ขุดพบอิฐโบราณใกล้ศาลหลวงพ่อดำ
กรมศิลปากรเข้าตรวจสอบเบื้องต้น
คาดเป็นฐานของวิหารเก่าของวัดบุญวาทย์ฯ อายุกว่า 500 ปี เร่งส่งหนังสือถึงเทศบาลให้ระงับการก่อสร้างในเขตดังกล่าว ด้าน ผอ.ควบคุมอาคารฯ ลุ้นให้เป็นโบราณสถานจริง
จะบูรณะและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าชมเป็นส่วนหนึ่งของมิวเซียมลำปาง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวลานนาโพสต์ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า
ได้มีการขุดพบฐานอิฐโบราณบริเวณสนามด้านหน้าศาลากลางหลังเก่า
ซึ่งทางเทศบาลนครลำปางอยู่ระหว่างการปรับภูมิทัศน์พื้นที่ดังกล่าว จึงได้เข้าไปตรวจสอบ โดยบริเวณที่ขุดพบอิฐโบราณดังกล่าว
อยู่ห่างจากศาลาที่ประดิษฐานพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือ หลวงพ่อดำ
ไม่มากนัก ซึ่งได้มีการขุดดินลึกลงไปประมาณ 1.50 เมตร ส่วนที่ลึกลงไปจากดินไม่มากจะเห็นว่ามีการก่ออิฐเรียงตัวเป็นชั้นๆเป็นแนวยาวออกไป
โดยก้อนอิฐจะมีลักษณะใหญ่และหนากว่าอิฐที่ใช้ก่อสร้างในปัจจุบัน
หลังจากที่พบแนวอิฐดังกล่าวทางผู้รับเหมาจึงได้แจ้งให้ทางเทศบาลทราบและเข้ามาตรวจสอบ
นายอรรณพ
สิทธิวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมอาคารและผังเมือง
เทศบาลนครลำปาง เปิดเผยว่า เดิมบริเวณดังกล่าวจะก่อสร้างเป็นหอพระหลวงพ่อเกษม
เขมโก แต่เมื่อขุดพบว่ามีอิฐโบราณก้อนใหญ่อยู่ด้านล่าง
จึงได้ประสานไปยังสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน เข้ามาตรวจสอบ
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ศิลปากรสันนิษฐานว่าอาจเป็นซากฐานของโบสถ์
วิหารเก่าของวัดบุญวาทย์วิหาร ซึ่งเป็นวัดหลวงวัดแรกของจังหวัดลำปาง
หากนับตามอายุการก่อสร้างในอดีตก็มีอายุกว่า 500
ปีมาแล้ว จากนั้นทางศิลปากรก็ได้มีหนังสือถึงเทศบาลเพื่อให้ระงับการก่อสร้างในบริเวณดังกล่าว
เพื่อให้นักโบราณคดีเข้ามาตรวจพิสูจน์อย่างละเอียดอีกครั้งว่าพื้นที่ตรงนั้นอดีตเคยก่อสร้างอะไรมาก่อน
จะเป็นวัดตรงกับที่ศิลปากรสันนิษฐานไว้หรือไม่ โดยทางเทศบาลได้นำเชือกไปล้อมกั้นไว้ไม่ให้ดำเนินการในจุดดังกล่าวแล้ว
นายอรรณพ
กล่าวอีกว่า ตอนนี้รอนักโบราณคดีเข้ามาตรวจสอบ
ซึ่งอยากให้เป็นโบราณสถานจริง ทางเทศบาลจะบูรณะและอนุรักษ์ไว้ พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้ามาชม เป็นส่วนหนึ่งของมิวเซียมลำปางที่จะจัดสร้างบริเวณอาคารศาลากลางหลังเก่า
สำหรับวัดบุญวาทย์วิหาร
เป็นวัดโบราณเก่าแก่สร้างมาไม่น้อยกว่า 500 ปี
และเป็นวัดหลวงวัดแรกของจังหวัดลำปาง เดิมชื่อวัดกลางเมือง
เป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้านายมาแต่โบราณ
เมื่อมีการเปลี่ยนเจ้าผู้ครองนคร ก็ได้ทำการบูรณะวัดขึ้นใหม่โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดหลวงไชยสัณฐาน”
ต่อมาสมัยเจ้าบุญวาทย์วงมานิต เห็นความทรุดโทรมลงมากได้ให้รื้อพระวิหารหลวง หอไตร กุฏิ และกำแพงวัดทั้งหมด โดยได้สร้างพระวิหารหลวงหลังหนึ่ง
มีลักษณะเป็นอาคารทึบ หลังคาจั่วฐานสูงกว่าวิหารล้านนา
ตกแต่งภายในด้วยลายไทยภาคกลาง เหลือร่องรอยศิลปะล้านนาอยู่เพียงบางส่วน และให้หล่อพระประธานขึ้นองค์หนึ่ง
ขนานนามว่า "พระเจ้าตนหลวง" และได้รายงานเสนอขอเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า
"วัดหลวงบุญวาทย์บำรุง" และใน พ.ศ.2458 พระธรรมจินดานายก
เจ้าอาวาสและเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง
ได้พร้อมกันนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ถวายวัดหลวงบุญวาทย์บำรุง เป็น พระอารามหลวง
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โดยให้ยกฐานะขึ้นเป็น "พระอารามหลวง"
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้ใหม่ว่า "วัดบุญวาทย์วิหาร"
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 982 ประจำวันที่ 13 - 19 มิถุนายน 2557)