วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ยื่นสอบใช้ที่ป่า ซิกแซกทำเหมืองแร่



ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และกลุ่มรักษ์บ้านแหง อ.งาว  กว่า 100 คน ในนามสหพันธุ์เกษตรกรภาคเหนือยื่นหนังสือถึง คสช.ผ่านผู้ว่าฯ ขอให้ตรวจสอบการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าทำเหมืองแร่ พร้อมทั้งยื่นเรื่องติดตามความคืบหน้ากรณีความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ต.ค.57 ที่ผ่านมา ชาวบ้านในนามสหพันธุ์เกษตรกรภาคเหนือกว่า 100 คน ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อ.แม่เมาะ และชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง อ.งาว ได้รวมตัวกันเดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อยื่นหนังสือไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อขอให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ และแก้ปัญหาที่ดินอย่างเป็นรูปธรรม 

ทั้งนี้ นายฤทธิพงษ์ เตชะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นผู้รับหนังสือแทน โดยกลุ่มชาวบ้านได้อ่านแถลงการณ์ก่อนจะยื่นหนังสือ โดยมีข้อเสนอที่สำคัญให้กับรัฐบาล 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1.ให้ยุติแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อทบทวนและสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการวางแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้  2.ให้กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนงาน เพื่อเร่งรัดการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างเป็นรูปธรรม  และ3.ให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) อย่างเร่งด่วน      

น.ส.แววรินทร์  บัวเงิน แกนนำกลุ่มรักษ์บ้านแหง อ.งาว กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทเขียวเหลืองยังคงได้รับใบอนุญาตป่าไม้เพื่อเข้ามาทำเหมืองแร่ในเขต ต.บ้านแหง  ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ออกใบอนุญาตตามระเบียบของกรมป่าไม้ในข้อ 8(5) ระบุว่าต้องไม่ขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่  ซึ่งราษฎร หมู่ 1 และหมู่ 7 ที่เป็นที่ตั้งของพื้นที่ออกใบอนุญาตยืนยันว่าป่าไม้ไม่มาแก้ปัญหาใดๆ จึงถือโอกาสยื่นเรื่องถึง คสช. เนื่องจากมีคำสั่งฉบับที่ 66/2557 เรื่องปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดย คสช.มีเจตนารมณ์ ที่จะปราบปรามนายทุน ผู้มีอิทธิพล และกลุ่มขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเน้นย้ำว่าการดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่พื้นที่เดิมนั้นๆก่อนมีผลบังคับใช้ เพื่อให้ช่วยเหลือในการตรวจสอบการเข้ามาใช้พื้นที่ป่าเพื่อการทำเหมืองแร่ของงบริษัทเขียวเหลืองดังกล่าว 

ในขณะเดียวกัน ทางกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อขอทราบความคืบหน้ากรณีร้องขอความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะด้วย  โดยได้แนบสำเนาหนังสือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำเนียบรัฐบาล ที่ นร.0105/42437 และสำเนาหนังสือเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ลงวันที่ 23 ก.ค.57 เรื่องร้องขอความอนุเคราะห์สั่งการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มาประกอบด้วย

นาง มะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปางได้รวมตัวกันเป็น กลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะได้เรียกร้อง ในเรื่องสิทธิที่ควรได้ไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง มาโดยตลอด และเมื่อวันที่ 23 ก.ค.57 ที่ผ่านมา
ได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอให้มีคำสั่งให้ กฟผ.เร่งจ่ายค่าสินไหมชดเชยตามที่ศาลสั่งให้กับชาวบ้าน ผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  จำนวน 318 ราย รวมทั้งตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกองทุนรอบโรงไฟฟ้า จำนวนปีละกว่า 360 ล้านบาท    และตรวจสอบทรัพย์สินของรัฐที่ซื้อคืนจากราษฎรภายหลังการอพยพราษฎร 4 หมู่บ้าน ที่หายไปโดยไม่มีผู้รับผิดชอบ  ต่อมาได้รับหนังสือตอบกลับมาเมื่อวันที่ 31 ก.ค.57  จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่าได้ส่งเรื่องนี้ให้ทางกระทรวงพลังงานและจังหวัดลำปาง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบกรณีนี้ ซึ่งทางเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะได้ติดตามเรื่องนี้กับทางจังหวัดลำปางมาครั้งหนึ่งแล้ว  แต่ เรื่องกลับไม่มีความคืบหน้าและทางเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะเองก็ยังไม่ ได้รับการประสานงานและแจ้งผลการดำเนินการจากจังหวัดลำปางแต่ประการใด  เกรงว่าเรื่องจะเงียบหายไปอีกจึงขอให้ทาง คสช.ช่วยติดตามผลให้อีกครั้ง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1000 ประจำวันที่ 17 - 23  ตุลาคม  2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์