ถ้าบังเอิญ 11 ด้าน
ที่เป็นหัวใจของการปฎิรูปประเทศ ไม่ได้รวมถึงการปฎิรูปสื่อสารมวลชน
พวกเราก็คงไม่มีภาระหนักในการทำการบ้านเท่าวันนี้ ปฎิรูปสื่อสารมวลชน หรือการปฎิรูปสื่อนั้น
พูดกันมาเนิ่นนาน
แม่น้ำสายแรกของการปฎิรูปสื่อ
ที่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง
ก็คือการปฎิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นผลมาจากการถอดบทเรียน
ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ในขณะที่การปฎิรูปสื่อหนังสือพิมพ์
เริ่มมีคำถามมากขึ้น เมื่อเกิดการเคลื่อนย้ายทุนขนาดใหญ่
เข้าไปยึดครองกองบรรณาธิการ ผ่านงบโฆษณาที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจ
รวมทั้งการโฆษณาภาพพจน์นักการเมือง ผ่านงบประมาณโฆษณาภาครัฐ
รัฐธรรมนูญฉบับปี
2540
ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการปฎิรูปสื่อ
ด้วยบทบัญญัติครั้งแรกในมาตรา 40
“คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์
และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่
และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การดำเนินการต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น
ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น
รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม”
แต่แล้ว เมื่อมี กสทช.ขึ้นมาทำหน้าที่จัดสรร คลื่นความถี่ และกำกับ ดูแล
โดยที่การรับรู้ และเชื่อมโยงประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง
ต้นกระแสธารของการปฎิรูปสื่อ บางเบามาก แนวคิด ปรัชญาของการปฎิรูปสื่อก็เปลี่ยนไป
โดยมีผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐ และการแข่งขันช่วงชิงคลื่นความถี่ด้วยเงินมหาศาลเป็นเป้าหมายหลัก
ความไร้ประสิทธิภาพที่เห็นชัดเจนมากที่สุด คือการจัดการเรื่องวิทยุชุมชน
ในฐานะองค์กรหลักในการสื่อสาร กสทช.ล้มเหลวมากที่สุดในการสื่อสาร
เมื่อผนวกกับเจ้าพิธีกรรม เช่น ทหารในพื้นที่
ซึงในยามปกติไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใดเลย
ก็เสนอตัวเข้ามาเป็นผู้ร่วมจัดระเบียบ ที่มีแต่รูปแบบ แต่ไร้เนื้อหา
และหลงลืมไปว่า คลื่นความถี่นั้นเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ
มิใช่เพื่อประโยชน์นการโปรปะกันดา
กสทช.จึงเป็น องค์กรซ่อนเงื่อน ที่ต้องปฎิรูป เพื่อเรียกคืนสิ่งที่ล้ำค่านี้กลับมาให้ได้
นอกจาก กสทช.ที่ทำให้กระบวนการปฎิรูปถูกบิดเบือนไป
ความเปลี่ยนแปลงของสื่อก็เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องวิเคราะห์
และแปรผลออกมาเป็นการปฎิบัติอย่างจริงจังด้วย
ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ หรือ Media Landscape ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ความรู้ใหม่ทางด้านการสื่อสารที่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ
ผู้บริโภคข่าวสาร ก้าวตามไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในแง่ของการบริหารจัดการ สื่อได้พัฒนาการจากกิจการขนาดเล็กไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม
ที่มีเป้าหมายในเชิงธุรกิจมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงาน จาก Single
Newsroom มาสู่ Convergence Newsroom เพื่อตอบสนองการส่งข่าวสาร ข้อมูล หลายแพลตฟอร์ม
ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพ เปลี่ยนสถานะจาก “นักข่าว” เป็นเพียง “คนงาน”
ในโรงงานอุตสาหกรรมข่าว กองบรรณาธิการซึ่งควรมีความเป็นอิสระ
ก็ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนธุรกิจ
ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ และธุรกิจ
ส่งผลกระทบต่อการทำงานตามหลักการและจริยธรรมวิชาชีพของสื่อสารมวลชน
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร
ที่ก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัล ไม่เพียงเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
ต้องทำงานเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจ
ซึ่งในหลายครั้งมีส่วนสำคัญในการละเมิดจริยธรรมเท่านั้น หากแต่เทคโนโลยีการสื่อสาร
ยังกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ
รวมทั้งผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ใช้เป็นสื่อที่สร้างความแตกแยก ร้าวฉาน
ให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทยอีกด้วย สื่อเหล่านี้ได้ใช้เสรีภาพโดยปราศจากความรับผิดชอบ
อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญถ่ายทอดวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech อันจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในที่สุด
เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม
– พฤษภาคม 2553
และช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 – พฤษภาคม 2557
ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสียในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน
และเจ้าหน้าที่รัฐ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกร้าวลึกของสังคมไทย
ซึ่งสื่อมวลชนมีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง
และเร่งเร้าให้ใช้ความรุนแรง ทั้งที่เป็นสื่ออาชีพ สื่อของกลุ่มการเมือง
และประชาชนทั่วไปที่ใช้สื่อออนไลน์ นอกจากนั้นสื่อของรัฐ
ยังตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการโฆษณาชวนเชื่อ และเลือกนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร
ที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลด้วย
โจทย์ข้อใหญ่ทั้งหมดนี้ ต้องใช้เวลาพอสมควร
แต่ที่สำคัญหมดเวลาบ่น และเสนอเพียงแนวคิดปฎิรูปเลื่อนลอยเท่านั้น
หากจะต้องมีเครื่องมือ มีวิธีการที่จะทำให้เกิดผลอย่างจริงจัง
และต้องอดทนฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนร่วมวิชาชีพ
เพื่อก้าวข้ามไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า นั่นคือการปฎิรูปสื่อที่ยั่งยืน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 989 ประจำวันที่ 1 - 7 สิงหาคม 2557)