วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

น้ำล้อมพัฒนาน่าอยู่ จัดการสุขภาวะชุมชน ลดขยะ-สร้างรายได้ ด้วยไส้เดือน

นางกมลพรรณ  ภัครเนียรนาท   หลังจากพบว่า ชุมชนบ้านน้ำล้อม ต.เกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง  จำนวน 301 ครัวเรือน กว่าร้อยละ 50 ยังไม่สามารถกำจัดขยะ ได้อย่างถูกต้อง มีการเผาและทิ้งขยะลงในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทำให้สภาพแวดล้อมเป็นพิษ นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านสุขภาพของคนในชุมชนซึ่งตามข้อมูลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล น้ำล้อม ปี 2554 พบว่าสมาชิกในชุมชนบ้านน้ำล้อม เป็นโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคถุงลมโป่งพองโรคไต โรคมะเร็งและโรคหัวใจ ซึ่งเกิดจาก การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะและขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ด้วย
 
ทางชุมชนจึงได้จัดตั้งทีมคณะกรรมการดำเนินงานโครงการน้ำล้อมพัฒนาน่าอยู่ รู้รักษาสิ่งแวดล้อม น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้จัดทำโครงการน้ำล้อมพัฒนาน่าอยู่ รู้รักษาสิ่งแวดล้อมน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม หรือ สำนัก 6 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการจัดการและแก้ไขปัญหาของพื้นที่บ้านน้ำล้อม ต.เกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง เพื่อเป็นแกนนำพัฒนาและส่งเสริมสุขภาวะในหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วย ผู้นำองค์ชุมชน อปท. เช่น ผู้ใหญ่บ้าน สท. อสม. กลุ่มพัฒนาสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และในช่วงระยะเวลากว่า 1 ปี ที่ชาวบ้านน้ำล้อมได้ร่วมมือร่วมใจกัน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานสามารถแก้ปัญหาในชุมชนได้ โดยเกิดผู้นำการรวมกลุ่มและจัดการสุขภาวะ ด้านการออกกำลังกายและการทำเกษตรอินทรีย์  ซึ่งคนในชุมชน อย่างน้อยกว่า 50 ครัวเรือน ได้รวมกลุ่มกันออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นประจำต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง และยังเกิดกลุ่มการทำเกษตรอิ เพื่อปลูกพืชผักปลอดสารพิษรับประทานเองที่บ้านโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการผลิตขึ้นใช้เองจากขยะเปียกในชุมชน โดยใช้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “ปลูกทุกที่ที่ว่าง ปลูกทุกอย่างที่กินได้” ซึ่งนอกจากจะได้พืชผักที่ปลอดสารพิษแล้ว ยังเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้อีกด้วย    นอกจากนี้ชาวชุมชนบ้านน้ำล้อมและหมู่บ้านใกล้เคียง ยังให้ความสนใจในการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อใช้ย่อยสลายขยะเปียก และยังนำมูลและฉี่ของไส้เดือน มาทำเป็นปุ๋ยไส้เดือน เพื่อใช้เองและนำออกจำหน่าย สร้างเป็นรายได้เพิ่มได้อีกด้วย
 
 นางกมลพรรณ  ภัครเนียรนาท  ผู้รับผิดชอบโครงการฯ  กล่าวว่า มีการเชื่อมโยงกิจกรรมทั้งสามอย่าง คือการปลูกผัก การเลี้ยงไส้เดือน และการคัดแยกขยะ  ให้สามารถดำเนินกิจกรรมร่วมกันได้ คือครัวเรือนที่มีการปลูกผักปลอดสารไว้กินเองหรือเพื่อจำหน่าย เมื่อมีผักที่เหลือที่ไม่สามารถรับประทานได้แล้วหรือเน่าเสียก็สามารถนำมาให้กับครัวเรือนที่มีการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อจะได้นำไปเป็นอาหารให้กับไส้เดือนโดยที่ไม่ต้องทิ้งลงถังขยะให้เน่าและส่งกลิ่นเหม็นในชุมชน เป็นการลดขยะเปียกในชุมชนของเราได้ในระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งการเลี้ยงไส้เดือนก็เป็นการช่วยลดขยะเปียก และยังได้ผลผลิตจากการเลี้ยงไส้เดือน เป็นปุ๋ยดินและปุ๋ยน้ำไส้เดือน ที่สามารถนำออกขายเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับครัวเรือนได้ เมื่อมีการปลูกผักและเลี้ยงไส้เดือน จึงก่อให้เกิดการคัดแยกขยะในครัวเรือนได้ร้อยละ 80 จากเดิมร้อยละ 30 และเมื่อมีการบริโภคที่ถูกสุขลักษณะแล้วจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายภายในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่แข็งแรงและห่างไกลจากโรคภัยต่างๆด้วย








 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 995 ประจำวันที่ 12 - 18 กันยายน 2557)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์