วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เกาะติดรถไฟเร็วสูง ชาวบ้านตรวจแนวที่ดิน



เจ้าของที่ดินแห่ฟังรายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูง ขอความชัดเจนเรื่องเส้นทาง เกาะติดสถานการณ์และความชัดเจนเงื่อนไขการเวนคืน 

จาก การสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ของโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะที่ 2 จาก พิษณุโลก-เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2557 ณ โรงแรมเวียงลคอร อ.เมือง จ.ลำปาง มีประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่มีบ้านเรือนหรือที่ดินอยู่ในเขตเส้นทางรถไฟพาดผ่าน ที่ดิน  จาก อำเภอวังชิ้น อำเภอลอง จังหวัดแพร่ และอำเภอแม่ทะ จนถึงอำเภอเมือง ที่มีที่ดินติดแนวเขตรถไฟเดิม มาร่วมรับฟังการชี้แจง ความคืบหน้าของโครงการฯ 

ในที่ประชุมดังกล่าวได้ ชี้แจงผลสรุปการ คัดเลือกเส้นทางของโครงการช่วงพิษณุโลก ถึงเชียงใหม่ มีข้อสรุปว่าส่วนใหญ่เป็นเส้นทางตัดใหม่ โดยมีจุดเริ่มต้นที่สถานีพิษณุโลก เชื่อมกับอีก 5 สถานี คือ สุโขทัย ผ่านอำเภอศรีสำโรง และอำเภอสวรรคโลก มุ่งสู่ สถานีศรีสัชนาลัย ผ่านอำเภอวังชิ้น อำเภอลองจังหวัดแพร่ ผ่านอำเภอแม่ทะ เข้าสู่สถานีลำปาง ผ่านดอยขุนตานเข้าสู่สถานีลำพูน และเชียงใหม่ ความยาว 296 กม. เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในอีก 6 ปีข้างหน้า (ปี 2563 )และใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จอีกประมาณ 6 ปี 

นายชัยวัฒน์  ทองคำ คูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว นสพ.ลานนาโพสต์ ว่า การประชุมชี้แจงความคืบหน้าของโครงการครั้งนี้นับว่าได้รับความสนใจจาก ประชาชนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรภาคธุรกิจเอกชน มีเสียงสนับสนุนและผลักดันให้เกิดโครงการนี้โดยที่คาดหวังจะได้รับประโยชน์ ด้านการพัฒนา และธุรกิจการค้าในอนาคต อีกส่วนหนึ่งคือ ประชาชนที่มีที่ดินอยู่ในแนวเขตเส้นทางรถไฟพาดผ่าน มารับฟังรายละเอียดของโครงการฯในภาพรวมทุกด้าน และหลังจากนี้ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2557 จะเริ่มลงพื้นที่พบกับเจ้าของที่ดินที่ได้รับผลกระทบ เพื่อทำแนวเขตตามเส้นทาง ว่าเส้นทางทั้งหมดผ่านบ้านเรือน ที่ทำกิน วัด ชุมชน และสิ่งสาธารณะประโยชน์ใดบ้าง เพื่อนำไปสู่กระบวนการข้อมูลที่ชัดเจนในการเวนคืนหรือเลี่ยงจุดสำคัญที่เป็น ผลกระทบตามข้อห้ามต่างๆ โดยภาพรวมโครงการนี้ไม่มีจุดที่ผ่านโบราณสถาน แต่มีบางจุดที่ต้องออกแบบและใช้เทคนิคการก่อสร้างพิเศษเพื่อความเหมาะสม เช่น จุดเชื่อมและอุโมงค์ลอด หรือทางยกระดับ 

"ในส่วนของสถานีลำปาง ขณะนี้มีข้อสรุปแล้วว่าจะสร้างขึ้นที่สถานีรถไฟนครลำปางเดิมที่มีอยู่แล้ว สร้างอาคารเพิ่มเติมด้านหลังของอาคารเดิม เพื่ออนุรักษ์ รูปแบบของอาคารเดิมเอาไว้ แต่ก็มีความเห็นเพิ่มเติม ให้ศึกษาและดูพื้นที่สถานีหนองวัวเฒ่า อ.แม่ทะ หรือ ที่อำเภอห้างฉัตร  แต่การศึกษาก็พบว่า สถานีที่ดีที่สุดต้องอยู่ในเขตชุมชนเมืองที่เข้าถึงง่าย ดังนั้นรูปแบบและจุดก่อสร้างของแต่ละสถานี จะแตกต่างกันตามความเหมาะสมของพื้นที่ " 

ขณะที่ประชาชนที่มีที่ดินติดแนวเขตเส้นทางรถไฟพาดผ่านที่มาร่วมประชุม มีความเห็นใกล้เคียงกันว่า ต้องการรับทราบความชัดเจนของโครงการฯ ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อไหร่อย่างไร เพื่อเตรียมตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอาคารบ้านเรือนในแนวเขตเวนคืน อาจจะต้องย้ายและหาที่อยู่ใหม่ ระบุว่า มีข่าวลือมากมายเกี่ยวกับโครงการนี้ ทำให้เกิดความสับสน และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนทางจดหมายเป็นระยะ 

นางไข่แก้ว ปุ๊ดเปียง อายุ 63 ปี ราษฎรบ้านท่าแหน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง หนึ่งในเจ้าของที่ดินทำกินในเขตเส้นทางรถไฟพาดผ่าน เปิดเผยว่า ตนได้รับจดหมายจากโครงการฯให้มารับฟังข้อมูล โดยก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับโครงการนี้เลย จึงตั้งใจมาฟังรายละเอียดทั้งหมด เพราะเท่าที่สอบถามจากหลายฝ่าย ทราบว่าเส้นทางรถไฟจะผ่านบนที่นาและสวนลำไยของตน ยาว 18 ไร่ จึงอยากรู้ว่า หากเป็นเช่นนั้นจะมีแนวทางและเงื่อนไขเวนคืนที่ดินอย่างไร และตนต้องวางแผนเกี่ยวกับที่ดินทำกินต่อไปอย่างไรในอนาคต


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 988 ประจำวันที่ 25 - 31 กรกฎาคม 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์