับชั่วโมงสอนที่ครูไม่สามารถเข้าสอนได้
เพราะต้องไปราชการ อบรมสารพัด เพื่อทำตำแหน่งชำนาญการทางการสอน แต่อาจลดหย่อนทางจรรยาบรรณไปบ้าง
เคยมีเด็กมาบอกกับ แร็ค ลานนา ว่าเปิดเทอมมาเป็นเดือนแล้ว
ยังไม่ได้เจอครูสอนเลขเลย
หลายวิชาที่ครูผู้สอนสอนทั้งที่โรงเรียนและเปิดสอนพิเศษส่วนตัว
กั๊กความรู้ เทคนิคการสอนไปสอนเฉพาะที่เรียนพิเศษ แต่ในห้องสอนแค่ตามหลักสูตร จนสถาบันกวดวิชางอกเงยเป็นดอกเห็ด
นั่นหมายความว่า
เด็กเรียนในห้องเรียนไม่เข้าใจ จึงต้องมาติวเพิ่ม
ดังนั้น
หากกระบวนการเรียนการสอน ถูกฟ้องด้วยผลคะแนน O-NET แล้ว
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรต้องหาทางแก้ไข
พัฒนาการเรียนให้ได้ตามเป้าหมายที่ควรจะเป็น อย่างน้อยให้เด็กเหล่านี้มีความรู้ตามวัย
ตามชั้นที่เรียน
เคยมีครูบอกกับ
แร็ค ลานนา ว่า มีเด็กเข้ามาเรียน ปวช.แต่ปรากฏว่าอ่านหนังสือแทบไม่ออก ประสบการณ์ตรงที่
แร็ค ลานนา เจอ เด็กชั้น ม.3 ไม่ห่างไกลจากตัวเมือง ทำคณิตศาสตร์ป.6
ไม่ได้ นักศึกษามหาวิทยาลัยสายวิทย์แก้สมการไม่เป็น ตีโจทย์ปัญหาไม่ได้
ฉะนั้น Calculus ไม่ต้องพูดถึง
จนล่าสุด
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีมติให้จัดทดสอบระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือ
U-NET ในปลายปีการศึกษา 2557 ซึ่งเป็นการประเมินมาตรฐานบัณฑิตและมาตรฐานมหาวิทยาลัย
และจะประสานไปยังนายจ้างให้นำผลการสอบ U-NET เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณารับเข้าทำงานด้วย
โชคดีเหลือเกินที่
แร็ค ลานนา เรียนจบมาแล้ว ไม่เช่นนั้นอาจต้องระทมขมขื่นกับการสอบ
เรียนประถม 6 ปี
สอบเข้าเรียนต่อ ม. 1 เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอีก 3
ปี สอบต่อเข้าเรียนระดับ ม.4 จากนั้นเรียนมัธยมปลายอีก
3 ปี เพื่อเดินหน้าเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ในแต่ละช่วงชั้นเรียน
เด็กเหล่านี้ต้องเผชิญหน้ากับการสอบสารพัด ทั้ง สอบเข้า สอบชิงทุน (สอบกลางภาคและปลายภาคไม่นับ)
สอบ O-NET (ป.6 ม.3 ม.6) GAT PAT นำคะแนนไปสอบ Admission สถาบันแห่งไหนรับสมัครสอบตรง
เด็กก็ต้องแห่ไปเพียงเพื่อหวังให้ได้ร่ำเรียนในสถาบันชั้นนำ เพื่อจบไปจะได้มีหน้าที่การงานที่ดี
แต่ช่วงชีวิตวัยรุ่น
การพัฒนาการด้านอารมณ์กลับถูกกดดันด้วยการสอบ สอบ และสอบ
อีกทั้ง
มาตรฐานการออกข้อสอบ สอดคล้องกับการเรียนที่มอบให้เด็กนักเรียน นักศึกษามากน้อยแค่ไหน
ลำพังแค่ชั้นประถม มัธยม หลักสูตรเดียวกัน หนังสือเล่มเดียวกัน ยังสอนให้สอบตกได้ และทุกปีจะมีคำถามโลกแตก
อย่างคำถาม O-NET ปี 2556 หมวดงานอาชีพและเทคโนโลยี
“สาเหตุที่ชาวยุโรป
ชอบทานแกงมัสมั่นของไทย คือ
1.รสเด็ดเผ็ดจัดจ้าน 2.รสกลมกล่อมคล้ายซุป 3.สีสันสวยสะดุดตา
4.เครื่องเทศหอมครบเครื่อง 5.รสเปรี้ยวเหมือนต้มยำ
เจอแบบนี้จะตอบยังไงดี
แล้วข้อสอบนี้ ก่อนหน้านี้ข้อสอบ O-NET ก็มีปัญหามาหลายครั้ง จริงอยู่หลายข้ออาจจะเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้ชีวิต
แต่ลูกเล่นลูกชนแต่ละครอบครัวที่สอนลูกหลานก็ไม่เหมือนกัน ไม่ได้มีหลักสูตรตายตัว
อย่างปีหนึ่งที่ข้อสอบถามว่า
ถ้าจะซักผ้าต้องแช่ผงซักฟอกนานแค่ไหน ?? บางครอบครัวอาจจะใช้เครื่องซักผ้าตลอด
เป็นระบบอัตโนมัติ ตั้งโปรแกรม บางครอบครัวอาจจะได้ผงซักฟอกคุณภาพดีมากจนแช่ผ้าแป๊บเดียว ฯลฯ
ปัจจัยชีวิตมันหลากหลายจนทำให้คำตอบที่ใช่อาจจะไม่ได้มีเพียงแค่คำตอบเดียว
การสอบ U-NET ก็อาจไม่ใช่คำตอบของการวัดมาตรฐานบัณฑิต
มหาวิทยาลัยท้องถิ่นไม่เว้นแม้แต่ที่ลำปาง
อาจต้องกุมขมับปรับตัวอีกมาก หาก U-NET ถูกนำมาใช้จริง
เพราะนั่นจะเป็นหลักฐาน “ฟ้อง” อย่างดิ้นไม่หลุด
ว่าที่ผ่านมาเป็นแค่การ “หลอก” ตัวเองว่าผ่านการประกันคุณภาพ
สร้างบัณฑิตป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างดีเยี่ยม
แต่ที่แน่ๆก่อนที่จะวัดคุณภาพผู้เรียน
ต้องถามว่า “คุณกล้าสอบ
U-NET” ไหม
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 976 ประจำวันที่ 2 - 8 พฤษภาคม 2557)