วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ผ้าทอลำปางล้ำ ย้อมน้ำแร่แจ้ซ้อน



แจ้งเกิดผ้าทอลำปาง ผลการพัฒนาได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ผ้าทอย้อมจากน้ำแร่แจ้ซ้อน และเส้นใยจากใบสับปะรดที่มีเอกลักษณ์ท้องถิ่น นักวิชาการสิ่งทอสุดปลื้ม นวัตกรรมผ้าทอกันยุง สุดทึ่ง

หลังจากเปิดตัวโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองเพื่อเข้าสู่ระบบการรับรองคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ในกลุ่มผู้ผลิตผ้าทอจังหวัดลำปาง มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ล่าสุดในงานแสดงผลการดำเนินงาน เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2557 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าว ลานนาBizweek รายงานว่า ที่ประชุมแถลงผลงานจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองจากกลุ่มทอผ้า 30 กลุ่ม ผลปรากฏว่าเกิดการพัฒนาในเชิงบวกและมีความตื่นตัวในการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าทอในวงกว้าง โดยได้นำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทดลองและพัฒนา เป็นผ้าทอผืนรูปแบบผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ หรือพันคอและตัดเย็บสำเร็จรูปที่นำออกตลาดได้จริงมาจัดแสดง โดยไฮไลท์ที่โดดเด่น คือผ้าทอจากใยสัปปะรด และ ผ้าทอย้อมจากน้ำแร่น้ำตกแจ้ซ้อนซึ่งมีสีสันสวยงาม 

นางจันทร์คำ แก้วมา ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าฝ้ายปั่นมือ ย้อมสีธรรมชาติ ต.เสริมซ้าย อ.เสริมงาม จ.ลำปาง เผยว่า เริ่มแรกเมื่อเข้าร่วมโครงการนี้ยังไม่รู้ว่าทิศทางการพัฒนาจะเป็นแบบไหน เนื่องจากที่ผ่านมาตนและชาวบ้านที่อยู่ในกลุ่มทอผ้าก็ทำกันแบบที่สืบทอดกันมา แต่ไม่เคยเรียนหรือมีคนสอนวิธีการใหม่ๆ แต่โครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการทอผ้าทั้งเรื่อง สี เส้นใย การย้อม และการทอที่มีคุณภาพ รวมถึงเรื่องความต้องการตลาดใหม่ๆ ซึ่งตนเป็นหนึ่งในผู้ทดลองนำใบสับปะรดมาฟอกทำใยผ้า และปั่นเป็นเส้นจนใช้ทอผ้าผืนได้ แม้จะทำยากแต่ได้ก็ผลว่าใยสัปปะรดสามารถนำมาทอเป็นผ้าได้จริง และยังเป็นผลผลิตจากพืชในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังได้แรงบันดาลใจจากการขึ้นเครื่องบินไปดูงานที่หลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  โดยได้ผลิตผ้าทอใยสับปะรดลายเมฆ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาสูงกว่าผ้าทอทั่วไปหลายเท่า
 
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดลำปาง ไปสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเบื้องต้นได้ผลเป็นที่น่าพอใจโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นใหม่จากการนำใยสัปปะรดมาทำเส้นใยแล้วนำมาย้อมและ  นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำแร่จากแจ้ซ้อน มาเป็นส่วนผสมสำคัญของการย้อมสีผ้าซึ่งได้ผลที่น่าประหลาดใจทำให้สีของการย้อมสด สวยงามได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ทั้งนี้ระบุว่า การศึกษาพัฒนาครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาต่อเนื่อง  โดย เฉพาะการถ่ายทอดทักษะสู่คนรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับการนำผู้เข้าร่วมโครงการไปศึกษาดูงาน ที่หลวงพระบาง สปป.ลาว พบว่าคนทอผ้าส่วนใหญ่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนทอผ้า ซึ่งมีส่วนทำให้การทอผ้าในลวดลายสีสันที่มีคุณภาพ แต่คนทอผ้าของลำปางส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะมีปัญหาด้านสายตาและการออกแบบลวดลาย สีสันให้ตรงกับความต้องการตลาดยุคใหม่ ทั้งนี้จะนำสินค้าทั้งหมดที่ได้ไปแสดงและจำหน่ายในงานระดับประเทศ

ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผอ.ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยี สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เผยว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการพัฒนาครั้งนี้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆในด้านสิ่งทอที่เกินความคาดหมาย จากโจทย์ของการนำเรื่องราวและความเป็นตัวตนของลำปางเข้ามาใส่ในการออกแบบผ้าทอรูปแบบต่างๆ เช่น การนำน้ำแร่จากแจ้ซ้อนซึ่งเป็นสิ่งที่ได้จากธรรมชาติ มาเป็นน้ำผสมกับสีย้อม ทำให้ได้สีที่มีความสดใส แม้จะย้อมด้วยสีอ่อนๆไม่จัดจ้านก็ตาม และที่น่าทึ่งที่สุดคือ ผ้าทอที่มีส่วนผสมของตะไคร้ ได้ผลเป็นผ้าคลุมไหล่ที่มีกลิ่นหอมของตะไคร้ได้ประโยชน์ในการกันยุง เมื่อซักไปเรื่อยๆก็จะหมดฤทธิ์ของกลิ่นกันยุง นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างจุดขายทางการตลาดได้มาก 

"จากเดิมที่เรากังวลว่าลำปาง เป็นเมืองที่ไม่โดดเด่นชัดเจนเรื่องการทอผ้า มาถึงตอนนี้เห็นผลว่า เริ่มมีการสร้างจุดเด่นและค้นหาตัวตน และอัตลักษณ์ของผ้าทอลำปางได้ชัดเจนขึ้น แต่อุปสรรค คือ กลุ่มทอผ้าต่างๆ มีความต่างกันด้านฝีมือค่อนข้างมาก คนที่เก่งก็เก่งเลย แต่คนที่ไม่เก่งต้องอาศัยการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องเชื่อว่า จะมีผ้าทอที่โดดเด่นสร้างรายได้และชื่อเสียงของลำปางได้" ดร.ชาญชัยกล่าว

ด้าน นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า โครงการนี้ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ของลำปาง ซึ่งต้องส่งเสริมให้เกิดการเกาะกลุ่มกันให้เหนียวแน่น และทบทวนพัฒนาให้นำสินค้าออกสู่ตลาดได้อย่างยั่งยืน โดยจังหวัดจะสนับสนุนให้มีการพบปะกันระหว่างกลุ่มทอผ้าต่างๆ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนพัฒนาร่วมกันต่อเนื่องต่อไป


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 992 ประจำวันที่ 22 - 28 สิงหาคม 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์