ล้อมรอบไปด้วยทุ่งนาและภูเขาในตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง บ้านวอแก้วตั้งอยู่ในทำเลที่มองเห็นเทือกดอยขุนตานตระหง่านเงื้อม โดยมีม่อนขุมลัวะเป็นยอดเขาที่สันนิษฐานว่าเป็นที่มาของคนบ้านวอแก้ว
ม่อนขุมลัวะเป็นภูเขาที่มีหลุมอยู่เป็นจำนวนมาก และมีก้อนหินขนาดใหญ่อยู่รอบ ๆ หลุม ว่ากันว่าเป็นจุดที่ทหารในกองทัพของพระนางจามเทวี กษัตรีแห่งนครหริภุญไชย ใช้ซุ่มดูข้าศึก เพราะเป็นชัยภูมิที่มองเห็นได้ในระยะไกล ส่วนที่ปรากฏชื่อลัวะนั้น เล่ากันว่า บรรพบุรุษของชาววอแก้วเป็นชนเผ่าลัวะ ส่วนชื่อหมู่บ้านเป็นตำนานสืบเนื่องมาจากวัดพระธาตุป๋อมป๋อดอยแล
วัดพระธาตุป๋อมป๋อดอยแลสร้างขึ้นเมื่อครั้งที่พระนางจามเทวีเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมเจ้าอนันตยศ พระราชบุตร ซึ่งครองเขลางค์นคร โดยได้ทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนสะบ้าหัวเข่า ซึ่งภาษาพื้นถิ่นเรียก “ป๋อมป๋อ” มาด้วย เมื่อขบวนเสด็จมาถึงบริเวณบ้านบก พระนางจามเทวีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะหาที่ที่เหมาะสมเพื่อสร้างที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ทรงหารือกับพระอรหันต์ และทรงเลือกภูเขาแห่งหนึ่งทางทิศตะวันตกของวัดบ้านบกเป็นที่ที่เหมาะสม หลังจากนั้นทรงสั่งให้บรรดาเสนาอำมาตย์จัดสร้างวอ หรือเสลี่ยง ประดับด้วยแก้วทองคำงดงาม สำหรับอาราธนาพระอรหันต์ไปสร้างที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ ภูเขาแห่งนั้น โดยเรียกกันว่า พระธาตุป๋อมป๋อดอยแล
ส่วนชื่อของ “บ้านวอแก้ว” ก็มาจากวอที่ประดับด้วยแก้วทองคำที่พระนางจามเทวีทรงสร้างขึ้นเพื่ออาราธนาพระอรหันต์ไปสร้างพระธาตุป๋อมป๋อดอยแลนั่นเอง
แรกเริ่มเดิมที บ้านวอแก้วไม่ได้เป็นที่รู้จักในฐานะหมู่บ้านท่องเที่ยว แต่จุดเริ่มต้นของการเปิดตัวบ้านวอแก้วก็เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงาน ทั้งนี้ ชาวบ้านวอแก้วส่วนหนึ่งประกอบอาชีพปลูกหญ้าขายเมล็ดเป็นอาหารสัตว์มานาน จนเมื่อปี พ.ศ. 2542 ได้รับคัดเลือกจากศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ลำปางให้เป็นพื้นที่ถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยีด้านอาหารสัตว์ โดยเลือกแปลงนาหญ้าของเกษตรกรในพื้นที่เป็นแปลงสาธิตการผลิตเมล็ดพันธุ์หญ้า ให้ความรู้ตั้งแต่การปลูก การรักษา การทำความสะอาด และการเก็บเกี่ยว
บ้านวอแก้วประสบความสำเร็จในการผลิตเมล็ดพันธุ์และการทำนาหญ้าจนกลายเป็นแหล่งถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่อื่น มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานทั้งชาวบ้านจากชุมชนต่าง ๆ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงนักวิชาการชาวต่างชาติ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2551 นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้เข้ามาฝึกภาคปฏิบัติในหมู่บ้าน จากการลงพื้นที่ของนักศึกษา ทำให้ชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของชุมชนที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ
หลังจากนั้น ด้วยศักยภาพของชุมชนและวิสัยทัศน์ของผู้นำ บ้านวอแก้วจึงได้รับคัดเลือกให้เป็นชุมชนนำร่องของโครงการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดยได้รับการฝึกอบรมในทุก ๆ ด้านเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนแบบโฮมสเตย์ การสำรวจแหล่งท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ รวมถึงการไปศึกษาดูงานเรื่องโฮมสเตย์และการบริหารจัดการท่องเที่ยวจากชุมชนอื่น ๆ เพื่อนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม
นอกจากการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลัก การทำนาหญ้าเพื่อผลิตเป็นเสบียงอาหารสัตว์ ทั้งพันธุ์หญ้าที่เก็บเกี่ยวเมล็ด ทั้งหญ้าสด หญ้าแห้ง และหญ้าหมัก โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพเพียงอย่างเดียว การทำฟาร์มโคนมของที่นี่ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
ชาวบ้านวอแก้วเริ่มรวมกลุ่มเลี้ยงโคนมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ด้วยเงินกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนในโครงการแจกวัวล้านตัวตามนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น เริ่มแรกมีสมาชิก 20 ครัวเรือน มีวัว 20 ตัว เลี้ยงแบบผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแล เมื่อจำนวนสมาชิกลดลง แต่จำนวนวัวนมเพิ่มมากขึ้น กลุ่มโคนมจึงตกลงแบ่งวัวกันแล้วมาทำฟาร์มโคนมของตนเอง แต่ยังคงมีกลุ่มโคนมอยู่เพื่อนำผลผลิตของสมาชิกในกลุ่มไปส่งยังสหกรณ์โคนมนครลำปาง ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลวอแก้ว ไม่ไกลจากหมู่บ้าน
ช่วงปลายฝนต้นหนาว ประมาณเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน เป็นช่วงที่เหมาะสมหากจะเดินเท้าเข้าป่าไปเที่ยวน้ำตกแม่เปิ๊บ น้ำตกเล็ก ๆ ที่ระหว่างทางจะผ่านดงผักกูดริมลำห้วย คนมาเที่ยวจะได้เก็บผักกูดไปแกงกินกันกลางป่า ท่ามกลางบรรยากาศสงบเงียบ เรียบง่าย
บ้านวอแก้วกำหนดธีมในการท่องเที่ยวหมู่บ้านของตนเองว่า “ศึกษาวิถีชีวิต พิชิตดอยภู ดูวัฒนธรรม คุยเฟื่องเรื่องประวัติศาสตร์ กินผักปลอดสาร ศึกษาสมุนไพร สุขใจนวดแผนโบราณ พักบ้านโฮมสเตย์วอแก้ว” น่าสนใจว่าในโมงยามแห่งความวุ่นวายภายนอก บ้านวอแก้วกำลังขับเคลื่อนตัวเองไปอย่างเนิบช้า ทว่ามั่นคง นี่อาจเป็นนิยามแห่งความยั่งยืนที่แท้จริง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 981 ประจำวันที่ 6 - 12 มิถุนายน 2557)