วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คอรัปชั่น ใต้ปีก คสช.



ถึงแม้ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพยายามจัดระเบียบสังคม ให้เป็นสังคมธรรมาภิบาล ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ในหลายเรื่องก็กลายเป็นช่องทางทำมาหากินของทุจริตชน ในคราบเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การขออนุญาตจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชน ที่ต้องไปตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ กระบวนการขออนุญาต รับรองมาตรฐานที่ตั้งสถานี ล้วนเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐกังฉิน เรียก รับ กำหนดเงินค่าตอบแทน ที่เรียกอย่างหรูว่าค่าวิชาชีพ สูงเกินกว่าความเป็นจริงหลายเท่า

นี่เป็นเมล็ดพันธุ์อันชั่วร้าย ที่ยังไม่สามารถกำจัดให้หมดไป

และเป็นเหตุผลสำคัญที่ คสช.ยึดอำนาจ แม้จะไม่ได้ชัดเจน เท่าเหตุผลความแตกแยกในหมู่คนไทย ที่เป็นเหตุเร่งด่วนที่สังคมไทยไม่อาจปฎิเสธก็ตาม

การยึดอำนาจทุกครั้ง สาเหตุสำคัญคือการทุจริต คอรัปชั่น ย้อนหลังไปไม่ไกล เหตุผลสำคัญในการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คือการทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ว่าไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากการยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการส่งต่อการทุจริตของนักการเมืองในตระกูลชินวัตร จากการทุจริตในภาคขนส่ง คมนาคม เช่นการทุจริตมโหฬารในการก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่า มาถึงการทุจริตในภาคเกษตรกรรม เช่น การทุจริตในโครงการจำนำข้าว 

เนื่องเพราะสังคมที่แปลกแยกแตกต่าง ระหว่างคนที่บูชาความเก่ง แต่ไม่รังเกียจคนโกง กับคนที่ยังเห็นว่าการคอรัปชั่นคือเนื้อร้ายของสังคมไทย

ที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้น คือผู้มีอำนาจที่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนส่วนหนึ่ง ได้ใช้ความพยายามในการทำลายระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยการบุกไปปิดล้อมที่ทำการ ป.ป.ช.มีความพยายามที่จะดิสเครดิต กรรมการ ป.ป.ช.พยายามลดทอนความเชื่อถือ ทำให้องค์กรตรวจสอบคอรัปชั่นอ่อนแอ ไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรากฏการณ์เช่นนี้ ดำรงมา 9 ปีแล้ว

อย่างน้อย 9 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า สังคมตกอยู่ในหลุมดำแห่งความขัดแย้ง ร้าวฉานในหมู่คนไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ห้วงระยะเวลานั้น ไม่เพียงบุคคลที่มีอิทธิพลเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น  หากแต่ยังเป็นห้วงเวลาแห่งการทุจริตคอรัปชั่นอย่างมโหฬาร ทั้งในรูปแบบโกงซึ่งหน้า หรือโกงในแบบที่เรียกว่า การคอรัปชั่นเชิงนโยบายด้วย ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือ คนไทยกลุ่มหนึ่ง ยังมีความเห็น มีทัศนคติในแบบ “โกงไม่เป็นไร ขอให้เก่งก็พอ”

ดังนั้น มนุษย์ในแบบทักษิณ ชินวัตร และเครือข่าย จึงเป็นที่เทิดทูนบูชา เป็นที่นับหน้าถือตาในแง่ของผลงาน และนโยบายขายฝันมากมาย แต่ไม่ถูกชี้หน้าจากสังคมด้วยความเดียจฉันท์เหมือนกาลก่อน

หลังยุคทหาร เริ่มต้นด้วยบทบาทนักการเมืองพลเรือน  ยากยิ่งที่นักธุรกิจจะได้มีโอกาสเข้ามาสู่การเมือง  ด้วยบริบทของสังคมที่รังเกียจนักธุรกิจ ระแวงนักธุรกิจว่าจะเข้ามาใช้อำนาจรัฐ ไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและหมู่คณะ แต่ก็มีนักธุรกิจบางคนมีบทบาทเป็นนายทุนพรรค ให้การสนับสนุนพรรค  และด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขัน บางคนก็มีโอกาสเข้าสู่อำนาจ  ครั้งหนึ่งมีปัญหาความขัดแย้งในพรรคกิจสังคม นายพงส์ สารสิน นายทุนพรรคคนหนึ่ง ถึงกับลั่นวาจาว่า “นักการเมืองไม่รู้จัก บุญคุณข้าวแดง แกงร้อน” ปรากฎการณ์ครั้งนั้น ได้นำมาสู่การนิยามนักการเมืองสายพันธุ์ใหม่ โดยนายชวน หลีกภัย ว่า “นักธุรกิจการเมือง”

นักธุรกิจการเมืองคืบคลานเข้ามาในการเมืองทีละเล็ก ทีละน้อย ในที่สุดสังคมไทยก็ลบเลือนทัศนคติที่รังเกียจนักธุรกิจ และกลับมองเห็นว่านักธุรกิจมีความรู้ ความสามารถ ในการบริหารจัดการประเทศ มากกว่านักการเมืองอาชีพ จนกระทั่งทักษิณ ชินวัตร อาศัยสะพานที่ทอดมาจากพรรคพลังธรรม เข้ามาสู่การเมือง  และใช้อำนาจทางการเมืองไปกอบโกยเงินทอง ทรัพยากรของชาติ ไปเป็นของตัวเอง ไม่นานนักอดีตนายตำรวจถือกระเป๋าเดินตามนายปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในยุคหนึ่ง ก็กลายเป็นนักธุรกิจร่ำรวยเป็นหมื่นล้าน และถึงแม้ถูกอายัดเงินไป 4 หมื่นล้าน ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังสามารถเสวยสุขในต่างแดน และใช้เงินทำงานในประเทศไทย  

ในห้วงเวลานั้นเอง องค์การระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นมาเพื่อค้นคว้าวิจัย สาเหตุและสถานการณ์คอร์รัปชั่นในประเทศไทย มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน Transparency International Organization ได้แสดงตัวเลขประเทศที่มีการทุจริต คอร์รัปชั่น อันดับต้นๆ คือประเทศไทย สูงกว่ากัมพูชา ซึ่งเราเคยเชื่อว่ามีอัตราการคอร์รัปชั่นมากที่สุด  ทุกคนรู้ว่ามีการคอรัปชั่นเกิดขึ้น ทุกคนมีความเห็น แต่ความจริงและความรู้ที่จะนำไปสู่การจัดการคอร์รัปชั่นนั้นน้อยมาก

ผมเห็นว่า การจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังอย่างมหาศาล ต้องใช้ความร่วมมืออย่างแข็งขันจากทุกฝ่าย รวมทั้งต้องใช้ความสามารถในการทะลุ ทะลวง เข้าสู่ความจริงให้ได้ เพราะความจริงเท่านั้น ที่คนโกงหวาดกลัว บทบาทในการนำความจริงออกมาจากมุมมืด เป็นบทบาทที่สื่อสามารถทำได้ ด้วยเครื่องมือสำคัญ คือการทำข่าวที่เรียกว่า ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน หรือ Investigative Reporting ซึ่งสื่อไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร โดยเฉพาะในยุคที่สื่อต้องเข้าไปพัวพันกับผลประโยชน์ภาครัฐ ในรูปแบบของการโฆษณา หรือรับจ้างจัดกิจกรรมทางการตลาด event marketing ซึ่งนับเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนรูปแบบหนึ่ง

แม้ฟ้าจะเปิด ผู้นำทหารดูเอาจริงเอาจังกับปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น ข้าราชการระดับสูงที่มีข้อครหาเกี่ยวกับการทุจริต คอรัปชั่น ถูกโยกย้ายออกจากตำแหน่ง แต่ใช่ว่าปัญหานี้จะหมดไปในชั่วพริบตา

ถึงกระนั้น การก้าวไปข้างหน้า แม้เพียงก้าวหนึ่ง ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ก็ย่อมดีกว่าการนิ่งดูดาย หลายภาคส่วน องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) สื่อ ภาคประชาสังคมอื่นๆ ต้องใช้โอกาสนี้ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจนี้ให้สำเร็จ

ผมหวังว่าเปลวเทียนวับแวมวันนี้ จะเป็นไฟส่องสว่างทั่วทั้งสังคมไทยสักวันหนึ่ง
 


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 983 ประจำวันที่  20 - 26 มิถุนายน 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์