วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2557

เสรีภาพสื่อบ้านนอก


นังสือพิมพ์ต่างจังหวัด มักชอบเรียกตัวเองว่า “หนังสือพิมพ์บ้านนอก” คล้ายเป็นพลเมืองชั้นสองในวงการสื่อ แต่ผมมีความเห็นแย้งว่า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ระดับชาติ หรือท้องถิ่น ต่างมีมีศักดิ์ศรีในวิชาชีพเท่าๆกัน ยกเว้นเขาทำมาหากินโดยไม่สุจริต ใช้หนังสือพิมพ์ไปตบทรัพย์ผู้มีอำนาจ หรือยอมเป็นเครื่องมือของนายทุนสกปรก เอาหนังสือพิมพ์ไปรับใช้นักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพล นี่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ แต่เป็นแค่เศษกระดาษที่ห่อหุ้มขยะข่าวเท่านั้น

หนังสือพิมพ์ต่างจังหวัด อาจพูดเรื่องเสรีภาพได้ไม่เต็มคำ เพราะเสรีภาพถูกลิดรอนด้วยอำนาจทุนท้องถิ่น ด้วยระบบอุปถัมภ์ อาจมีจำนวนหนึ่งที่ไม่เข้าใจว่า เหตุใดต้องมีเสรีภาพ หรือเข้าใจผิดไปว่าเสรีภาพคือการที่จะทำสิ่งใดก็ได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ทั้งที่เรื่องของเสรีภาพนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่จะบ่งบอกความเป็นอิสระของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น และถือเป็นศักดิ์ศรี เป็นความทรนงของนักหนังสือพิมพ์ไม่ว่าจะในภูธรหรือนครบาล

ระหว่างตอบคำถาม BBC Thai เรื่องเสรีภาพสื่อ ผ่านระบบ Google Hangouts เมื่อราวสามสัปดาห์ก่อน  คุณอิสสริยา พรายทองแย้ม ผู้ดำเนินรายการ จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ บอกว่ามีผู้ชมทางบ้าน อยากให้มีการพูดคุยเรื่อง การซื้อสื่อ กดดันสื่อ และขู่สื่อ แต่ด้วยเวลาที่มีจำกัดเพียง 30 นาที จึงไม่ได้มีโอกาสพูดถึง แต่ผมเห็นว่าในบรรยากาศที่เราตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ เสรีภาพในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ทำให้สื่อต้องระมัดระวังมากขึ้น หรือไม่แน่ใจความชัดเจนในกฎเหล็กของ คสช.โดยเฉพาะประกาศ คสช.ฉบับที่ 103 การซื้อสื่อ กดดันสื่อ โดยทุน และด้วยการยอมรับโดยปริยายในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ก่อนหน้านี้ ความเลวร้ายต่างกันหรือไม่

เรากลัว คสช. เพราะพวกเขาได้อำนาจมาโดยรัฐประหาร และมีเครื่องมือในรูปประกาศ คำสั่งต่างๆ ที่จะสั่งปิดสิ่งพิมพ์  ระงับรายการที่ฝ่าฝืน  ซึ่งผมมีความเห็นแย้งว่า การทำงานที่ตรงไปตรงมา วิพากษ์วิจารณ์โดยไม่มีอคติ  ถ้าหากจะถูกตีความว่าละเมิดอำนาจ หรือฝ่าฝืนคำสั่งห้าม ก็ต้องต่อสู้กันด้วยเหตุด้วยผล แต่อย่างน้อยการคัดค้านประกาศ คสช.ฉบับที่ 108 ที่สั่งให้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  สอบสวนผู้จัดการสุดสัปดาห์ และผมโต้แย้งอำนาจ จนกระทั่งคสช.ยอมทำตามขั้นตอนปกติของการร้องเรียน ก็น่าเชื่อว่า คสช.มีเหตุมีผลที่พอจะพูดจากันได้ 

เราไม่แน่ใจว่าเรากลัวอำนาจทุนหรือไม่ แต่เรายินดีทำตามอำนาจนั้นแม้จะเป็นการลิดรอนเสรีภาพอย่างเปิดเผยโดยไม่ปริปาก

หากสำรวจโครงสร้างผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อขนาดกลาง – ใหญ่ ทั้งสิ่งพิมพ์ สื่อทีวีดิจิตอล ล้วนมีทุนใหญ่ ที่มีสายสัมพันธ์เชิงอำนาจกับผลประโยชน์เกือบทั้งสิ้น  อำนาจที่ส่งผ่านทุนนี่เอง ที่เป็นตัวกำหนดวาระข่าวสาร ของสื่อ ที่เป็นปัจจัยสำคัญให้คำถามเรื่องเสรีภาพสื่อในยุครัฐบาลประชาธิปไตยไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลทหาร  และเมื่อเราพูดถึง “สื่อการเมือง” เราก็ไม่อาจปฎิเสธว่า กระเป๋าเงินใบใหญ่ที่เป็นทุนสนับสนุนนั้น ก็มาจากเครือข่ายผู้สนับสนุนพรรคการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั่นเอง

นอกจากแหล่งทุนดังกล่าวแล้ว  รายได้ส่วนใหญ่ของสื่อที่มาจากทุนเอกชน ทุนประชาสัมพันธ์ภาครัฐ  โดยผ่านพื้นที่โฆษณา ก็มีอิทธิพลไม่น้อยในการกำหนดความเป็นไปของสื่อนั้น การไหลเข้าของทุนรัฐ ยังรวมถึงงบประมาณสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ เช่น การจัดกิจกรรมทางการตลาด ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของบริษัท เงินรายได้นับร้อยล้านบาท ไม่อาจแยกส่วนจากการทำงานของกองบรรณาธิการได้  ดังนั้น เราจึงได้เห็นการให้พื้นที่กับนักการเมือง หรือพรรคการเมืองที่เป็นผู้มีอำนาจในขณะนั้น มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะปฎิเสธความจริงหรือไม่ก็ตาม

ดังนั้น เมื่อเรามองเสรีภาพภายใต้อำนาจจากการรัฐประหาร ไม่มียุคสมัยใดที่ผู้มีอำนาจจะไม่พยายามควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยผ่านประกาศและคำสั่งซึ่งมีฐานะเสมอกฎหมาย แต่ความเข้มของคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้ ชัดเจน ตรงไปตรงมา เช่น การไปล่ามโซ่แท่นพิมพ์ การจับกุมคุมขังนักหนังสือพิมพ์ที่แข็งข้อ ไปจนกระทั่งการเข้าไปแทรกแซงกองบรรณาธิการ และการยึดอำนาจในองค์กรวิชาชีพ ซึ่งนักข่าวรุ่นหลังอาจไม่เคยรู้มาก่อน

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม และสั่งปิดหนังสือพิมพ์กว่า 10 ฉบับ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาจีนถูกปิดเกือบทั้งหมด ยกเว้น “ซิงเสียนเยอะเป้า” และ “สากล” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายจีนไต้หวัน สำหรับหนังสือพิมพ์ไทยฉบับสำคัญ เดลิเมล์ บางกอกเดลิเมล์ ข่าวภาพ เสถียรภาพ ถูกปิดไม่มีกำหนด สารเสรี และไทรายวัน ไม่ปิดแต่มีการเปลี่ยนแปลงภายในกองบรรณาธิการ นอกจากนั้น จอมพลสฤษดิ์ยังส่งนายสุรจิตต์ จันทรสาขา น้องชายต่างมารดา เข้าไปยึดสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

การใช้อำนาจของคณะรัฐประหารยุคใหม่ คลายความเข้มลงไปมาก ถึงกระนั้นก็ยังคงน่าหวาดหวั่น แต่กับอำนาจทุนที่ลิดรอนเสรีภาพโดยที่รู้กันอยู่เต็มหัวใจ กลับเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไป

อำนาจทุนนั้นอาละวาดฟาดฟันไปทั่ว แม้ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ลองสังเกตดูว่าถ้าพื้นที่ข่าวเต็มไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ หรือมีแต่ข่าวเลือดท่วม ข่าวข่มขืน นกมีเขา เต่ามีหนวด นั่นแหล่ะคือกระดาษเปื้อนหมึกที่มุ่งแต่ขาย โดยไม่รับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 995 ประจำวันที่ 12 - 18 กันยายน 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์