การสั่งปิดวิทยุชุมชน
ชนิดเหวี่ยงแหจนไม่สามารถแยกปลาออกจากน้ำได้ ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง
โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยที่ทำมาหากินสุจริตแบบไม่มีค่าย ไม่มีสีเสื้อ
ไม่มีเรื่องการเมือง ไม่เคยฝักใฝ่ฝ่ายใด
ไม่ว่าจะเป็นใคร
ไม่ว่าฝ่ายปฎิบัติการจะตีความคำสั่งนี้อย่างไร
แต่ก็ไม่ต่างอะไรไปกว่าการปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ
เพราะพวกวิทยุการเมืองที่ไม่สุจริตก็จะมุดลงใต้ดิน ซุ่มซ่อมยาวนานรอวันเอาคืน
ส่วนที่สุจริตก็รอวันตาย สั่งสมความเกลียดชัง
และอาจกลายพันธุ์ไปเป็นฝ่ายตรงข้ามสักวันหนึ่ง
เป็นความจริงที่วิทยุการเมืองมีจริง
และมีการดำเนินการอย่างเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง และก่อนหน้าที่จะมีปัญหาบานปลาย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กสทช. หรือ กสทช.ภาคต่างๆ ควรจะ “ต้องรู้” ว่าคลื่นไหน ช่วงเวลาไหน
ที่มีการออกอากาศโดยมีเนื้อหา เป้าประสงค์ เพื่อต้องการสร้างความขัดแย้ง
แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการเตือนคลื่นที่สร้างปัญหา
ทั้งที่หน้าที่การตรวจสอบติดตามเป็นหนึ่งในหน้าที่หลัก
สถานีวิทยุมีสีถูกปล่อยให้ดำเนินการมาเนิ่นนานหลายปี
มีปัญหาทีหนึ่งที่เก็บตัวเงียบทีหนึ่ง พอเรื่องสงบเริ่มเงียบก็กลับเข้าวงจรเดิม
เหล่านี้เป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามาจากการปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ที่พึงทำ
เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น
การยึดอำนาจการปกครองโดยฝ่ายทหาร วิทยุ โทรทัศน์ทั้งฟรีทีวี ดิจิตอล เคเบิลทีวี
โทรทัศน์ดาวเทียม ต่างมีคำสั่งให้หยุดออกอากาศเพื่อควบคุมสถานการณ์ที่อาจมีการวิพากษ์วิจารณ์
การแสดงความคิดเห็นที่อาจทำให้การควบคุมสถานการณ์ทำได้ยากยิ่งขึ้น จากนั้น 2
วัน โทรทัศน์ช่องฟรีทีวี 3 5 7 9 ทีวีดิจิตอล
บางช่องวิทยุคลื่นหลักก็ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศได้ แต่ต้อง Self Censer ตัวเอง นั่นคือ นโยบายในส่วนกลาง
ย้อนมามองถึงผลกระทบของผู้ประกอบการวิทยุ
ที่ตั้งแต่ต้นปี 2556 ที่ กสทช. ได้จัดระเบียบวิทยุชุมชน
โดยให้ขออนุญาตทดลองออกอากาศ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม นั่นคือ
วิทยุชุมชน วิทยุสาธารณะ และวิทยุธุรกิจ
โดยแต่ละกลุ่มก็มีเงื่อนไขและค่าธรรมเนียมการขออนุญาตทดลองออกอากาศแตกต่างกันไป
จากเดิม
คลื่นวิทยุที่ออกอากาศแบบตามใจฉัน ใครมีทุนมาก
ก็ส่งคลื่นกำลังแรงเบียดทับคลื่นอื่นโดยไม่สนใจข้อกำหนดที่กำหนดให้ใช้เครื่องส่งไม่เกิน
60 วัตต์ เสาสูงไม่เกิน 30 เมตร
แต่เมื่อมีกฏมีข้อกำหนดแต่ไร้เงาผู้คุม
วิทยุทั้งหลายก็จัดหนักจัดเต็มตามกำลังทรัพย์ จากการจัดระเบียบวิทยุชุมชนโดย กสทช.
ทำให้จำนวนคลื่นวิทยุทั่วประเทศที่เคยมีตัวเลขสูงเกือบ 8,000 สถานี ลดลงครึ่งต่อครึ่ง เหลือเพียง 4,709 สถานี
เป็น วิทยุชุมชน 498 สถานี วิทยุสาธารณะ 810 สถานี และกลุ่มวิทยุธุรกิจมีจำนวนมากที่สุด 3,401 สถานี
จังหวัดลำปาง
จากเดิมเคยมีสถานีวิทยุมากกว่าหนึ่งร้อยสถานี เหลือเพียง 68 สถานี โดยแบ่งเป็น วิทยุชุมชน 10 สถานี วิทยุสาธารณะ
12 สถานี และวิทยุธุรกิจมากที่สุด 46 สถานี
โดยผลกระทบจากคำสั่งที่วิทยุระงับการออกอากาศทุกคลื่น
โดยไม่มีกรอบระยะเวลาย่อมส่งผลต่อการประกอบธุรกิจบริการการโฆษณาประชาสัมพันธ์แน่นอน
ผลกระทบนี้ส่งผลไปถึงเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสถานี
นักจัดรายการที่ก่อนหน้านี้ส่วนมากใช้ช่องทางนี้ประกอบอาชีพสุจริต
ให้ความบันเทิงผ่านเสียงเพลง นำสาระความรู้ผ่านถ้อยคำ โดยไม่มีสีเสื้อ
ไม่แสดงออกทางการเมือง
การเหวี่ยงแหสั่งปิดวิทยุ
มากว่าหนึ่งสัปดาห์ กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการประกอบธุรกิจ
อาจจะเป็นการดีกว่านี้ถ้าในพื้นที่มีข้อมูลที่แม่นยำว่าคลื่นไหนแสดงตัวสร้างความแตกแยก
การแก้ปัญหาจะได้ตรงจุดมากกว่า
หรือมีใครคิดจะผลักกลุ่มคนที่สุจริต
ทำมาหากินตามวิชาชีพตรงไปตรงมา ไปอยู่ตรงข้าม
และเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังขึ้นในใจของพวกเขาเหล่านั้น
ตามวันเวลาและความว่างเปล่าที่ถูกทอดระยะเวลาออกไป
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 981 ประจำวันที่ 6 - 12 มิถุนายน 2557)