วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

เล็งเกาะคา 500 ไร่ ฮับโลจิสติกส์เหนือ


ชี้เป้าที่ดินธนารักษ์ เกาะคา 500 ไร่ สร้างศูนย์กลางการเชื่อมโยงสินค้าและบริการทางบกของภาคเหนือ หัวหน้าทีมศึกษาโครงการฯ นำเสนอ 2 ทางเลือกให้รัฐลงทุนวางโครงสร้างพื้นฐานแล้วเปิดสัมปทาน หรือ ชวนยักษ์ใหญ่ลงทุนทั้งโครงการ 

ผู้สื่อข่าวลานน Bizweek รายงานว่า จังหวัดลำปางจัดสัมมนา เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของคนในพื้นที่ในการจัดวางศูนย์กลางการเชื่อมโยงสินค้าและบริการทางบกของภาคเหนือ จังหวัดลำปางวันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557 ณ ห้องประชุมจันผา โรงแรมเวียงลคอร จ.ลำปาง ได้นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับประเด็น ลำปางกับการเป็น Land Logistics Hubs ของภูมิภาค” และ “การใช้ประโยชน์ของระบบโลจิสติกส์ในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสินค้าและ บริการทางบกของภาคเหนือ” 

โดยมีการนำเสนอข้อมูล จากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาคส่วนราชการ และภาคเอกชนในจังหวัดลำปาง ประกอบการศึกษาและรายงานผลการศึกษาที่จะเป็นฐานข้อมูลศึกษาที่มีต่อการผลักดันให้ลำปาง เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสินค้าและบริการทางบกของภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ไปเมื่อเดือนเมษายน 2557 

โดยการนำเสนอดังกล่าวได้พูดถึง แนวโน้มและความพร้อมของไทยกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(AEC) และการมีส่วนได้ส่วนเสียในความร่วมมือเศรษฐกิจภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) และนโยบายอื่นๆ ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งล่าสุดได้อนุมัติโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 5 เขต รวมถึงด่านชายแดน เชียงของ จ.เชียงราย ที่มีจุดเด่นเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านผ่านสะพานมิตรภาพไทยลาว และศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ ครบวงจร รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อรองรับเชื่อมโยงต่างๆ เช่น โครงข่ายการขนส่งภาคเหนือ ทั้งทางบกและทางรถไฟ โครงการสถานีขนส่งสินค้า 15 แห่ง  จุดพักรถบรรทุก (ภาคเหนือ) ซึ่งหลายโครงการจะผ่านและมีจุดความเหมาะสมในพื้นที่จังหวัดลำปาง ด้วย จะมีสถานีตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปางด้วย นับว่าเป็นโอกาสหลายด้าน  

รศ.ดร.อภิชาต โสภาแดง หัวหน้าหน่วยวิจัยการจัดการโซ่อุปทานและวิศวกรรม. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าทีมศึกษาโครงการฯ ให้สัมภาษณ์กับ ผู้สื่อข่าว ว่า จากการรวบรวมข้อมูลและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์กลางการเชื่อมโยงสินค้าและบริการทางบกของภาคเหนือ จังหวัดลำปาง โดยสำรวจและศึกษาข้อมูล ทุกด้าน เช่น  คาดการณ์ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านศูนย์กลางการเชื่อมโยงสินค้าและบริการทางบกที่จังหวัดลำปาง  สินค้าที่มีศักยภาพและมีแหล่งผลิตในภาคเหนือ และลำดับสินค้าหลักในพื้นที่ที่มีศักยภาพของลำปาง เส้นทางการไหลของสินค้า การคาดการณ์ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านศูนย์ฯ ในอนาคต 10-20 ปี ข้างหน้า แนวโน้มการคาดการณ์มูลค่าสินค้าผ่านศูนย์ฯ ในช่วงปี 2016-2020 เริ่มต้นประมาณ 12.4 ล้านบาท

ทั้งนี้ในการศึกษาพื้นที่ตั้งโครงการพบว่า มี 2 พื้นที่ คือพื้นที่เขตอำเภอห้างฉัตร ใกล้กับตลาดทุ่งเกวียน และพื้นที่สามแยกอำเภอเกาะคา ซึ่งภาพรวมและข้อมูลสนับสนุนอื่นๆ ชี้ว่าเกาะคามีความเหมาะสมกว่า โดยพื้นที่วางไว้ประมาณ 300 ไร่ ขึ้นไป และเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ชุมชน มีกรรมสิทธิ์ที่ดินชัดเจน หรือเป็นพื้นที่ราชพัสดุ ไม่ขัดแย้งกับผังเมืองรวม เข้าถึงง่าย เหมาะสมในการก่อสร้าง ห่างจากสถานที่อ่อนไหว เช่น ชุมชน  วัด  โรงเรียน โรงพยาบาล มีศักยภาพในการพัฒนาได้ดีกว่า 

พื้นที่การใช้งานเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้า เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างการขนส่งทางบก เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สำหรับคลังสินค้า จุดเก็บสินค้า เป็นจุดให้บริการด้านการผลิตและพื้นที่สำหรับเก็บตู้คอนเทนเนอร์ มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ศูนย์อาหาร ธนาคาร ร้านค้า งบประมาณมูลค่าก่อสร้าง ส่วนศูนย์กระจายสินค้า และ ซ่อมบำรุงรถบรรทุก รวมแล้วประมาณ 1,700 ล้านบาท เป็นต้น

โดยข้อเสนอมีการแบ่งพื้นที่เป็น 2 โซน (ติดถนน คนละฝั่ง) โซน A ประมาณ 300 ไร่ โซน B ประมาณ 200 ไร่ มีข้อ 2 ทางคือ อย่างแรก เสนอให้รัฐ ลงทุนรัฐลงทุนก่อน ในการเริ่มงานวิศวกรรมโยธาและโครงสร้างพื้นฐาน และด้านสุขาภิบาล โซน A  800 ล้านบาท โซน B 407 ล้านบาท และเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาสัมปทานลงทุน และบริหารจัดการ ขณะนี้หารือเบื้องต้นกับเอกชนยักษ์ใหญ่ ประมาณ 7 รายแล้ว 

กับศูนย์กลางการเชื่อมโยงสินค้าและบริการทางบกของภาคเหนือ จะเกิดประโยชน์องค์รวม  ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนใกล้เคียง รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของลำปางและภาคเหนือ ที่ต้องร่วมกันผลักดันโดยคณะกรรมการระดับจังหวัด เมื่อศูนย์แห่งนี้ได้รับการผลักดัน เชื่อว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดลำปางและภาคเหนือ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-5% ในปีแรก เกิดการจ้างงานภาคโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 5% สัดส่วนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในจังหวัด มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 4.1%” รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต โสภาแดง กล่าว

ด้านนาย  นายสุวพงษ์  สงวนศักดิ์ ธนารักษ์ พื้นที่ลำปาง กล่าวว่า พื้นที่ตามโครงการ (อ.เกาะคา) ดังกล่าวเป็นพื้นที่ธนารักษ์  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นที่ดินว่างเปล่า ถัดจากที่ตั้งโรงงานน้ำตาล  และอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนไฮเวย์ ซึ่งจะต้องรอผลสรุปการศึกษาเสร็จสิ้นและมีความชัดเจนเรื่องของรูปแบบและแนว ทางการผลักดันร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของลำปาง ว่าจะทำในทิศทางใด จากนั้นก็เจรจากับผู้ขอใช้พื้นที่รายเดิมก่อนว่าสนใจจะลงทุนในโครงการนี้ หรือไม่ หากไม่สนใจก็ขอคืนพื้นที่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และเปิดประมูลให้เอกชนรายอื่น เข้ามาบริหารจัดการ ต่อไป คาดว่าโครงการนี้หากร่วมกันผลักดันอย่างจริงจังจะเกิดเป็นรูปธรรม ในระยะเวลา 3-5 ปี ข้างหน้า 


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 994 ประจำวันที่5 - 11 กันยายน 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์