วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ปฏิรูปสื่อ ฉบับ กปปส.


กระบวนการปฏิรูปประเทศ เดินหน้าแล้วตามโรดแมป ของ กปปส.ที่ต้องการให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ฉะนั้นตัวแทน สปช.จำนวนไม่น้อย ที่เคยขึ้นเวที “สู้ไม่ถอย” จึงถูกเลือกเข้าไปสานต่อภารกิจพระสุเทพกันทั่วหน้า การปฏิรูปสื่อก็เริ่มเคลื่อนไป ด้วยตัวแทนสายสื่อมวลชนที่เกือบทั้งหมดไม่เคยมีบทบาทหรือแสดงให้เห็นแนวคิดในการปฏิรูปสื่อเลย นี่เป็นความวังเวงในเป้าหมายการปฏิรูป เช่นเดียวกับตัวแทนจังหวัด ทั้งที่นี่และที่อื่นๆ ที่เห็นหน้า สอบประวัติแล้ว ยังไม่พบว่า มีความคิดอ่านในเรื่องปฏิรูปมาก่อนหน้านี้อย่างไร

การปฏิรูปสื่อนั้นสำคัญยิ่ง เพราะสื่อจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปทุกด้านไปสู่เป้าหมาย การปฏิรูปสื่อไม่ใช่การอธิบายว่า การสื่อสารคืออะไร ผู้ส่งสารคือใคร ข่าวสารคืออะไร เหมือนกับเนื้อหาที่ คสช.รวบรวมไว้ เพื่อให้ตัวเองเข้าใจ ไม่ใช่คนอื่นเข้าใจ วันนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องมาทบทวนสิ่งที่ คสช.เตรียมการไว้ ด้วยการตัดต่อพันธุกรรม ตัดแปะ และคัดลอก โดยในสมองว่างเปล่า เรียกง่ายๆว่า ชำแหละ

ความหมายจริงๆ ก็คือชำแหละ กรอบความเห็นร่วมปฏิรูปประเทศไทย ด้านสื่อสารมวลชน ซึ่งคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม  จัดทำเป็นรูปเล่มให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ใช้เป็นสารตั้งต้น ในการศึกษา ต่อยอด เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปให้สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบัน

การชำแหละ หรือพูดให้ดูเป็นวิชาการ ว่าเป็นการวิเคราะห์เนื้อหาข้อเสนอแนวทางปฏิรูปสื่อของ คสช.จะทำในสองฐานะ  หนึ่งคือในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่งที่มีส่วนได้เสียกับการปฏิรูปครั้งนี้  สองในฐานะเจ้าของวรรณกรรม ที่คสช.ถือวิสาสะ นำไปบรรจุไว้ในกรอบความเห็นนี้ โดยไม่ปรับเปลี่ยนแม้สักถ้อยคำหนึ่ง

คงมีประเด็นที่ต้องถกแถลงกันชนิดเข้มข้นอีกหลายวาระ ในเรื่อง สื่อแท้ และ สื่อเทียม และความพยายามที่จะเสนอแนวคิด การตีตราผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน  แต่ในคำนำของคณะทำงานที่อธิบายว่า เป็นการรวบรวมข้อมูลจากหนังสือ รายงานการวิจัย เอกสารและบทความที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรวบรวมข้อมูลจากประชาชนทังโดยสัมภาษณ์เชิงลึก การประชุมกลุ่มย่อย การเสวนา และรับข้อมูลเสนอผ่านทางโทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ จดหมาย และข้อคิดเห็นจากองค์กร หน่วยงานหรือบุคคลที่สนใจ จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาสังเคราะห์เพื่อให้ได้กรอบความเห็นร่วม 

ผมเรียกมันอย่างตรงประเด็นได้เพียงว่า เป็นการ ตัดต่อ หาได้เป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างใดไม่
ร้ายกว่านั้น มีหลายวรรคตอน ที่เป็นการถ่ายทอดการบันทึกเสียงคำต่อคำ โดยไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้น

ผู้ที่จะเข้ามาเป็น หรือมาทำหน้าที่ในกระบวนการสื่อสารมวลชนนั้น พูดถึงคนที่ได้ร่ำเรียนมาเป็นอันดับแรก ในการเลือกข้างนั้น ในความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน และสิ่งที่เขาถือว่าเป็นบทบาทหน้าที่ของสื่อสารมวลชนนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำอันดับแรกนั้น คือสื่อสารมวลชนนั้นๆ ตามทฤษฎีจะต้องมีจริยธรรม มีจรรยาบรรณ ฉะนั้นถ้ามีตรงนี้หรือมีความมั่นคงตรงนี้แล้วจะทำให้การเลือกข้างอาจจะเกิดน้อยลง ในสิ่งตรงนี้ ในจริยธรรม จรรยาบรรณนี้ เหมือนกับการควบคุมสื่อสารมวลชนด้วย เพื่อประโยชน์ของใคร เพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง ผู้ชม ผู้อ่าน..

(กรอบความเห็นร่วมปฏิรูปประเทศไทย ด้านสื่อสารมวลชน ว่าด้วยคุณธรรมและจริยธรรมสื่อ หน้า 40 วรรค 2)

การสื่อสารด้วยภาษาเขียนที่วกวน วรรคนี้ สรุปรวบรัดได้ง่ายๆสั้นว่า ผู้ที่จะเข้ามาสู่วิชาชีพสื่อมวลชน จะต้องศึกษา เรียนรู้ และมีความรับผิดชอบด้านจริยธรรม

ปัญหาของคนเรียบเรียงหรือคนเขียนกรอบความเห็นร่วมฉบับนี้ คือไม่มีทักษะในการสื่อสารด้วยภาษาเขียน ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับลูกศิษย์ของผมหลายคน เวลาที่ต้องตอบคำถามแบบบรรยาย แต่สิ่งที่อาจแตกต่างไปก็คือ ผู้รวบรวม หรือสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแม่งานครั้งนี้ ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานการทำงานของสื่อมวลชนอย่างแท้จริง

และเมื่อไม่รู้ก็ไม่พยายามที่จะแสวงหาความรู้ ดังนั้น เนื้อหาของกรอบความเห็นร่วมจึงกระจัดกระจายกันไปคนละทิศละทาง มีทั้งจริงและเท็จปะปนกันไป และที่สำคัญไม่มีบทสรุปสำหรับผู้บริหาร ที่เป็นหัวใจสำคัญที่จะฉายภาพให้เห็นและเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด

มีอีกหลายประเด็น ที่เป็นเรื่องของเนื้อหา รวมทั้งการลอกงานของผมซึ่งเขียนไว้ในตำราบางเล่ม และเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน (หน้า 48 – 50) ที่อาจจำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติม 

เราจะชำแหละกันจากนี้ตามระยะเวลาและโอกาสที่เหมาะสม อย่างน้อยก็อาจเป็นคำตอบได้ว่า ถ้าทิ้งกรอบความเห็นร่วมนี้ไป หรือเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด งานปฏิรูปสื่ออาจจะเดินไปได้ตรงทางมากกว่านี้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1001 ประจำวันที่ 24 - 30  ตุลาคม  2557)



Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์