วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วิทยุชุมชนระทมหนัก รอออกอากาศนานนับเดือน ล่าสุดกสทช.เลื่อนประชุมไม่มีกำหนด พร้อมตั้งเงื่อนไขอีกเพียบ



วิทยุชุมชนระทมหนัก รอออกอากาศนานนับเดือน ล่าสุดกสทช.เลื่อนประชุมไม่มีกำหนด พร้อมตั้งเงื่อนไขอีกเพียบ  ด้านชมรมสื่อวิทยุฯลำปางเตรียมประชุมสมาชิกหาทางออก หลังจากที่ผ่านมาสร้างความเสียหายทางด้านธุรกิจอย่างมาก ประธานชมรมฯเผยเพียงต้องการทราบว่าจะให้ทำอย่างไร ผู้ประกอบการพร้อมรับนโยบายขอความชัดเจนเท่านั้น ขณะที่ กสทช.โบ้ยรอคำสั่งจาก คสช.

หลังจากที่ กสท.ได้มีมติ ครั้งที่ 23/2557 ออกมาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.57 เกี่ยวกับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชน โดยผู้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ กสท.กำหนดให้ คือผู้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ประเภทกิจการทางธุรกิจ ให้ออกอากาศวิทยุกระจายเสียงไม่เกิน 1 นิติบุคคล ต่อ 1 สถานีเท่านั้น โดยให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของนิติบุคคลจะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่การให้บริการตลอดระยะเวลาการออกอากาศ  ส่วน ประเภทกิจการบริการสาธารณะ ให้ออกอากาศวิทยุกระจายเสียงไม่เกิน 1 นิติบุคคล ต่อ 1 สถานี ต่อ 1 จังหวัด เท่านั้น โดยจะต้องมีการจัดตั้งสาขาของนิติบุคคลในแต่ละจังหวัดที่เป็นเขตพื้นที่การให้บริการ และประเภทกิจการบริการชุมชน ให้ออกอากาศวิทยุกระจายเสียงไม่เกิน 1 สถานี ต่อ 1จังหวัด เท่านั้น

โดยให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการเสนอแนวทางการแสดงความประสงค์ขอออกอากาศวิทยุกระจายเสียงของผู้ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ตามที่ กสท. ให้ความเห็นชอบ ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนพิจารณาออกประกาศหรือคำสั่งให้ผู้ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการออกอากาศได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่ กสท. กำหนด  ดังนั้น ในระหว่างสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามมติ กสท. ขอให้ห้องปฏิบัติการทดสอบ หยุดการตรวจเครื่องส่งฯชั่วคราว เพื่อมิให้เกิดปัญหาความเสียหายอันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายตรวจเครื่องส่งฯของผู้ที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ดังกล่าว และสำนักงาน กสทช. กำลังดำเนินการตรวจสอบผู้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการฯตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นอย่างเร่งด่วน และจัดทำฐานข้อมูลสถานีของผู้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการฯตามหลักเกณฑ์ฯ

สำหรับที่ จ.ลำปางนั้น เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.57 ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ทหาร และ กสทช.เขต 3 ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนฯ ที่ได้รับใบอนุญาตและผ่านการตรวจเครื่องส่งแล้ว นำเอกสารใบอนุญาตและหลักฐานสำคัญต่างๆที่ต้องใช้ประกอบคำร้องพิจารณาทำการออกอากาศ เข้าร่วมประชุมและยื่นเอกสาร ณ สโมสรค่ายสุรศักดิ์มนตรี แต่ปรากฏว่าต้องเลื่อนการประชุมออกไปไม่มีกำหนด

 นายสุริยะพงษ์ ศรีอิ่นแก้ว ประธานชมรมสื่อวิทยุกระจายเสียงจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  ตอนแรกทางกลุ่มวิทยุชุมชนได้รอผลจากมติในที่ประชุมของ กสทช.อยู่ จึงยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในกลุ่ม ซึ่งล่าสุดได้มีการเรียกประชุมผู้ประกอบการไปพบในวันที่ 12 มิ.ย. แต่ตอนนี้กลับมีการเลื่อนประชุมออกไปอีกแบบไม่มีกำหนด ซึ่งบอกตามตรงว่าเรารอไม่ไหวแล้วเพราะไม่รู้ว่าจะให้ทำอย่างไรกันต่อไป

ประธานชมรมสื่อวิทยุกระจายเสียงฯ กล่าวต่อไปว่า ตามที่มติที่ประชุมทราบว่าจะให้ออกอากาศแต่สถานีวิทยุที่มีใบอนุญาตทดลองออกอากาศ ซึ่งบางสถานีก็มีใบอนุญาตแล้ว แต่บางสถานียื่นไปแล้วแต่เรื่องติดอยู่ที่ กสทช.กรุงเทพฯ บางสถานีเครื่องก็ยังไม่ได้ตรวจ ยังมีอีกหลายสถานีที่ยังไม่ได้ดำเนินการเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์  ทางกลุ่มวิทยุชุมชนจึงอยากจะทราบนโยบายที่ชัดเจนและแน่นอนว่าจะให้ทำอย่างไร ถ้าสถานีที่ยังไม่เรียบร้อยควรจะต้องทำอย่างไร เราอยากได้คำตอบ เพราะที่ผ่านมา กสทช.ก็ไม่ดำเนินการอะไรเลย แต่อยู่ๆพอมีรัฐประหาร ก็มาตั้งกฎเกณฑ์หลายอย่างขึ้น ทางกลุ่มวิทยุชุมชนปรับตัวไม่ทัน จะมาขีดเส้นให้ทำในครั้งเดียวคงทำไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องมีขั้นตอนและต้องใช้เวลา อยากให้บอกพวกเราว่าจะเอาอย่างไรให้แน่นอน

เมื่อถามถึงการขับเคลื่อนของชมรมฯ  นายสุริยะพงษ์ กล่าวว่า ทางชมรมฯจะนัดทางสมาชิกเข้ามาพูดคุยปรึกษากันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะตอนนี้เดือดร้อนที่สุด ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าอาคารทั้งหลายที่ต้องใช้จ่ายมากมาย เมื่อไม่ได้ออกอากาศก็เก็บค่าโฆษณาไม่ได้ก็เดือดร้อนกันไปหมด ทางชมรมจะหาข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป

ด้านนายธีรัช เพ็ชรหิน  ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เขต 3 ลำปาง  เปิดเผยว่า ปัญหาเบื้องต้นที่ต้องเลื่อนประชุมกับกลุ่มผู้ประกอบการออกไป คือทางทหารจะนัดทาง กสทช.เขตเข้าไปคุยทำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้รอหนังสือแจ้งมาอย่างเป็นทางการ  ในส่วนของสำนักงาน กสทช. ได้เสนอมติบอร์ดให้ คสช.เพื่อพิจารณาความเหมาะสมต่างๆ เกี่ยวกับวิทยุกระจายเสียงชุมชนว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจาก กสทช.ได้เสนอเรื่องหลังจากประชุมวันที่ 5 มิ.ย.57 ที่ผ่านมา ให้ทาง คสช.ทราบ เพื่อ คสช.จะได้ประกาศคำสั่งออกมา ขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เมื่อไม่มีประกาศออกมาจึงยังทำอะไรไม่ได้ต้องรอกันต่อไป สำหรับการนัดประชุมผู้ประกอบการวิทยุชุมชน จ.ลำปาง วันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ทางทหารเป็นผู้นัดประชุม เมื่อทราบเรื่องทาง กสทช.เขตก็รีบแจ้งให้ทางผู้ประกอบการทราบทันที แต่ปรากฏว่าได้มีการเลื่อนประชุมออกไปไม่มีกำหนด 

นายธีรัช ยังได้กล่าวถึงเงื่อนไข 1 นิติบุคคล 1 สถานี 1 จังหวัด  ว่า  หากมีการจดทะเบียนนิติบุคคลชื่อเดียวกันแต่ออกอากาศในหลายจังหวัด จะให้เลือกออกอากาศจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น เช่นเดียวกับกลุ่มสาธารณะที่จะต้องออกอากาศ 1 นิติบุคคลต่อ 1 สถานีเช่นกัน  ในส่วนกลุ่มชุมชน 1สถานีวิทยุชุมชนต่อ 1 จังหวัดนั้นยังไม่ทราบรายละเอียดและคำขยายความว่าจะมีการคัดเลือกอย่างไร เพราะตอนนี้ทาง กสทช.ได้ส่งเพียงมติในที่ประชุมมาให้ทราบเท่านั้น

ผอ.กสทช.เขต 3  ยังได้กล่าวถึงเรื่องการปิดแล็ปตรวจมาตรฐานเครื่องส่งชั่วคราวว่า  ทางผู้ประกอบการไม่ต้องคิดมากเพราะจะมีการเปิดให้บริการอยู่ แต่ที่ปิดเพราะต้องเคลียร์ข้อมูลในแล็ปให้หมดก่อน และจะเริ่มเปิดให้ตรวจเครื่องใหม่เร็วๆนี้  ขณะนี้อยากให้ทางผู้ประกอบการช่วยกันสอดส่องในเรื่องการขยายสติกเกอร์  พวกเราด้วยกันต้องช่วยเหลือกัน ร่วมกันตรวจสอบหาคนผิด คนที่มาตอกย้ำซ้ำเติมและเอาเปรียบพวกเรา ขณะนี้ได้ให้สายข่าวตรวจสอบอยู่ที่ จ.น่าน  การซื้อมีจริงแต่ไม่ทราบแหล่งที่มา มีเพียงการแจ้งผ่านทางโทรศัพท์แต่ไม่มีเอกสารหลักฐานมายืนยัน

ทาง กสทช.เข้าใจผู้ประกอบการ ทางสำนักงานไม่ได้นิ่งดูดาย พยายามที่จะนำเสนอให้กับ คสช. แต่อยู่ที่ คสช.จะพิจารณาอย่างไร และหาทางออกแบบไหน  ซึ่งในตอนแรกได้ประชุมหาทางออกและเสนอแนวทางตามที่ได้ออกเป็นข่าวไป แต่การประชุมก็ล่ม สรุปแล้วจึงต้องรออีกสักหน่อย สำหรับเงื่อนไขต่างๆคาดว่าจะยังคงเป็นเหมือนเดิม อาจจะมีการปรับเปลี่ยนนิดหน่อย ซึ่งจะมีการประชุมระหว่าง กสทช.และ คสช.ร่วมกันอีกครั้งในสัปดาห์นี้  นายธีรัช กล่าว

ขณะที่ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้รับการร้องขอจากองค์กรสมาชิกบางราย ที่ดำเนินกิจการวิทยุชุมชนควบคู่ไปกับการทำหนังสือพิมพ์ว่า จะมีแนวทางอย่างไร ในการบรรเทาความเดือดร้อนครั้งนี้ เพราะกิจการสื่อโดยเฉพาะในต่างจังหวัด จำเป็นต้องมีรายได้มาจุนเจือ เพื่อความอยู่รอด ประธานสภา นสพ.เห็นว่า กสทช.ควรต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ไม่ควรแก้ปัญหาแบบเหวี่ยงแห ที่ทำให้ผู้ประกอบการที่สุจริตเดือดร้อนไปด้วย 'ผู้ประกอบการ ควรทำหนังสือเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ กับ คสช.โดยตรง สภา นสพ.ยินดีสนับสนุนเต็มที่ เพราะถ้าทุกอย่างคลุมเครือเช่นนี้ ก็จะเปิดโอกาสให้ข้าราชการที่ไม่ซื่อตรง ใช้เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ได้

ทั้งนี้ สำหรับคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 15/2557, ฉบับที่ 23/2557 และฉบับที่ 32/2557 โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการระงับออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับการอนุญาตจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายมาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.57  หลังจากก่อนหน้านี้มีการปลุกปั่นยุยงให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ จนถึงปัจจุบันเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ของการงดออกอากาศแล้ว ซึ่งมีเครือข่ายวิทยุชุมชนในหลายพื้นที่ออกมาเคลื่อนไหวขอให้มีพิจารณาการออกอากาศ เพราะยังมีหลายสถานีที่ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมือง ได้รับความเดือดร้อนจากการระงับการออกอากาศดังกล่าว จนกระทั่งผู้ประกอบการมีความหวังอีกครั้ง หลังจากมติที่ประชุมของ กสทช.ออกมา แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าและยังคงต้องรอผลสรุปกันต่อไป ซึ่งยังไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไรจึงจะออกอากาศได้
           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 982 ประจำวันที่  13 - 19 มิถุนายน 2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์