ขั้นตอนการดำเนินการของบริษัทเขียวเหลือง
อ้างผิดตั้งแต่การทำประชาคมหมู่บ้าน รวมทั้งการขอใช้พื้นที่ป่าไม่โปร่งใส
เสนอให้บริษัทเริ่มต้นใหม่ชาวบ้านจะยอมถอย ด้านเขียวเหลืองครวญลงทุนแล้วร่วม 100 ล้าน ขอความเห็นใจ หากทับซ้อนที่ดินชาวบ้านยินดีชดใช้ค่าเสียหาย ขอให้แก้ไขไปตามที่ผิดพลาด
ยืนยันไม่กลับไปเริ่มใหม่
ด้านรองผู้ว่าฯมอบนายอำเภองาวจัดประชุมในหมู่บ้านอีกครั้ง นำทั้ง 2 ฝ่ายให้ลงพื้นที่จริง เพื่อแก้ไขให้ถูกจุด
-ประชุม 3 ฝ่ายนัดแรก
เมื่อวันที่ 15 ก.ค.57 นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ
รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี
เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรบ้านแหงเหนือ กรณีบริษัทเขียวเหลือง จำกัด
ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ในท้องที่ ต.บ้านแหง อ.งาว ครั้งที่ 1/2557 ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนจากบริษัทเขียวเหลือง และตัวแทนราษฎร
หมู่ 1 และ หมู่ 7 ต.บ้านแหง อ.งาว
รวมจำนวน 30 คน โดยในการประชุมได้เลี่ยงไม่ให้กลุ่มชาวบ้านและบริษัทเขียวเหลืองได้พบกันโดยตรง
ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ให้กลุ่มตัวแทนราษฎร ต.บ้านแหง
เข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่ชาวบ้านประสบอยู่
และบอกถึงความต้องการของชาวบ้านก่อน
-ชาวบ้านแหงยันประชามติไม่ถูกต้อง
น.ส.แววรินทร์
บัวเงิน ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวว่า
ขบวนการขอประทานบัตรในพื้นที่ยังมีปัญหามากมาย อันดับแรกคือการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน
ซึ่งได้มีการประชุม 3 ครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จากนั้นได้มีการประชุมในวันที่ 24 ก.ย.53 จัดโดยที่ว่าการอำเภองาว
เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ให้ชาวบ้านทราบ
โดยมีทั้งกลุ่มที่คัดค้านและไม่คัดค้านไม่ร่วม ซึ่งกลุ่มคัดค้านไม่มีการลงชื่อเข้าร่วมประชุม
แต่เมื่อรายงานการประชุมออกมาปรากฏว่าได้เขียนในรายงานว่า
เห็นชอบกับการทำเหมืองหรือไม่ และมีการใส่รายชื่อชาวบ้านที่เห็นชอบ จำนวน 316 คน ทั้งที่การประชุมวันนั้นบอกว่าเป็นการชี้แจง
และไม่ได้มีการนับจำนวนคนยกมือแต่อย่างใด แต่มีมติออกมาว่าชาวบ้านเห็นชอบแล้ว
การกระทำในตรงนี้จึงเห็นว่าไม่ถูกต้อง ไม่มีความน่าเชื่อถือมาตั้งแต่แรกแล้ว
จึงไม่ต้องการและไม่เห็นด้วย และยังได้นำรายงานการประชุมตรงนี้ไปเข้าประชุมสภา
อบต. วันที่ 28 ก.ย.53
เป็นการประชุมในวาระเร่งด่วน ซึ่งทางสภาก็เห็นชอบโดยอ้างว่าชาวบ้านมีมติเห็นชอบแล้ว
จากนั้นทางบริษัทก็นำมติทั้ง 2 ครั้งไปประกอบการขอประทานบัตร
และคำขออนุญาตป่าไม้
ซึ่งเรายืนยันว่าที่ผ่านมาชาวบ้านกับบริษัทไม่เคยตกลงและสมานฉันท์กัน
ชาวบ้านไม่เคยได้รับการแก้ปัญหาใดๆ
-ขุดแร่ทับที่ทำกิน
ร.ต.ประพันธ์ ธรรมยศ ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ป่าและพื้นที่จะทำการขุดแร่ห่างกัน
700 เมตร สูงกว่าหมู่บ้านประมาณ 100 เมตร
ชาวบ้านวิตกเรื่องป่า เพราะจะมีเส้นทางสู่ที่ทำมาหากิน เส้นทางสาธารณะ ลำห้วย
ถ้าขุดแร่เป็นการก็จะทำลายสิ่งเหล่านี้ ชาวบ้านจะเดือดร้อนในเรื่องการทำมาหากิน ตอนนี้ไม่ได้มีสิ่งใดมายืนยันให้ชาวบ้านได้ว่าถ้าย้ายทางลำน้ำ
ทางสาธารณะ ชาวบ้านจะอยู่ได้หรือไม่
แม้แต่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA
ชาวบ้านก็ไม่เคยเข้าไปมีส่วนร่วมใดๆ ไม่เคยมีใครมาขอความร่วมมือจากชาวบ้านเลย
แต่กลับมีรายงานผลกระทบออกมาแล้ว
-ใบอนุญาตป่าไม้ไม่โปร่งใส
น.ส.แววรินทร์
กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นชาวบ้านยังติดใจเรื่องการออกใบอนุญาตของป่าไม้
เชื่อว่าใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ออกใบอนุญาตตามระเบียบของกรมป่าไม้ในข้อ 8(5) ระบุว่าต้องไม่ขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่ ซึ่งราษฎร หมู่ 1 และหมู่
7 ที่เป็นที่ตั้งของพื้นที่ออกใบอนุญาตยืนยันว่าป่าไม้ไม่มาแก้ปัญหาใดๆ
และชาวบ้านก็ยังมีความขัดแย้งกับบริษัทตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งใบอนุญาตแผ้วทางป่า 1 ปี ทางชาวบ้านได้มีการพูดคุยกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
ปรากฏว่าตามระเบียบป่าไม้เขียนไว้ชัดเจนว่า ใบอนุญาตแผ้วถางป่าจะมีได้ก็ต่อเมื่อได้รับประทานบัตรแล้วเท่านั้น
แต่ที่นี่เป็นที่เดียวของประเทศไทยที่ให้แผ้วถางป่าก่อนได้รับประทานบัตร
ขอให้ป่าไม้หาข้อชี้แจงมาให้ชาวบ้านทราบด้วยว่าเหตุใดถึงออกใบอนุญาตให้
-ยกเลิกประชามติเรื่องจบ
ด้านนางศศิรส
ศรีนวล ตัวแทนชาวบ้าน หมู่ 1 กล่าวว่า
ถ้าสามารถแก้ปัญหามติที่ประชุมในวันที่ 24 และ 28 ก.ย.53 ได้ทุกอย่างก็จบ
เพราะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการอนุญาตจากป่าไม้ ให้มีการขอประทานบัตร
ถ้าแก้ตรงนี้ได้ก็จะแก้ไขข้ออื่นๆได้
-ให้เขียวเหลืองเริ่มต้นใหม่
“เราไม่ได้ว่าถ้าจะขออนุญาตประทานบัตรทำเหมือง
แต่ขอให้ทำให้ถูกขั้นตอน คิดว่าไม่ใช่เป็นเรื่องยากที่จะกลับไปเริ่มต้นใหม่
ให้เพิกถอนใบอนุญาตป่าไม้ มติทั้งหมดออกไป
บริษัทจะทำตามระเบียบแบบแผนที่วางไว้ได้หรือไม่
คิดว่าชาวบ้านรับได้จากการแก้ปัญหาตรงนี้ ดีกว่าจะไปแก้ปัญหาปลายเหตุ
ชาวบ้านต้องการการป้องกันไม่ได้ต้องการการเยียวยา ถ้าจะถอยคนละก้าวพวกเรายินดีถอย
แต่การที่ชาวบ้านจะยอมรับหรือไม่นั้นอยู่ที่ตัวบุคคล ไม่สามารถไปบังคับได้”
กลุ่มชาวบ้านกล่าว
-เรียกเขียวเหลืองชี้แจง
หลังจากที่กลุ่มชาวบ้านให้ข้อมูลแล้ว
ทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดได้เรียกตัวแทนจากบริษัทเขียวเหลือง จำกัด
เข้ามาชี้แจงและให้ข้อมูลต่อทันที โดยนำเสนอข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้ทราบ
ว่าต้องการให้บริษัทได้เริ่มต้นใหม่
ตั้งแต่ขั้นตอนแรกเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจะทำได้หรือไม่
-เขียวเหลืองครวญลงทุนร่วม
100 ล้าน
ด้านตัวแทนจาก
บริษัท เขียวเหลือง จำกัด กล่าวว่า บริษัทมาลงทุนเป็นจำนวนมากแล้ว อยากขอให้ทางชาวบ้านเห็นใจ
ถ้าหากเริ่มต้นใหม่คงจะยาก อะไรผิดตรงไหนอยากให้หามาตรการแก้ปัญหา
ซึ่งทางบริษัทยินดีจะแก้
เรื่องแนวเขตเรายินดีที่จะไปรังวัดใหม่ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
ถ้าทับซ้อนพื้นที่ของชาวบ้านเรายินดีที่จะชดใช้ให้
ชาวบ้านเดือดร้อนอะไรก็ยินดีชดใช้ให้ตามความเป็นจริง
อยากให้แก้ไขสิ่งที่ผิดก็ว่าไปตามผิด หากเริ่มใหม่บริษัทเสียหายมาก
ตอนนี้ก็ลงทุนไป 100 กว่าล้านแล้ว
-ยันทำประชามติถูกต้อง
สำหรับเรื่องการทำประชามติ
บริษัทได้ขอประทานบัตรแปลงที่ 4-8 ได้ดำเนินการตามขั้นตอน
แต่ชาวบ้านได้โต้แย้งมาโดยตลอดว่าประชามติใช้ไม่ได้ จากรายงานการประชุม สภา
อบต.บ้านแหง
ก็สรุปแล้วว่ารายงานการประชุมนำไปเป็นส่วนประกอบในการทำประทานบัตรเหมืองแร่ได้
ซึ่งราษฎรบ้านแหงได้ลงชื่อไว้หลายร้อยคน มีหลักฐานเอกสารทั้งหมด
-ขอใช้พื้นที่ป่าไม้ถูกต้อง
นอกจากนั้นในเรื่องของการประชามติมีการร้องเรียนไปหลายหน่วยงานทั้งทางปลัดอำเภอ
นายก อบต. บริษัทได้ไปแก้ข้อกล่าวหาที่ ป.ป.ช. ศูนย์ดำรงธรรม และผู้ตรวจการแผ่นดิน
ก็สรุปออกมาว่าประชามติใช้ได้
ซึ่งการจัดทำในวันดังกล่าว มีอำเภอเป็นประธานดำเนินการ ทางบริษัทจึงใช้ประชามติดังกล่าวไปขอใช้พื้นที่
สปก.เพื่อทำเหมืองแร่ อีกส่วนก็ไปขอพื้นที่ป่าไม้ เพื่อขอใช้พื้นที่ทำเหมือง
เมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่าพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและเหมาะสมในการทำเหมืองแร่
จึงมีข้อสรุปออกมาส่งไปที่กรมป่าไม้ และได้รับหนังสืออนุญาตตามแบบ ป.ส. 23
ว่าให้บริษัท เขียวเหลือง จำกัด
ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำการเหมืองแร่
-กรรมการสิ่งแวดล้อมให้ข้อเสนอทำ
EIA
ทั้งนี้
ในที่ประชุมได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่า จากการประชุมของคณะกรรมการชำนาญการสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค.56
ได้กำหนดมาตรการไว้เป็นประเด็นหลักที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ
จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการหลักเพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง ให้มีการตั้งคณะกรรมการชุมชนสัมพันธ์
เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ และรับข้อร้องเรียนของชุมชน เงื่อนไขกำหนดให้มีการตั้งกองทุนอย่างน้อย 4
กองทุน คือ
กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชนปีละ 1 ล้านบาท กองทุนพัฒนาชุมชน 1 ล้านบาท กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ ปีละ 5 แสนบาท
และกองทุนฟื้นฟูพื้นที่การทำเหมือง
สำหรับประเด็นเรื่องข้อขัดแย้งที่อยู่ใต้ของพื้นที่
จึงได้กันเส้นทางขนแร่ออกจากทางทิศเหนือ เพื่อเลี่ยงการเกิดปัญหาต่อชุมชน
-รองผู้ว่าฯสั่งลงพื้นที่จริง
นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ
รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการรับฟังปัญหาจากฝ่ายชาวบ้านและฝ่ายบริษัท
ซึ่งประเด็นที่ชาวบ้านไม่ยอมรับในเรื่องการทำประชามติ
และปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่กระทบกับวิถีชีวิตชาวบ้าน
ส่วนทางบริษัทได้ชี้แจงถึงพื้นที่ที่จะดำเนินการและสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
โดยยืนยันว่ายังไม่ได้ทำการใดๆกับพื้นที่ป่า และยังไม่ได้รับอนุญาตทำเหมือง ดั้งนั้นจึงได้มอบหมายให้นายอำเภอจัดการประชุมในพื้นที่
อ.งาว ขึ้นเป็นครั้งที่ 2
เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพื้นที่จริงจะได้รู้ว่าจุดไหนเป็นปัญหา จากนั้นจะมีการประชุมไตรภาคีร่วมกับที่จังหวัดอีกครั้ง
เพื่อรายงานผลความคืบหน้าในการลงพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องหาทางออกร่วมกัน
ทั้งนี้ บริษัท เขียวเหลือง จำกัด
ได้ทำการจดทะเบียนประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.51 ด้วยทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท และวันที่ 9 พ.ค. 56 ได้เพิ่มทุนเป็น 50
ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 282 หมู่ที่ 1 ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคลบริษัท
เกลือเจริญอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ นางสาวนิตศรา อินทรง มีชื่อเป็นคณะกรรมการ
บริษัทนี้เป็นของกลุ่มทุนการเมืองพรรคภูมิใจไทยสายของนายสมศักดิ์
เทพสุทิน มีนายเรืองศักดิ์ งามสมภาค เคยมีตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยคนที่หนึ่ง
นั่งอยู่ในตำแหน่งกรรมการบริษัทและประธานบริษัท ปัจจุบันบริษัท เขียวเหลือง จำกัด
กำลังดำเนินการขออนุญาตใช้ที่ดิน ส.ป.ก.
ในเขตปฏิรูปที่ดินตามที่ประกาศอยู่ในพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน
ในท้องที่ตำบลบ้านร้อง ตำบลปงเตา ตำบลบ้านแหง ตำบลนาแก ตำบลหลวงเหนือ ตำบลหลวงใต้
และตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2552
เพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหินที่บ้านแหง
แต่บริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการขอประทานบัตรจนเกิดความไม่ไว้วางใจจากประชาชนในหมู่บ้านแหงเหนือ
หมู่ 1 และ 7 หลายประการ
จนมีการคัดค้านมาตั้งแต่ปี 53 จนถึงปัจจุบัน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 987 ประจำวันที่ 18 - 24 กรกฎาคม 2557)