วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กรมเจ้าท่าหนุนงบ กว่า 6 ล้าน ขุดลอกแม่น้ำวังปี 58 แก้ปัญหาน้ำตื้นเขิน เน่าเสีย และป้องกันน้ำท่วม


น้ำตื้นเขิน เน่าเสีย และป้องกันน้ำท่วม
หลังจากที่ลานนาโพสต์ได้นำเสนอข่าวแม่น้ำวังซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนลำปางในเขตเทศบาลนครลำปาง ได้ประสบวิกฤต จากการที่น้ำเน่าเสียมีการทิ้งน้ำจากบ้านเรือนและร้านอาหารจำนวนมาก มีสภาพตื้นเขิน  มีสาหร่ายหางกระรอก แหน ผักตบชะวา ผักบุ้ง และสาหร่ายอีกหลายชนิด  แพร่กระจายเต็มผืนน้ำ มีขยะประเภทโฟม ถุงพลาสติก ขวดแก้ว มาติดค้างอยู่จำนวนมาก ซึ่งทางเทศบาลได้แก้ปัญหาด้วยการจัดกิจกรรมบิกคลีนนิ่งเดย์เป็นครั้งที่ 3 ขึ้นไปเมื่อวันที่  1 ก.ค.57 ที่ผ่านมา ทำให้ปัญหาแม่น้ำวังคลี่คลายลง นอกจากนี้เทศบาลยังได้มีการประสานของบประมาณจากกรมเจ้าท่า เพื่อของบประมาณในการขุดลอกแม่น้ำวังในปี 2558  ซึ่งจากการนำเสนอข่าวอยางต่อเนื่อง ล่าสุดกรมเจ้าท่าได้ตอบรับที่จะสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวแล้ว 

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.57  นายอนันต์  แก้ววิเชียร ผอ.ศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 กรมเจ้าท่า พร้อมด้วย นพ.สุรทัศน์ พงษ์นิกร รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการดำเนินการขุดลอกแม่น้ำวัง และการสนับสนุนงบประมาณการขุดลอกในปี 2558  ซึ่งจะดำเนินการในจุดที่ประสบปัญหาแม่น้ำวังตื้นเขินและเน่าเสีย ตั้งแต่หน้าฝายยางเฉลิมพระเกียรติไปถึงสะพานเสตุวารี ระยะทางประมาณ 4.5 กิโลเมตร 

นายอนันต์  แก้ว วิเชียร ผอ.ศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 กรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ทางกรมเจ้าท่าได้มีแผนการจัดสรรงบประมาณดำเนินการในการปรับภูมิทัศน์แม่น้ำ วังทุกปี เพื่อคืนสภาพให้แม่น้ำวังไหลได้ดี  สามารถเก็บกักน้ำได้ในช่วงแล้ง และช่วยระบายน้ำได้ดีในช่วงฝน  อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาการตื้นเขิน และขยายความกว้างของแม่น้ำ จากเดิมกว้าง 40-60 เมตร เมื่อขุดลอกสามารถขยายความกว้างออกไปได้เป็น 80 เมตร ลดการเกิดปัญหาอุทกภัย และการกัดเซาะตลิ่ง โดยเฉพาะจุดทางโค้งของแม่น้ำ และจุดที่มีลักษณะเป็นคอขวด โดยที่ผ่านมา ทางกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการขุดลอกแม่น้ำวังร่วมกับเทศบาลนครลำปางมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 56  เริ่มจากช่วงด้านหลังฝายยางเฉลิมพระเกียรติ(เขื่อนยาง) ไปจนถึงชุมชนบ้านสบตุ๋ย ต.สบตุ๋ย อ.เมือง ระยะทาง 4 กิโลเมตร งบประมาณ 5 ล้านบาท   จากนั้นในเดือน พ.ค. 57 ได้ทำโครงการตั้งแต่ชุมชนบ้านสบตุ๋ยไปจนถึงสะพาน ต.ปงแสนทอง ระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท  และยังได้ดำเนินการในเขต ต.ต้นธงชัยควบคู่กัน งบประมาณ 3 ล้านบาทเช่นกัน  ซึ่งจะแล้วเสร็จช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้  และในเดือน ก.ย.จะมีโครงการขุดลอกต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นธงชัยไปถึงสะพานท่าเดื่อ เขตบ้านนาป้อใต้ ต.ต้นธงชัย อ.เมือง ระยะทางประมาณ 500 เมตร ใช้งบประมาณอีก 6 แสนบาท 

ผอ.ศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 กรมเจ้าท่า  กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามข่าวสารจากสื่อท้องถิ่นของ จ.ลำปาง ซึ่งได้มีการรายงานข่าวการฟื้นฟูแม่น้ำวังอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทางเทศบาลได้มีการของบประมาณขุดลอกมา  ในปี 58  กรมเจ้าท่าจึงได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการขุดลอกแม่น้ำวังในเขตเทศบาลนครลำปางแล้ว  โดยจะเริ่มบริเวณหน้าฝายยางเฉลิมพระเกียรติไปจนถึงสะพานเสตุวารี ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าต้องใช้งบประมาณกว่า 6 ล้านบาท และใช้เวลาดำเนินการประมาณ 6 เดือน  คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือน ก.พ.- มี.ค.58 ซึ่งการขุดลอกในปีแรกแม่น้ำวังจะดีขึ้นแน่นอน แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่การบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องด้วย การขุดไม่ใช่ว่าขุดเพียงครั้งเดียวแล้วจะแก้ปัญหาได้ตลอด ในปี 60 อาจจะต้องเข้ามาทำอีกครั้ง ซึ่งต้องอยู่ที่งบประมาณและความจำเป็นเร่งด่วน 

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนภารกิจให้กับท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินการเอง  นายอนันต์ กล่าวว่า เนื่องจากเทศบาล หรือ อบต.ในพื้นที่ยังไม่มีอุปกรณ์และความรู้ ความเข้าใจในการขุดลอกแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณในการขุด ความลึก ความกว้างต่างๆ เนื่องจากเป็นการทำงานทางเทคนิค จึงไม่สามารถที่จะโอนภารกิจได้  อีกประการหนึ่งคือปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละท้องถิ่นมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงอาจเกิดปัญหาร้องเรียนในพื้นที่ตามมาได้ 

นพ.สุรทัศน์ พงษ์นิกร รองนายกเทศมนตรี  กล่าวว่า  ทางเทศบาลได้ตั้งงบประมาณจากสำนักการช่างไว้ 1 ล้านบาท เพื่อรองรับการในการขนย้ายวัสดุที่ขุดขึ้นจากแม่น้ำวังเป็นค่าน้ำมันรถ ค่าอาหาร และอื่นๆ  ซึ่งดินทรายที่ขุดขึ้นมานั้น หากมีหน่วยงานไหนที่ต้องการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น วัด โรงเรียน ชุมชน ก็สามารถแจ้งความประสงค์เข้ามาได้ ทางเทศบาลจะนำรถขนไปส่งให้  นอกจากนั้นยังมีงบจากกองสวัสดิการสังคม เพื่อสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูรักษาแม่น้ำวังอยู่ 5 แสนบาท   หากได้ขุดลอกแล้วน้ำในแม่น้ำวังจะมีคุณภาพดีขึ้น และยังป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้แน่นอน ถ้าเขื่อนกิ่วลมปล่อยน้ำมาไม่เกิน 220 คิวบิกเมตรต่อวินาที  แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ด้วย 


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 988 ประจำวันที่ 25 - 31 กรกฎาคม 2557)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์