อยู่ๆ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ก็มีฤทธิ์เดชขึ้นมา หลังจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจการปกครอง สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมหลายแห่ง วิทยุชุมชน ที่ไม่เคยมีพฤติกรรมสร้างความแตกแยกในสังคม ถูกเหวี่ยงแหให้หยุดออกอากาศไปทั้งประเทศ สร้างความเดือดร้อนให้คนเล็กคนน้อยในประเทศนี้ไปทุกหย่อมหญ้า
ความกลัวถูกปกคลุมไปทั่ว
โดยไม่มีใครถามหรือตอบคำถามอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจกว้างขวาง
มีวิธีการจับกุมผู้ที่เห็นต่าง แม้กระทั่งปลอมตัวเป็นคนอื่น
เพื่อเข้าถึงผู้ที่เชื่อว่ากระทำผิด ทั้งที่ยามปกติไม่สามารถทำได้
ความสับสนเรื่องตำรวจปลอม
ตำรวจจริง
ที่เคยเกิดขึ้นในห้วงเวลาก่อนหน้านี้ กลับมาอีกครั้ง เมื่อ มีการพบตำรวจปลอมปลอมตัวเป็นนักข่าวเข้าไปจับกุมผู้ชุมนุมรายหนึ่งในระหว่างการชุมนุมต่อต้านทหารในบางจุดของกรุงเทพ แปลว่า ตำรวจเชื่อว่าเครื่องแบบนักข่าว
ซึ่งมีปลอกแขนสีเขียว พิมพ์ตราสัญลักษณ์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สามารถทำให้ผู้ชุมนุมวางใจ จนกระทั่งตำรวจเข้าไปประชิดตัวได้
ถ้าภาพในคลิปวิดีโอ
ที่แสดงให้เห็นตำรวจนอกเครื่องแบบนายหนึ่งสวมปลอกแขนสีเขียวอ่อน ปะปนไปกับนักข่าว
เป็นภาพจริง ตำรวจจะต้องยุติการกระทำเช่นนั้นทันที
และอาจจำเป็นต้องขอโทษองค์กรสื่อที่ถูกแอบอ้างชื่อนั้นด้วย
แม้จะอ้างว่าเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการปฎิบัติหน้าที่ก็ตาม
มานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพ
และการปฎิรูปสื่อ อธิบายว่า การกระทำเช่นนี้ว่า
อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของนักข่าวในหลายด้าน
“เป็นภาพที่สมาคมนักข่าวฯ
ไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการปฏิบัติการดังกล่าวมีสัญลักษณ์ของสื่อมวลชนไปปรากฏอยู่ด้วย
การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของผู้สื่อข่าวและช่างภาพ
ทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนโดยรวม”
สิ่งที่น่าเป็นห่วง
คือการปฏิบัติงานภายใต้กฎอัยการศึกนั้น เจ้าหน้าที่ซึ่งในพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกหมายถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
สามารถกระทำการใดๆก็ได้ โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา
ฉะนั้นจึงมีเสียงเล่าลืออ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในภาคเหนือบางจังหวัด
ใช้ปืนจี้ให้ผู้มารายงานตัวเซ็นชื่อยอมรับปฎิบัติตามเงื่อนไขก่อนปล่อยตัวไป
กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอย่างเบ็ดเสร็จ
อำนาจนี้จะครอบคลุมถึงตำรวจที่ปฎิบัติการภายใต้กฎนี้หรือไม่ ยังน่าสงสัย
แต่ที่ไม่สงสัย คือวันนี้ตำรวจเป็นผู้ช่วยทหาร
ผิดกับวันที่รัฐบาลก่อนประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ที่ทหารเป็นฝ่ายช่วยตำรวจ
ภายใต้บรรยากาศกฎอัยการศึก
เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือกว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน
รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยฝ่ายอื่นๆมีหน้าที่ต้องปฎิบัติตามคำสั่งของฝ่ายทหาร
เช่น สั่งให้ตำรวจจับกุมตัวผู้ประท้วง คัดค้านการรัฐประหารไปสอบสวน ควบคุมตัว
ที่กองปราบปราม ก่อนส่งให้ทหารไปดำเนินการต่อในเขตอำนาจศาลทหาร การจับกุม
การตรวจค้น การเกณฑ์ การห้าม การยึด การเข้าอาศัย การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่
รวมทั้งอำนาจในการขับไล่ เป็นอำนาจเต็มของฝ่ายทหาร
โดยอาศัยคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีฐานะเสมอกฎหมาย
พูดถึงอำนาจในการห้าม
ไม่ได้แปลว่าถ้าห้ามแล้ว จะต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง เช่น
กรณีวิทยุชุมชนธุรกิจ ที่เป็นเสมือน SMEs ในท้องถิ่น
แม้ว่ากฎหมายจะให้อำนาจไว้ครอบจักรวาลก็ตาม
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก
พ.ศ.2475
ให้อำนาจทหาร ห้ามมั่วสุมประชุมกัน ห้ามออกจำหน่าย
จ่ายแจกซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพ บทหรือคำประพันธ์ ห้ามโฆษณา
แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์
ห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจรว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ
รวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดินด้วย ห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ
เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ
และเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์
พืชหรือทรัพย์สิน
เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไป
แปลว่า สิทธิของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็หมดสิ้นไปด้วย เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง
เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
เสรีภาพในการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมือง
รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน
ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศประชาธิปไตย
ในแง่หลักการ
เราไม่อาจปฏิเสธหลักเสรีนิยมที่ถือว่ามนุษย์ทุกคน มีสิทธิและเสรีภาพตามธรรมชาติ
หรือที่เรียกว่า Natural
Rights ในปญิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
ซึ่งเป็นพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องปฎิบัติตามด้วย บัญญัติไว้ว่า
“ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิดเห็นและการแสดงออก
สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและที่จะแสวงหา
รับ และแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใดๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน”
แน่นอนว่า
ในบริบทสังคมที่แตกต่างกัน ในสถานการณ์ที่ต่างกัน
เราก็ไม่อาจยืนยันหลักการบางอย่างอย่างหัวชนฝา โดยไม่คำนึงถึงความจริงใดๆทั้งสิ้น
แต่ใช่ว่าจะละเลยสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ยิ่งกด ยิ่งบีบ
ยิ่งส่งแรงสะท้อนกลับรุนแรงกว่าหลายเท่า และถ้าเราเชื่อว่าการใช้กำปั้นกำมะหยี่
กับเสรีภาพของมนุษย์เป็นเรื่องที่จะนำผาสุกมาสู่สังคมอย่างยั่งยืน
นั่นเป็นความผิดตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 981 ประจำวันที่ 6 - 12 มิถุนายน 2557)