นายไชยันต์ ปราบนคร ผู้จัดการฝ่ายคลังปิโตรเลียมส่วนภูมิภาค
บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวลานนาโพสต์ในโอกาสเดินทามาร่วมพิธีเปิดงาน
ค่ายเยาวชนก๋องปู่จา ปีที่ 12 ณ คลังปิโตรเลียมลำปาง ปตท. เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2557
ว่า ตามที่ ปตท.ได้ร่วมกับจังหวัดลำปางและสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปางจัดโครงการค่ายเยาวชน
ปตท.อนุรักษ์ประเพณีตีก๋องปู่จา มาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 12
นับเป็นกิจกรรมสำคัญที่
ปตท.มีส่วนร่วมในการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้อยู่คู่กับชาวลำปาง
เพราะก๋องปู่จาของลำปาง มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ต้องรักษาไว้
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมด้านความรับผิดชอบสังคมอื่นๆอีก เช่นการสร้างสวนสุขภาพ
พื้นที่ 21 ไร่ติดกับคลังปิโตรเลียมลำปางให้เป็นที่พักผ่อนและออกกำลังกาย
โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้ความรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือน
ทุนการศึกษาและอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
"ในด้านของการดำเนินงานและให้บริการของคลังปิโตเลียมลำปางยังมุ่งเน้นการตอบสนอง
นโยบายTAGNOC (Technological
Advanced and Green National Oil Company)คือมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการใช้เทคโนโลยีและพลังงานที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งนโยบายนี้เชื่อมโยงทุกส่วนทั้งภาคธุรกิจและสังคมสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน"
นอกจากนี้ยังได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีของแนวทางการให้บริการของคลังปิโตรเลียมลำปาง
ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการก้าวเข้าสู่อาเซียน
และแนวทางการพัฒนาศักยภาพของจังหวัดลำปางให้เป็นศูนย์กลางคมนาคม
และการขนส่งหรือโลจิสติกส์ ของภาคเหนือกับเส้นทางสายอาเซียน ซึ่งเรื่องนี้
นายไชยันต์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวมีความเห็นว่าในอนาคตลำปางจะเป็นศูนย์กลางที่น่าสนใจ
เพราะโดยภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงหลายจังหวัดในภาคเหนือ
เช่นเดียวกับที่ตั้งของคลังปิโตรเลียมลำปางซึ่งตั้งขึ้นตามแนวยุทธศาสตร์การทหารที่อาศัยหลักภูมิศาสตร์
สะดวกต่อการคมนาคมขนส่ง แต่ด้วยความเจริญทำให้เกิดชุมชนหนาแน่นใกล้เขตคลังฯ เหมือนว่าปัจจุบันคลังตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนหนาแน่น
แต่ด้วยระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลที่ ปตท.ให้ความสำคัญทุกตารางนิ้ว
ทำให้คลังฯเป็นศูนย์กลางการเก็บน้ำมันและก๊าซที่มีความปลอดภัยสูงเปิดกว้างให้ประชาชนและทุกฝ่ายเข้ามาดูระบบได้อย่างมั่นใจ
"ปตท.เป็นหน่วยงานขั้นปฏิบัติ
แต่นโยบายและการกำหนดราคาถูกกำหนดโดยกระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์
ดังนั้นในฐานะผู้ให้บริการเราให้ความสำคัญทุกเรื่องโยเฉพาะ
สิ่งที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและสิ่วแวดล้อม ในอนาคต ระยะยาว ผมเชื่อว่า
ทางบอร์ดระดับนโยบายจะมีการศึกษาพิจารณาการย้ายคลังปิโตรเลียมลำปาง
เพราะขณะนี้เริ่มมีการศึกษาเส้นทางการวางท่อจากจังหวัดสระบุรี
มาที่กำแพงเพชร
เพื่อรองรับการสำรองพลังงานมายังภาคเหนือ ซึ่งเป็นแผนระดับนโยบาย
ยังอยู่ในขั้นศึกษา สำรวจ ในส่วนของลำปาง
ก็ยังมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องหลายด้าน
รวมถึงโครงการสถานีจ่ายพลังงานขนาดใหญ่
ที่จะรองรับการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ลำปาง
ทางปตท.ก็พอจะได้รับทราบข้อมูลจากจังหวัดลำปางบ้างแล้ว
แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงใดๆก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลความชัดเจนของนโยบาย
จังหวัดว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนอย่างไร
จึงจะมีผลการพิจารณาระดับนโยบายของปตท.ในอนาคตให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน"
นายไชยันต์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในกรณีนี้
มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และหารืออย่างไม่เป็นทางการถึงแนวทางการผลักดันให้เกิดสถานีจ่ายพลังงาน
ทั้งน้ำมัน ก๊าซ LPG และ NGV
เพื่อรองรับศูนย์กลางโลจิสติกส์ หรือขนส่งทางบกที่ลำปางรองรับโอกาสจากการเปิดประชาคมอาเซียน
โดยสถานีจ่ายพลังงานขนาดใหญ่ จะต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 20 ไร่ ส่วนคลังปิโตรเลียมในอนาคต
ในภาคเหนือไม่ว่าจะเป็นพื้นที่จังหวัดใด จะต้องมีพื้นที่รองรับอย่างน้อย 200 ไร่
เพื่อใช้สำหรับระบบคลัง ระบบความปลอดภัยและการสร้างระบบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบคลังฯ
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังเป็นกระเด็นที่อยู่ในความสนใจของคนลำปาง
เนื่องจากยังมีการตั้งข้อสังเกตในด้านความปลอดภัยของคลังปิโตรเลียมซึ่งทาง
ปตท.ระบุว่า หากฝ่ายใดมีข้อมูลหรือสงสัยและต้องการสอบข้อมูลด้านระบบความปลอดภัยในคลังปิโตรเลียมทาง
ปตท.ยินดีเปิดให้เข้าชมระบบความปลอดภัยทุกส่วนเพื่อยืนยันว่า
ความปลอดภัยสูงสุดแม้ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนก็ตาม
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 985 ประจำวันที่ 4 - 10 กรกฎาคม 2557)