เหมือนมีกฎหมายเขียนไว้ว่าพื้นที่ผิวทางสาธารณะย่านอาคารพาณิชย์ใด
ให้ผนวกรวมเข้ากับที่ดินของเจ้าของอาคารนั้น ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องชอบธรรม
ที่เจ้าของร้านค้า อาคารพาณิชย์ ทั้งหลายจะขยายอาณาจักรกินพื้นที่ทางเท้า
เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายก็ยอมรับเป็นธรรมเนียมปฎิบัติ ในทางกฎหมายจริงๆ
แทบจะเรียกได้ว่าได้แสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน จนถึงขั้นอาจครอบครองปรปักษ์ แปลว่า
จะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยอำนาจของกฎหมาย
ถึงแม้ว่า ในความเป็นจริง
จะมีกฎหมายกำหนดเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดไว้ชัดเจนแล้วก็ตาม แต่...
‘กฎมีไว้แหก’คำพูดเล่นๆเมื่อนานมาแล้ว
แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นจริงสำหรับสังคมในทุกวันนี้เสียเหลือเกิน
โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัวเราอย่างเรื่องการใช้ประโยชน์จากพื้นผิวถนน ฟุตบาท
พื้นที่บนฟุตบาทถูกผนวกรวมเป็นหน้าร้าน
พื้นที่บนถนนสาธารณะถูกจับจองเป็นพื้นที่ส่วนตัวใช้ในการวางของค้าขาย
บางบ้านเขียนข้อความแสดงความเป็นเจ้าของบนฟุตบาทสาธารณะ ห้ามจอดรถกีดขวาง
หรือการนำกรวย นำเก้าอี้มาตั้งวางริมถนนเพื่อยึดถนนหลวงเป็นที่จอดรถส่วนตัว สำหรับลูกค้าเท่านั้น
การแสดงความเป็นเจ้าของบนพื้นที่สาธารณะเหล่านี้
ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเป็นความผิด แต่ก็เป็นความผิดที่เห็นจำเจ
จนยอมรับกันโดยปริยายว่า ทำได้ไม่ผิด คล้ายผู้ที่ทำผิดจะท้าทายผู้รักษากฎ
เทศบาล
ผู้บริหารท้องถิ่น เทศกิจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐคนสำคัญที่มีหน้าที่รักษากฎหมาย
คือตำรวจ ต่างคนต่างทำมาหากิน กินตามน้ำ กินตามด่าน กันไป โดยไม่สนใจหน้าที่
ชาวบ้านตาดำๆ
เดินถนนก็ไม่มีกำลังจะไปว่ากล่าวหรือเรียกร้องให้ตำรวจไม่เลือกปฏิบัติ
เพราะในหลายครั้งคนทำมาหากิน หาเช้ากินค่ำ
กลับเป็นกลุ่มคนที่เจ้าหน้าที่รัฐเอาจริง เอาจัง เข้มงวดในการรักษากฎหมาย
ในขณะที่ชาวบ้านระดับอภิสิทธิ์ชน ผู้หลักผู้ใหญ่หรือนายทุนดูเหมือนใช้กฎหมายคนละฉบับ
ยึดทางเท้าทางฟุตบาทเป็นที่ทางทำมาหากิน เก็บค่าเช่าที่สาธารณะเข้ากระเป๋า
ทำผิดท้าทายกฎหมายอย่างไร ก็สุขสบาย ปลอดภัย เพราะทำหน้าที่ส่งส่วยสาอากรเสมอต้น
อย่างเสมอปลาย
ทุกวันนี้ชาวบ้านอยู่ในสถานการณ์ที่รู้ตัวว่าถูกละเมิดแต่ไม่สามารถทำอะไรได้
“ลานนาโพสต์”
เคยนำเสนอภาพข่าวการยึดฟุตบาท ย่านรอบโรงเรียน หน้าโรงพยาบาล
พ่อค้าแม่ขายยึดฟุตบาตขายของ เบียดทางเดินจนคนเดินเท้าต้องใช้ถนน ฟุตบาท
กลายเป็นที่จอดรถ ริมถนนที่จอดรถได้ก็นำหลักมาขวาง ติดป้ายว่าห้ามจอดยึดครองหน้าตึกที่เป็นที่สาธารณะเป็นของตัวเอง
เสนอข่าวทีก็จัดระเบียบกันเสียที จนทุกวันนี้สังคมเริ่มไร้ระเบียบ
และที่เลวร้ายความนั้นคือผู้ที่ดูแลกฎระเบียบไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญ
ห้างใหญ่ใจกลางเมือง
หรือแม้แต่ซุปเปอร์มาร์เก๊ตท้องถิ่นบางรายก็ยังฉวยโอกาส ยึดฟุตบาทมาครองเหมือนเป็นพื้นที่ส่วนตัว
ใครจะขายของต้องไปขออนุญาตขอเจ้าที่เจ้าทาง
มีเครื่องหมายจราจรทาสีขาวเหลืองที่ฟุตบาท มีป้ายห้ามจอดซ้อนคัน
แต่ก็ยังฝ่าฝืนโดยที่จราจรก็มองไม่เห็นเหมือนถูกมนต์สีเทาสะกด
จะว่าไป
พฤติกรรมที่กล่าวถึงนี้มีความผิดอาญา ทั้งจำและปรับ แต่ในเมื่อผู้คุ้มกฎไม่ดูแลกฎจึงไม่มีการจับการปรับ
จนในที่สุดใช้ชาวบ้านที่เข้าถึงเทคโนโลยีจึงอาศัยโซเชียลมีเดียโพสต์ประจาน
ผ่านเฟสบุ๊ค อย่างล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้
มีการโพสต์รูปเหตุการณ์ที่มีคนแวะเวียนไปซื้อของที่ตลาดสดพระบาท
จอดรถไว้ที่หน้าอาคารพาณิชย์สักครู่ พอกลับมาพบว่าถูกเขียนด้วยปากกาเมจิก ว่า “มาร้านไหนก็ไปจอดที่ร้านนั้น”
จากนั้นก็เกิดกระแส Share สะพัด
กลายเป็นกระแสสังคมแม้แต่เว็บดังหลายเว็บก็นำไปเป็นประเด็น
เตือนภัยสังคมอยู่ยากเพราะไร้น้ำใจ
เจ้าหน้าที่ก็ละเลย เจ้าของห้างฯ
ร้านค้าทั้งหลาย ก็วิสาสะเอาของหลวงมาใช้ประโยชน์ส่วนตัว
มนุษย์พันธุ์เห็นแก่ตัวจึงดาษดื่นทั่วสองข้างทาง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 997 ประจำวันที่ 26 กันยายน - 2 ตุลาคม 2557)