ผอ.กิ่วลม
เผยเตรียมปรับแผนกำจัดจอกดึงชาวบ้านมีส่วนร่วม ของบเพิ่มอีก 1 ล้าน
ยันจะทำจนกว่าจอกจะหมด ด้านผู้ประกอบการแพโวยยังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด
เพราะไม่เคยหาต้นตอที่แท้จริง การกำจัดด้วยวิธีตักเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
แนะใช้วิธีทำสายพานลำเลียงจอกหูหนูที่ตักแล้ว เพื่อไม่ให้ไหลลงน้ำอีก
หากโครงการกิ่วลมฯขอความช่วยเหลือก็ยินดีทำเท่าที่ทำได้
จอกหูหนูที่แพร่กระจายอยู่บนน่านน้ำเขื่อนกิ่วลมยังคงสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการชาวแพอย่างต่อเนื่อง
ถึงแม้ว่าทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา พยายามเข้ามาแก้ปัญหาแล้วนานเกือบ
1 ปี โดยการใช้เรือกำจัดวัชพืชจากฝ่ายเรือขุดและกำจัดวัชพืชที่ 7 จ.พิษณุโลกเข้ามาช่วยเหลือ
แต่เรือมีเพียงลำเดียวจึงแก้ปัญหาไม่ทันต่อการเจริญเติบโตของจอกหูหนู
ทำให้จอกเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วกินพื้นที่ไปกว่า 1,500 ไร่ เป็นหตุให้ผู้ประกอบการแพต้องหยุดกิจการรับนักท่องเที่ยวชั่วคราว
เพราะแพไม่สามารถล่องฝ่าจอกหูหนูที่หนาแน่นได้ ตามที่ลานนาโพสต์ได้เสนอข่าวไปนั้น
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 26
ก.ย.57 ที่ผ่านมา ทางโครงการกิ่วลมฯ
ได้นำรถแบ็คโฮมาลงโป๊ะเพื่อช่วยตักจอกหูหนูอีกทางหนึ่งแล้ว โดยได้ตักขึ้นมากองไว้ด้านข้างเพื่อให้จอกแห้งตาย
พร้อมกับมีการนำตะแกรงไม้ไผ่และก้อนหินมากันไว้
เพื่อที่จะไม่ได้จอกที่ตักขึ้นมาแล้วไหลลงไปในน้ำอีก พร้อมกับของบประมาณปี 58 อีก 1 ล้านบาทมาแก้ปัญหา
นายฤทัย พัชรานุรักษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา
เปิดเผยว่า ทางโครงการฯได้ทำ
งานอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการนำเรือกำจัดวัชพืช
และเพิ่มโป๊ะรถแบ็คโฮลงตักจอกหูหนูเพิ่มอีก 1 คัน จากจอกหูหนูที่มีความหนาแน่นเป็นระยะทางยาว 6 กิโลเมตร ตอนนี้เริ่มเบาบางลงแล้ว ซึ่งเราสามารถตักขึ้นมาได้ 29,000 ตัน โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมหาแนวทางแก้ปัญหา
โดยการดึงชุมชนและชาวแพเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อปรับแผนกำจัดจอกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผอ.โครงการฯ กล่าวอีกว่า ตอนนี้เป็นช่วงหมดปีงบประมาณ ความจริงแล้วเจ้าหน้าที่จะหยุดทำงานเพราะไม่มีงบประมาณมารองรับ
แต่ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยทำงานต่อไปก่อน เนื่องจากปัญหายังคงเกิดอยู่ต่อเนื่อง
ขณะนี้ได้ของบรองรับไปอีก 1 ล้านบาทเข้ามาดำเนินการ ต้องทำไปจนกว่าจะหมด
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าอยากเห็นความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาเหมือนจังหวัดพะเยาที่ประสบปัญหาผักตบชวา
ซึ่งในจังหวัดตื่นตัวและออกมาร่วมกันแก้ไข
นายฤทัย กล่าวว่า ปัญหาจอกหูหนูนี้
ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งให้รายงานความคืบหน้าเข้าไป โดยทางสำนักชลประทานที่ 2 ได้ส่งรายงานไปแล้ว กรณีที่ไม่สามารถนำกำลังคนเข้ามาได้จำนวนมากนั้น
เนื่องจากอ่างเก็บน้ำกิ่วลมมีขนาดกว้างใหญ่ และน้ำมีความลึกมาก ไม่เหมือนคลอง
บึงทั่วไป จึงไม่สามารถนำคนลงตักตามขอบน้ำได้
การทำงานทุกครั้งจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และต้องประเมินความเสี่ยง
เพราะหากเกิดความผิดพลาดแล้วการจะกู้เครื่องจักรต่างๆก็ทำได้ยาก นายฤทัย กล่าวย้ำว่า
การกำจัดจอกหูหนูจะไม่มีการใช้สารเคมีเด็ดขาด เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้น้ำและสัตว์น้ำ
รวมถึงปลาที่เลี้ยงอยู่ในกระชังด้วย
ด้านนายวศิน
ลีลาชินาเวศ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน กล่าวว่า
คงจะไม่มีการเปิดประตูระบายน้ำปล่อยจอกหูหนูออกไปเหมือนครั้งที่ผ่านมาแล้ว
เพราะตอนนี้จอกมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก
ถ้าปล่อยออกไปก็อาจจะไปแพร่กระจายเป็นปัญหาทางท้ายน้ำอีก
จึงใช้วิธีนำรถแบ็คโฮและเรือกำจัดวัชพืชมาช่วยกันตัก
ซึ่งผลออกมาจะทำได้เร็วขึ้นและตักได้มากขึ้นกว่าเดิม
และจะทำทุ่นดักตามจุดต่างๆเพื่อจำกัดบริเวณให้ตักได้ง่ายขึ้น ส่วนที่ตักขึ้นมาแล้วได้นำมากองไว้ด้านข้าง
ปล่อยให้แห้งตาย
โดยนำตะแกรงไม้ไผ่และก้อนหินมาทับไว้อีกชั้นเพื่อไม่ได้จอกไหลลงไปในน้ำ
จากนั้นก็จะลำเลียงใส่รถบรรทุกทยอยขนออกไป ส่วนชาวบ้านที่สนใจจะนำจอกไปทำปุ๋ย
สามารถมาขนออกไปได้เลย
ด้านผู้ประกอบการแพหน้าเขื่อนกิ่วลม
เจ้าของแพดาวรุ่ง กล่าวว่า ขณะนี้จอกหูหนูบริเวณหน้าเขื่อนยังหนาแน่นอยู่เช่นเดิม
เวลาจะออกแพต้องอาศัยเรือของโครงการฯมาดันให้ เพื่อแหวกทางออกไปได้
แต่ก็สามารถล่องแพไปได้ถึงเกาะวังแก้วเท่านั้น
เพราะจะมีช่วงช่องแคบที่จอกหูหนูหนาแน่นมากไม่สามารถฝ่าออกไปได้
การแก้ปัญหาของโครงการฯ ที่ใช้เรือและรถแบ็คโฮมาช่วยตักก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาคลี่คลายลงได้เลย
โดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะเปิดประตูระบายน้ำออกไป หรือถ้าไม่เปิดทิ้งก็อยากให้มีการทำสายพานลำเลียงจอกที่ตักขึ้นมาแล้ว
นำขึ้นไปไว้ที่ถนนด้านบนเลย เชื่อว่ามีคนที่ต้องการนำไปปุ๋ยอยู่จำนวนมาก
แต่ทุกวันนี้จอกหูหนูกองอยู่ด้านล่างซึ่งขนย้ายลำบากจึงไม่ได้มีใครลงไปขนขึ้นมา ตอนนี้ทราบว่าทางโครงการฯจะเรียกประชุมผู้ประกอบการ
หากจะขอให้ช่วยเหลือ เราก็ช่วยหากทำได้
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการแพ
ได้มีการตั้งข้อสงสัยว่า สาเหตุการเกิดจอกหูหนูน่าจะมาจากทางบ้านสา อ.แจ้ห่ม
ซึ่งมีการเลี้ยงกระชังปลา และการปลูกพืชใกล้ริมน้ำจำนวนมาก
ซึ่งยังไม่มีการเข้าไปตรวจสอบ
เนื่องจากเป็นช่องน้ำแคบต้องใช้เรือหางยาวเข้าไปเท่านั้น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 997 ประจำวันที่ 3 - 9 ตุลาคม 2557)