วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2557

ศึกษาไทย ไอซียู



อ าการการศึกษาไทยคุณภาพตกต่ำจนน่าเป็นห่วง เพราะจากการจัดอันดับล่าสุดของ World Economic Forum (WFF) อยู่ที่อันดับ 7 ของอาเซียน เวียดนาม กัมพูชาและลาว นำหน้าเราไปแล้ว เป็นเรื่องที่น่าตกใจยิ่ง และเมื่อผู้สมัครสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในด้านการปฏิรูปการศึกษามีจำนวนมากที่สุดถึง 778 คน จึงเป็นความหวังหนึ่งที่ตัวแทนของคนเหล่านี้จะเข้าไปช่วยปั๊มหัวใจการศึกษาไทยให้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง หรืออาจทำให้ตายสนิทเร็วขึ้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องสงสัย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยได้พูดถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เพราะเราได้เริ่มทำมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และคลอด พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่2) พ.ศ.2545 เรียกได้ว่าเกือบ 20 ปีแล้วที่เราพร่ำบอกว่าเราจะปฏิรูปการศึกษา แต่จนแล้วจนรอดก็เหมือนจะยังย่ำอยู่ที่เดิม มีเพียงนโยบายในฝันที่ถูกปล่อยออกมาอย่าง เรียนฟรี มีหนังสือให้ มีชุดนักเรียนให้ มีอุปกรณ์การเรียนให้
 
แต่สุดท้ายเลี่ยงบาลีด้วยการมีค่าบำรุง ค่าคอมพิวเตอร์และสารพัดค่า จิปาถะที่ผู้ปกครองต้องยอมจ่ายเพื่อให้ลูกหลานได้เรียนในสถาบันการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ ตามมาด้วยสารพัดการสอบวัดมาตรฐานการเรียนรู้ที่ผลสอบดูจะไม่น่าโสภา เพราะมันบ่งบอกว่าเด็กนักเรียนสอบผ่านมีเพียงครึ่งเดียว จนเด็กนักเรียนต้องแห่ไปเรียนพิเศษ และจำนวนมากไปเรียนกับครูที่สอนในห้องเรียน

อะไรคือความแตกต่าง ที่ครูคนเดียวกัน สอนเรื่องเดียวกัน แต่สอนที่เรียนพิเศษดีกว่า??

หากคำตอบเป็นเพราะได้เงินพิเศษ ก็คงต้องตราหน้าครูคนนั้นว่าไร้จรรยาบรรณ ทุกวันนี้เราเคยฟังเสียงสะท้อนจากนักเรียน ลูกหลานบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ที่ใกล้จะปิดเทอม หลายวิชาเร่งรีบสอน สอนไม่ทันก็โยนการบ้าน โยนงานให้นักเรียน ทั้งที่ตลอดเวลา 16 สัปดาห์ ครูมีหน้าที่ในการบริหารเวลา จัดและวางแผนการสอนและทำตามให้นักเรียนได้ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
จะว่าไปแล้ว เกาหลีใต้เพิ่งประกาศปฏิรูปการศึกษา มาได้ราว 20 ปี เช่นเดียวกับบ้านเรา ปัญหาของเขาไม่ต่างจากสิ่งที่เราเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น เด็กนักเรียนมุ่งแข่งขันกันเพื่อแย่งที่นั่งในมหาวิทยาลัยดัง กวดวิชากลายเป็นวิชาหลัก การศึกษากลายเป็นเครื่องมือแบ่งชนชั้นปริญญา และคนไม่มีปัญญา แทนที่จะเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพของคน ให้คนเป็นคนดี ซื่อสัตย์ รักศักดิ์ศรี คนจบปริญญาตรีเยอะ แต่ทำงานไม่ได้ คนทำงานระดับฝีมือแรงงานโดนดูถูกว่าไม่มีปริญญา ฯลฯ

ทั้งเราทั้งเขาต่างก็เห็นปัญหานี้มา 20 ปี แต่ต่างจากบ้านเราตรงที่ทุกวันนี้การแก้ปัญหาของเกาหลีดูจะเดินหน้าพัฒนาได้อย่างชัดเจน แต่บ้านเรายังยืนอยู่ที่เดิม มองดูหลังเพื่อนบ้านพัฒนาไปข้างหน้าลิ่วๆ
 
อะไรที่ทำให้ความเหมือนนั้นมีความต่าง??

ผู้นำเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ ผู้นำเขาจริงจังหลังรับตำแหน่งโดยจัดตั้งคณะกรรมการแห่งประธานาธิบดีเพื่อการปฏิรูปการศึกษาโดยมีทั้งนักการเมือง รัฐมนตรี ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนมวลชนกลุ่มต่างๆ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ส่วนของเรา หลังรับตำแหน่ง ก็ลืมที่เคยหาเสียงไว้ นอกจากไม่จัดตั้งอะไรแล้ว แม้กระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังได้มาจากการแบ่งโควตารัฐมนตรี การทำงานของกระทรวงก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะขาดผู้นำ

เป้าหมายเหมือนกัน แต่เขาให้ความสำคัญกับผู้เรียนโดยเชิญมหาวิทยาลัยทั้งหมดมาคุยกัน เอาผู้เชี่ยวชาญด้านการงานอาชีพ ด้านเศรษฐกิจมากำหนดทิศทางการเปิดสอน คณะไหนสาขาอะไรควรเปิดเขาให้ความสำคัญกับผู้เรียนและการพัฒนาประเทศ  ส่วนเรา มหาวิทยาลัยอยากเปิดสอนอะไร ไม่สนใจว่าเด็กจบมาจะมีงานทำไหม สาขาไหนที่ควรลดจำนวนรับก็ไม่ลด สาขาไหนขาดแคลนควรเพิ่ม ก็ไม่เพิ่ม แถมยังแย่งกันรับนักศึกษาอีกด้วย กว่าจะรู้ว่าต้องสำรวจความต้องการเพื่อผลิตบัณฑิตสู่สังคมอย่างตรงเป้าหมาย ก็เกือบจะสายเกินไปเสียแล้ว

ที่สำคัญ การจัดการศึกษาในระดับประถม และมัธยม ที่มีความแตกต่างหลากหลาย แต่เกาหลีเน้นในจุดที่สำคัญ นั่นคือ ความซื่อสัตย์ คุณธรรม และ ความรักชาติ ไม่ใช่เกรดเฉลี่ย ในขณะที่เราดูจะยังตีโจทย์ไม่แตก รากฐานการพัฒนาการศึกษาบ้านเราจึงยังไม่เสถียรเสียที

แร็ค ลานนา ไม่ได้บ้าเกาหลี  ไม่ได้คลั่ง K-POP ไม่ได้ติดซีรีย์เกาหลี  ไม่ได้บอกว่าเกาหลีเป็นที่หนึ่ง เพราะปัญหาเรื่องเพศสภาพของที่เกาหลียังแก้ไม่ได้ แต่เราเห็นการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเกาหลีเป็นไปอย่างก้าวกระโดด เพราะทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน ตามบทบาทและหน้าที่ แต่ของเราดูจะขัดขากันเป็นหน้าที่ก็ไม่ปาน

ว่ากันถึงที่สุดแล้ว หนทางเดียวที่การศึกษาไทยจะรอดพ้นจากภาวะใกล้ตายได้ คือต้องออกจากระบบการเมือง เป็นองค์กรอิสระที่มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการการศึกษา ตราบใดที่ยังอยู่ในอำนาจการเมือง ยังอยู่ในมือนักการเมืองที่หลายคนยังไม่ประสาเรื่องการศึกษา อีกกี่ชาติก็ขาดใจ
           

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 995 ประจำวันที่ 12 - 18 กันยายน 2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์