วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วันคลื่นเหงา



คล้ายวางยาสลบ แต่ดูเหมือนยาแรงไปจนอาจไม่ฟื้นขึ้นมาอีก สำหรับการปิดวิทยุชุมชน ในนามของการคืนความสุขให้ชาติ ที่กำลังกลายเป็นความเศร้าของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ทำมาหากินสุจริตในสังคมนี้จำนวนไม่น้อย 
จากวันที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 32/2557 เรื่อง ระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชน ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ประกาศ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ซึ่งหมายความว่า สถานีวิทยุท้องถิ่นทั้งหมดทั้งที่มีใบอนุญาตทดลองออกอากาศ และไม่มีใบอนุญาตทดลองต่างต้องหยุดการออกอากาศทันที 
ผ่านไป 3 สัปดาห์ เหล่านักจัดรายการวิทยุ ร่วมไปถึงสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนรายการประจำก็เริ่มพูดคุยกันด้วยความวิตกกังวล เพราะการหยุดออกอากาศเริ่มส่งกระทบต่อธุรกิจ แต่ในความวิตกกังวลนั้นก็ยังพอมีความหวัง เมื่อกองทัพภาค และ กสทช.เขตต่างๆเริ่มส่งสัญญาณและเงื่อนไข ที่จะต้องทำเพื่อให้สถานีวิทยุได้ออกอากาศ นั่นคือ ต้องเตรียมยื่นเอกสารต่างๆไม่ว่าจะเป็น ใบอนุญาตทดลองออกอากาศ (ใบครุฑแดง) ที่ได้รับจาก กสทช. เอกสารจดแจ้งนิติบุคคล กลุ่มบุคคลหรืออะไรก็ตามตามเงื่อนไขที่ได้ยื่นเพื่อขอรับใบอนุญาตทดลองออกอากาศไว้แล้ว 
โดยประเภทกิจการบริการธุรกิจ ให้ออกอากาศวิทยุกระจายเสียงไม่เกิน 1 นิติบุคคล ต่อ 1 สถานีเท่านั้น และผู้ถือหุ้นใหญ่ของนิติบุคคลจะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่การให้บริการตลอดระยะเวลาการออกอากาศ ประเภทกิจการบริการสาธารณะ ให้ออกอากาศวิทยุกระจายเสียงไม่เกิน 1 นิติบุคคล ต่อ 1 สถานี ต่อ 1 จังหวัด เท่านั้น โดยจะต้องมีการจัดตั้งสาขาของนิติบุคคลในแต่ละจังหวัดที่เป็นเขตพื้นที่การให้บริการ ประเภทกิจการบริการชุมชน ให้ออกอากาศวิทยุกระจายเสียงไม่เกิน 1 สถานี ต่อ 1 จังหวัด 
ในขั้นตอนการดำเนินการกลั่นกรอง จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กองทัพภาคและสำนักงาน กสทช.เขต  นอกจากนี้ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตมี-ใช้เครื่องส่งและตั้งสถานี หากไม่มี ก็ต้องผ่านการตรวจมาตรฐานเครื่องและมีเวลาให้ดำเนินการจนเป็นผู้ได้รับอนุญาตภายใน 60 วัน สำหรับผู้ที่ตรวจเครื่องแล้วก่อนหน้า และ 90 วัน สำหรับผู้ที่ยังไม่ดำเนินการตรวจเครื่อง ต้องไม่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ระหว่างนี้หากผู้ที่อยู่ในแวดวงวิทยุชุมชน ติดตามข่าวสาร จะเห็นได้ว่ามีการเข้าตรวจค้นและยึดวิทยุชุมชนที่ลักลอบออกอากาศอยู่ในหลายจังหวัด
นั่นแสดงให้เห็นว่ายังมีคลื่นใต้น้ำก่อตัวภายใต้คลื่นวิทยุ แต่หากมาดูในแง่สถิติข้อมูลจาก กสทช. มีสถานีวิทยุชุมชนที่ได้รับใบอนุญาตทดลองออกอากาศจาก กสทช. มีทั้งสิ้นราว 4,700 สถานี ในจำนวนดังกล่าว หากตัดในส่วนของสถานีวิทยุที่มีชื่อนิติบุคคลผู้ประกอบการซ้ำกันจะเหลือราว 3,500 สถานี ส่วนจำนวนสถานีวิทยุที่ลักลอบออกอากาศแบบผิดกฎหมายโดยไม่มีใบอนุญาตจาก กสทช. มีทั้งสิ้นราว 2,000 - 3,000 สถานี  หรือจากตัวเลขนี้เป็นเหตุผลให้ กสทช. ถือโอกาสทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถูหน้าปัทม์วิทยุจากคลื่นวิทยุที่ไม่เข้าร่องเข้ารอย ที่ไม่ทำตามกฎกติกา
ถ้าเหตุผลเป็นเช่นนี้จริงทุกสถานีวิทยุที่ดำเนินตามกฎกติกามารยาทพร้อมที่จะเข้าใจ แต่กาลเวลาไม่คอยท่า ไฟแนนซ์หนี้สินไม่คอยใคร ดอกเบี้ยไม่มีวันหยุด นักจัดรายการหลายคนทำหน้าที่ให้ความสุขผ่านเสียงเพลงกับผู้ฟังทางบ้านมาจากใจรักทั้งสิ้น รักที่จะมอบเสียงเพลงเพราะๆ นำข่าวสารข้อมูลของภาครัฐเผยแพร่ไปยังผู้ฟัง เป็นช่องทางหนึ่งที่เข้าถึงชุมชนท้องถิ่นได้อย่างใกล้ชิด และยังเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่แม้จะไม่มากจนสร้างฐานะร่ำรวยได้แต่ก็เพียงพอที่จะดูแลคนใกล้ชิด แต่ที่แน่ๆตอนนี้สถานีวิทยุที่อยู่ในกรอบกติกาที่ต้องการจะออกอากาศ เรื่องแรกที่ต้องดำเนินคงไม่พ้น การตรวจสอบมาตรฐานเครื่องส่ง มีประมาณ 16 แห่งทั่วประเทศ แล้วหากสถานี ทั้ง 3,500 แห่ง ต้องการนำเครื่องเข้าตรวจมาตรฐานพร้อมๆกัน อย่างน้อยก็ร่นระยะเวลาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะโกลาหลกันขนาดไหน
จนล่าสุดมีข่าวแว่วมาว่ามีกลุ่มคนฉวยโอกาสหลอกว่าจ่ายเงินครึ่งแสนรับประกันผ่านการตรวจแน่นอน .คนก็กำลังเดือดร้อน ยังมาซ้ำเติมหลอกกันได้....แบบนี้มันน่าให้พี่ทหารจับมาลงโทษเสียให้เข็ด
จะว่าไปแล้ว แร็ค ลานนา ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะขาดเสียงเพลงในที่ทำงาน ส่วนเรื่องผลกระทบไม่ต้องพูดถึง นาทีนี้ก็ได้แต่วิงวอนให้เดินหน้าเรื่องเอกสารเพื่อเหล่าคลื่นวิทยุชุมชนทั้งหลาย จะได้กลับมา คืนความสุขผ่านเสียงเพลงได้เหมือนที่ผ่านมา เพราะหากทิ้งเวลาไปนานกว่านี้ แร็ค ลานนา อาจจะต้องประกาศ Sale ตัวเองพร้อมหนี้สิน ใครสนใจติดต่อด่วน 


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 982 ประจำวันที่  13 - 19 มิถุนายน 2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์