มี คนถามอยู่เสมอในยามที่องค์กรสื่อแสดงจุดยืนเรื่องเสรีภาพผ่านแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึกถึง
หัวหน้า คสช. ว่า สื่อเองยังเป็นปัญหาของสังคม สร้างความร้าวฉานให้เกิดกับคนในชาติ
บางคนทึกทักเอาว่า เพราะสื่อเป็นเช่นนี้เอง สังคมไทยจึงเดินมาถึงวันที่ คนถือปืน
เข้ามาคุมกฎของบ้านเมือง
ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ปรารถนาและพยายามแสดงการต่อต้านในรูปแบบต่างๆ
ทัศนคติและความคิดเช่นนี้
เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะก็มีความจริงอยู่หลายส่วน
แต่เรื่องการยืนยันหลักการเสรีภาพนั้น เป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกับข้อโต้แย้งทั้งหลาย
คำว่าเสรีภาพสื่อ ไม่ได้แปลว่า
เป็นเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ แต่หมายถึงเสรีภาพของประชาชนทั่วไป
ที่สะท้อนผ่านสื่อ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยที่สำคัญ
ผู้ยึดอำนาจในยุคหลัง
พยายามลดทอนถ้อยคำ ไม่ให้สังคมรู้สึกว่าถูกลิดรอนความเป็นประชาธิปไตย
จึงยังคงน้ำเสียงของคำว่าประชาธิปไตยไว้ ทั้งที่โดยเนื้อหาไม่ใช่ประชาธิปไตย เช่น
การยึดอำนาจของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในนามของคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(คปค.) ซึ่งก็เป็นบทเรียนของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุคนี้ด้วย
ที่ต้องการสื่ออย่างตรงไปตรงมา ว่าเข้ามารักษาความสงบด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ
ไม่ต้องห่อหุ้มไว้ด้วยประชาธิปไตย และไม่ดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงคงเหลือเพียงคำว่า
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ดังนั้น การพูดถึงเสรีภาพ ภายใต้กฎอัยการศึก
และสภาพที่รัฐธรรมนูญอันเคยบัญญัติรับรองในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนถูกยกเลิกไป จึงเป็นการพูดถึงในเชิงหลักการว่า
เมื่อสถานการณ์ความจำเป็นในการจัดการปัญหาของบ้านเมืองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ ผ่านพ้นไป
เรื่องของเสรีภาพ ที่เคยเป็นข้อบัญญัติเด็ดขาดในรัฐธรรมนูญ เช่น
การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้
การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมด
หรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้
จะต้องกลับคืนมา และหากมีสื่อใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ใช้เสรีภาพจนเกินขอบเขต
ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานปกติ กฎหมายปกติที่จะจัดการต่อไป
เนื้อหาสำคัญนี้
จำเป็นต้องปรากฏในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว
และรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะประกาศต่อไป
แน่นอนว่า หากจะพูดถึงความผิดพลาด
ล้มเหลวในการจัดการสื่อนอกแถว
โดยเฉพาะสถานีวิทยุชุมชนที่ถูกปิดตายไม่มีกำหนดเวลานี้ จำเลยสำคัญคงเป็น กสทช. ที่ถึงวันนี้
กำลังหันรีหันขวาง จัดการอะไรไม่ได้ ตัดสินใจอะไรไม่ได้ นอกจากรอฟังคำสั่งของ คสช.
ประเทศที่มีอารยะในฝั่งยุโรป
เขามีความเชื่อมั่นในเสรีภาพมาก เช่น ฝรั่งเศส คำขึ้นต้นของรัฐธรรมนูญ ฉบับแรก
เมื่อปี ค.ศ.1791
บัญญัติชัดเจนว่า “เสรีภาพในการสื่อสารความคิด และความคิดเห็น
เป็นสิทธิที่มีคุณค่าของมนุษย์ พลเมืองทุกคน จึงพูด เขียน พิมพ์ได้โดยอิสรเสรี”
ประเทศเยอรมัน รัฐธรรมนูญ ปี ค.ศ.1949”
ทุกคนมีสิทธิ์แสดงออก และเผยแพร่ออกไปอย่างอิสระ เสรี ซึ่งความคิดเห็นของเขา
โดยทางวาจา ทางขีดเขียน และทางรูปภาพ..”
ประเทศเดนมาร์ก รัฐธรรมนูญปี ค.ศ.1915 “ทุกคนมีสิทธิที่จะโฆษณาความคิดของเขาทางหนังสือพิมพ์
ทั้งนี้โดยจะต้องรับผิดชอบต่อการถูกฟ้องร้องต่อศาล
การบังคับให้ส่งเรื่องเพื่อตรวจสอบก่อน
หรือใช้มาตรการที่เป็นการป้องกันไว้ล่วงหน้า ไม่อาจกระทำได้”
ประเทศฟินแลนด์ รัฐธรรมนูญปี ค.ศ.1919 “พลเมืองมีเสรีภาพในการพูด
การพิมพ์ และในการโฆษณาข้อเขียน รูปและเรื่อง โดยไม่ต้องมีอุปสรรค ขัดขวาง หรือส่งเรื่องไปให้ตรวจสอบก่อน”
สำหรับประเทศฟินแลนด์
มีผู้อ่านหนังสือพิมพ์และใช้สื่อออนไลน์อยู่ในกลุ่มสูงสุดในโลก
นอกจากบทบัญญัติรับรองเสรีภาพในรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติเสรีภาพสื่อ
เช่นเดียวกับที่ตัวแทนองค์กรสื่อไทย เคยยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
สำเร็จ เตรียมเสนอสภาพิจารณา แต่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อน
มีอีกหลายประเทศทั้งฝั่งยุโรปและเอเชีย
ที่ถือว่าเสรีภาพคือหัวใจสำคัญ แม้วันนี้เราจะถูกยึดเสรีภาพไปชั่วคราว
แต่ในที่สุดเสรีภาพภายใต้ความรับผิดชอบนั่นเอง
จะเป็นหลักประกันความผาสุกของสังคมอย่างยั่งยืน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 982 ประจำวันที่ 13 - 19 มิถุนายน 2557)