วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

จอก (ไม่) กระจอก


ลานนาโพสต์ นำเสนอข่าว ชนิดพันธุ์พืชน้ำ “จอกหูหนู” แพร่ระบาดทั่วผืนน้ำเขื่อนกิ่วลมมาอย่างต่อเนื่องนานเดือนสู่แรมปี  มองจากคนข้างนอก คล้ายปรากฎการณ์ธรรมชาติเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้ว ธรรมชาติก็จะเยียวยาแก้ไขไปเอง  หรืออาจไม่รู้สึกว่าการปรากฏกายของปีศาลสีเขียวที่กิ่วลม จะส่งผลกระทบรุนแรงอย่างไร

ในขณะที่กรมชลประทาน เจ้าของพื้นที่ปล่อยให้ชะตากรรมน้ำในเขื่อนเป็นไปตามยถากรรม  ผู้บังคับบัญชาสูงสุด ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ไม่ได้แสดงถึง “ภาวะผู้นำ” ในการบริหารวิชั่นในการจัดการปัญหาจอกหูหนูที่ส่งผลในวงกว้างอย่างคาดไม่ถึง ทั้งปัญหาการท่องเที่ยว ปัญหาการดำรงชีวิตของคนที่อยู่อาศัยพึ่งพิงน้ำในเขื่อนรายรอบบริเวณ และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง นี่คือปัญหาการรุกรานของพืชน้ำขั้นวิกฤต ในเขื่อนชลประทานแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย

หลายชีวิตที่ต้องพึ่งพาเขื่อนกิ่วลม อาจรอคอยความหวังว่ากรมชลประทาน จะจัดการจอกหูหนู ถึงไม่หมดไป แต่ก็เบาบางลงบ้าง แต่จนถึงวันนี้จอกหูหนูก็ยังแออัดยัดเยียดอยู่ในเขื่อน  สมาคมท่องเที่ยวลำปาง ภาคเอกชนที่ควรรู้ร้อนรู้หนาวที่แหล่งท่องเที่ยวระดับกุ้ยหลินแห่งเมืองลำปาง กำลังถูกทำลาย ก็เงียบงัน เงียบเชียบ เหมือนเขื่อนกิ่วลมไม่มีตัวตนอยู่ แทบไม่ต้องอธิบายบทบาทของสื่อท้องถิ่นที่ควรเป็นเสียงสะท้อน ความไม่ปกติของเขื่อนกิ่วลม เพื่อสร้างแรงผลักดัน ให้มีการร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งฝ่ายราชการและชาวบ้าน  ก็ยังคงเลือดท่วมหน้ากระดาษ หมกมุ่นกับข่าวงมงาม  ฉาบฉวยไปวันๆ

อย่าว่าแต่ท้องถิ่น ในระดับชาติข่าวสิ่งแวดล้อม ก็เป็นข่าวชั้น 2  ที่นักข่าว บรรณาธิการ ไม่ให้ความสำคัญมากเท่ากับข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กีฬา บันเทิง น้อยครั้ง ที่ข่าวสิ่งแวดล้อมจะเป็นข่าวหน้าหนึ่ง นอกจากข่าวภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นข่าวที่เกิดจากการทำลายสภาพแวดล้อมส่วนหนึ่ง เช่น การตัดไม้ทำลายป่า เราเสนอข่าวตัดไม้น้อยแต่เสนอข่าวตอนที่น้ำป่าไหลบ่าลงมาท่วมบ้านชาวบ้านมาก เราเสนอข่าวพันธุ์พืชน้ำรุกรานแหล่งน้ำสำคัญน้อย หรือแทบไม่ได้เสนอเลย แต่ถ้าน้ำเน่าเสียทั้งหมด  ชีวิตรอบเขื่อนเป็นอัมพาต การท่องเที่ยวสะดุด ปัญหาจอกหูหนูที่เขื่อนกิ่วลมอาจเริ่มมีสื่อเห็นความสำคัญ 

มหันตภัยภัยเขียวที่เขื่อนกิ่วลม อยู่ห่างไกลจากเมือง ดังนั้น จึงต้องทำใจว่า แม้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ตื้นเขิน ส่งกลิ่นของสายน้ำวังอยู่ใจกลางเมืองแท้ๆ กว่าจะปลุกให้คนลำปางตื่นจากหลับใหล กว่าจะทำให้เทศบาลนครลำปาง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจว่า ภาพสายน้ำที่เจ็บป่วยเรื้อรังตรงหน้านั้น เป็นหน้าที่ที่จะต้องเยียวยารักษาก็ใช้เวลา ใช้ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งในรูปแบบของข่าว บทความ การวิพากษ์วิจารณ์ ครั้งนี้จึงต้องพยายามมากขึ้นเป็นร้อยพันเท่าทวีคูณ

น่าสนใจว่าคุณภาพ “คน” ของคนลำปางจัดอยู่ในระดับการพัฒนาสูงเทียบเท่าจังหวัดใหญ่ อย่างเชียงใหม่  โดยการสำรวจการพัฒนาคนของประเทศไทย 2557 ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าและพัฒนาของมนุษย์ระดับจังหวัด (Human Achievement Index) ถึงแม้ผลสำรวจครั้งนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการจอกหูหนูที่เขื่อนกิ่วลม แต่ก็น่าสงสัยว่าศักยภาพของคนลำปางที่ไม่ได้เปล่งประกายออกมาในทุกเรื่อง รวมทั้งการสำนึกรักบ้านเกิดและหวงแหนทรัพยากรท้องถิ่น เป็นเพราะตัวเขาเอง หรือผู้นำที่ไร้ความสามารถ

ผิดกับคนพะเยา ก่อนหน้านี้วัชพืชและผักตบชวา พันธุ์พืชน้ำต่างถิ่นที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วใน กว๊านพะเยาแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตของเมืองพะเยาก็ ไม่แตกต่างจากจอกหูหนูในเขื่อนกิ่วลม แต่ด้วยความร่วมมืออย่างแข็งขัน ภายใต้การนำของพ่อเมืองพะเยา ไม่นานปัญหาก็คลี่คลาย

พวกเขาได้กำลังเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองพะเยา สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด  ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา  จังหวัดทหารบกพะเยา และกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดพะเยาที่ 2 พร้อมด้วยเครื่องจักรกล รุดหน้าลงพื้นที่เข้าทำการกำจัดวัชพืชและผักตบชวาที่แพร่กระจายอยู่เต็มกว๊านพะเยาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการทำลายทัศนียภาพที่สวยงาม ส่งผลให้กว๊านพะเยาตื้นเขิน น้ำเสีย ผลผลิตและจำนวนสัตว์น้ำลดลง

และในห้วงเวลาที่เริ่มย่างเข้าฤดูหนาว ฤดูแห่งการท่องเที่ยวทางภาคเหนือ จังหวัดพะเยาจึงได้มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ปรับทัศนียภาพของเมืองพะเยา โดยเฉพาะกว๊านพะเยา สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด

นอกจากการปรับปรุงทัศนียภาพกว๊านพะเยา จังหวัดยังได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของสถานที่พัก โรงแรม เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญไว้รองรับนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา โดยเฉพาะทัศนียภาพที่สวยงามของกว๊านพะเยายามพระอาทิตย์อัสดงที่เชื่อว่าสวยที่สุดในเมืองไทย

ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังได้ประสานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯ และเทศบาลเมืองพะเยา ในการนำสายไฟฟ้าเก็บไว้ใต้ดินเพื่อทัศนียภาพที่สวยงามของกว๊านพะเยาด้วย

มองเขาแล้วมองเรา แค่กำจัดจอกหูหนูให้หมดไปจากเขื่อนกิ่วลม ไม่คิดถึงการระดมทหารในพื้นที่มาช่วย ไม่คิดถึงการสร้างจิตสำนึกร่วมของคนลำปางที่เห็นว่า การระบาดของจอกหูหนูที่เขื่อนกิ่วลมเป็นปัญหาของคนลำปางทั้งหมด ไม่คิดถึงการนำซากจอกหูหนูไปหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ไม่คิดนำไปเป็นอาหารเสริมของฟาร์มเพาะพันธุ์เห็ด และไม่เคยคิดแม้แต่จะเคลื่อนย้ายตัวเองออกจากเมืองไปดูปัญหาด้วยตาตัวเอง

กุ้ยหลินลำปางก็รอวันตายเท่านั้น

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 997 ประจำวันที่ 26 กันยายน - 2 ตุลาคม  2557)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์