พลังงานจังหวัดนำร่องสร้างบ่อก๊าซชีวภาพในฟาร์มโคนมและในครัวเรือนพื้นที่ห้างฉัตร
15 บ่อ ชงงบอำเภอละ 1 แสนบาท
นำต้นแบบเตาระบบชีวมวลผลิตแก๊สหุงต้มลดต้นทุนการผลิตในกลุ่มแม่บ้าน-วิสาหกิจชุมชน
สายธาร ประสงค์ความดี
พลังงานจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ตามภารกิจหลักของสำนักงานพลังงานจังหวัดลำปาง
ดูแลและรับผิดชอบเกี่ยวกับพลังงานทุกด้าน
ตั้งแต่เรื่องของการกำกับดูแลการสำรองพลังงาน ความปลอดภัย ราคาซื้อขาย น้ำมัน ก๊าซ
และเขตไฟฟ้าในพื้นที่ และงานเกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานระดับจังหวัดให้เชื่อมโยงไปยังมิติภาคประชาชน
ชุมชน รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆแล้วยังดูแลด้านการส่งเสริม
พัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานทดแทน
ตามโครงการปีงบประมาณ 2557 เพื่อผลักดันโครงการนำร่องศูนย์เรียนรู้ พลังงานชีวภาพ
(Bio Gas) ซึ่งได้รับงบประมาณพัฒนาจังหวัดลำปาง
จำนวน 1 ล้านบาท ในการก่อสร้างบ่อก๊าซชีวภาพ ในครัวเรือนแบบโดมคงที่ (Fixed Dome) 15 บ่อ โดยโครงการนี้ มุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มเกษตรกร ฟาร์มปศุสัตว์ขนาดเล็ก
และครัวเรือนที่มีการเลี้ยงสัตว์ โดยมีคณะกรรมการระดับจังหวัด คัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพและเหมาะสมตามหลักเกณฑ์
30 ครัวเรือน จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 63 ครัวเรือน เพื่อร่วมโครงการ 1 บ่อต่อ
2 ครัวเรือน ขณะนี้เริ่มก่อสร้างไปแล้วบางส่วนในพื้นที่ตำบลวอแก้ว ต.เมืองยาว
อำเภอห้างฉัตร แบ่งเป็นบ่อในกลุ่มฟาร์มโคนม
6 บ่อ และบ่อในครัวเรือนจำนวน 8 บ่อ
นอกจากนี้ยังได้
ดำเนินโครงการต้นแบบเตาระบบพลังงานชีวมวล ซึ่งใช้เศษวัสดุธรรมชาติ เช่น ซังข้าวโพด
เหง้ามันสำปะหลัง เศษไม้เป็นเชื้อเพลิงที่มีผลผลิตออกมาเป็นพลังงานทดแทน
เป็นแก๊สหุงต้ม (LPG) ปริมาณเท่ากับถัง 15 กก.จำนวน 8
ถัง/เดือน และโมเดลนี้ยังพัฒนาเป็นระบบพลังงานไฟฟ้าได้
ซึ่งขณะนี้ต้นแบบเตาชีวมวลดังกล่าวสามารถนำใช้งานได้แล้ว
และทางมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง โดยสาขาเทคโนโลยีพลังงาน
ได้นำต้นแบบเตาดังกล่าวไปพัฒนาให้ ใช้ก๊าซหุงต้มได้ 5 หัวเตา เหมาะสำหรับ
วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านที่ใช้ก๊าซหุงต้มในกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2558
ได้ของบประมาณพัฒนาจังหวัดในหมวดโมเดลสีเขียว 1.3 ล้านบาท (อำเภอละ 1 แสนบาท)
ดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1เทคโนโลยีชีวมวล ซึ่งจะบูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง
และ กลุ่มช่างเกษียณอายุจาก กฟผ.ที่อาสามาเป็นทีมผลิตเตาระบบชีวมวลตามต้นแบบ
ไปใช้ในพื้นที่ 13 อำเภอที่ผ่านการคัดเลือก
"โครงการเตาระบบชีวมวลที่เราได้ทำขึ้นเป็นโมเดลที่คำนึงถึงการนำไปใช้จริงที่ปลอดภัย
เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดอัตราการเผาในชุมชน สร้างรายได้ในชุมชน เพราะหาก
ในชุมชนที่มีเตาระบบชีวมวล ในชุมชน คนในชุมชน นั้นหรือใกล้เคียง
สามารถนำเศษวัสดุธรรมชาติ มาขายเป็นเชื้อเพลิง หรือ หากมีระบบการจัดการที่ดีแบบ
ชุมชนร่วมใจกัน เช่น โรงอาหารของโรงเรียน หรือวิสาหกิจชุมชน
ช่วยกันหาเชื้อเพลิงมาผลิตแก๊ส ก็จะช่วยให้ลดต้นทุนค่าแก๊สหุงต้ม ได้ปีละเกือบ 1
แสนบาท หากโครงการนำร่อง 13 อำเภอสำเร็จก็ส่งเสริมขยายผลให้
วิสาหกิจชุมชนหรือสถานประกอบการขนาดย่อม รวมถึงชุมชนพื้นที่สูงที่มีการปลูกข้าวโพด
หรือมันสำปะหลัง หันมาใช้เตาระบบชีวมวลเป็นพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเพื่อลดการซื้อแก๊ส
LPG และลดอัตราการเผาในพื้นที่เกษตรได้มาก
" พลังงานจังหวัดลำปางกล่าว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 986 ประจำวันที่ 11 - 17 กรกฎาคม 2557)