เป็น
ที่น่าสังเกตว่า
ในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ
ข่าวการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
การบุกรุกพื้นที่ป่าในจังหวัดลำปางถี่จนผิดหูผิดตา
โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
ที่อยู่ระหว่างเตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ
หากท่านได้ติดตามชม
รายการข่าว 3 มิติ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อคืนวันที่ 10
มิถุนายน 2557 ทหารจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
และเจ้าหน้าที่สำนักจัดจัดการป่าไม้ที่ 3 ลำปาง เข้าตรวจยึดบ้านไม้จำนวน 5 หลังที่สร้างอำพรางตบตาเจ้าหน้าที่ รอการจำหน่าย ที่บ้านไผ่งาม หมู่ 1
ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง รวมทั้งยังพบไม้สักท่อนและไม้กระยาเลยซุกซ่อนอยู่ในบ้านอีกจำนวนหนึ่ง
สิ่งที่น่าตกใจมาก
ก็คือ มีโพยรายชื่อ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และนักข่าว รับส่วยจากนายทุนค้าไม้รายนี้หลายคน
ทำให้สังคมได้รับรู้ว่า
ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดลำปางเป็นเพราะเหตุใด
? เรื่องนี้จึงไม่ควรหยุดอยู่เพียงแค่นี้เป็นแน่นอน...
ตัวแทนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ป่าอำเภอเมืองปานเคยเล่าให้ฟังว่า
“ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเมืองปานเคยรวมตัวกันยึดรถที่กำลังขนไม้ออกจากป่า
แต่ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพื้นที่จากหลายหน่วยเข้ามาขอให้ปล่อย และบอกว่าผู้ใหญ่ขอ
หากถ้าไม่ปล่อยชาวบ้านก็เกรงจะไม่ได้รับความปลอดภัยจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาป่าไม้ในจังหวัดลำปางได้อย่างชัดเจน”
จากการวิเคราะห์สาเหตุของการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าของจังหวัดลำปาง
พบว่ามีกลุ่มนายทุน หรือ ผู้มีอิทธิพลที่หวังผลประโยชน์จากป่าไม้และที่ดินเข้ามาว่าจ้างชาวบ้านในพื้นที่ไปตัดไม้ในป่า
รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อครอบครองที่ดินและที่อยู่อาศัยของราษฎร
ขบวนการค้าไม้ประดู่
ชิงชัน และไม้มะค่าโมง
ทางภาคอีสานถูกปราบปรามอย่างหนักจึงเบนเข็มมาทางภาคเหนือโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดลำปาง
เชียงราย พะเยา และแพร่ ลักลอบตัดและแปรรูปส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ขนขึ้นที่ท่าเรือ
อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ด้วยเพราะความต้องการสูง ราคาไม้จึงสูงตามไปด้วย ราคาไม้ชิงชันอยู่ระหว่าง
กิโลกรัมละ 500 บาท ขึ้นไป ทำให้ราษฎรในพื้นที่กล้าเสี่ยงเข้าไปลักลอบตัด ในลักษณะกองทัพมดนำออกมาส่งต่อให้กับนายทุน
การแก้ไขปัญหา
จังหวัดลำปางได้จัดทำโมเดลการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าและถือครองที่ดินของจังหวัดลำปาง
โดยบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน มีคำสั่งให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง)
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 13 (สาขาลำปาง) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง
จัดตั้งจุดตรวจ สายตรวจ จุดสกัด
ศูนย์ปฏิบัติการในพื้นที่ล่อแหลมต่อการบุกรุกทำลายป่า โดยสนธิกำลังออกลาดตระเวน
และประสานความร่วมมือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่
สืบหาข่าว และเข้าดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิด รวมทั้งเฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟป่าในพื้นที่
แนวทางการปฏิบัติ
ให้ดำเนินการตามคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ผ่อนผันให้ราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติก่อนปี 2541 ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินไปพลางก่อน
โดยให้ชะลอการจับกุมไว้จนกว่าจะมีการตรวจพิสูจน์สิทธิ์ตามระเบียบข้อกฎหมาย และห้ามมิให้มีการบุกรุกเพิ่มเติมโดยเด็ดขาด
ในกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนแล้ว
ทราบว่ามีนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง หรือเข้าข่ายเป็นคดีรายใหญ่ หรือ คดีที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ
ให้จับกุมพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเด็ดขาด
และดำเนินการยึดทรัพย์ตามกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน
และการใช้มาตรการทางภาษีต่อบุคคลดังกล่าว และให้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีอิทธิพล
ผู้กระทำความผิด ขบวนการทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อ ตรวจสอบติดตามพฤติกรรมการกระทำผิด อย่างต่อเนื่อง
หากวิเคราะห์จากมาตรการและแนวทางการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าของจังหวัดลำปาง
จะเห็นได้ว่ามีความครอบคลุมในทุกด้าน
และเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่มีมานานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติอยู่ที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทุกระดับที่อย่างจริงจังแค่ไหน
หากเจ้าหน้าที่รับส่วย ร่วมกระทำผิด หรือแม้แต่เพิกเฉยต่อหน้าที่
เพราะผลประโยชน์เล็กน้อย มาตรการจะสวยหรูแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 982 ประจำวันที่ 13 - 19 มิถุนายน 2557)