วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

อปท.ทุจริตจัดซื้อฯ ขึ้นบัญชี ป.ป.ช.นับร้อย


ป.ป.ช.ลำปางแถลงผลงานในรอบ 1 ปี เผยปัญหาการทุจริตส่วนใหญ่ใน จ.ลำปาง เป็นกลุ่มขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีถูกร้องเรียนมากสุด อันดับ 1 เป็นการร้องเรียนเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส รองลงมาเป็นเรื่องของการรับสินบน และประมาทเลินเล่อยางร้ายแรง 

เมื่อวันที่ 10 พ.ย.57 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดลำปาง ผศ.อรรณพ วงศ์วิชัย ประธานกรรมการ ป.ป.จ.ลำปาง นายทวี ฉิมพลี และนายสถิตย์ นิตย์สมบูรณ์ กรรมการ ป.ป.จ.พร้อมด้วยนางอรดี ไกรยุทธศักดิ์ เจ้าพนักงานปราบปรามการทุจริตเชี่ยวชาญ รักษาการ ผอ.ปปช.ลำปาง ร่วมกันแถลงผลการดำเนินการในรอบ 12 เดือน ของปีงบประมาณ 2557 ช่วง 1 ต.ค.56 ถึง 30 ก.ย.57 ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดลำปาง 

ผศ.อรรณพ ได้เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ในห้วงเวลาดังกล่าว ทาง ป.ป.ช.ประจำ จ.ลำปาง ได้รับการร้องเรียนการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งสิ้นจำนวน  94 เรื่องด้วยกันและส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกร้องเรียนจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งได้แก่เรื่องของทุจริตในการจัดซื้อ จัดจ้างที่ไม่โปร่งใส หรือร้อยละ 85 รองลงมาเป็นการร้องเรียนในเรื่องของการเรียกรับสินบน และสุดท้ายเป็นการร้องเรียนในเรื่องกระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขาดความยังคิด และขณะนี้ทาง ป.ป.ช.ได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จตามขบวนการแล้วจำนวน 25 เรื่อง และยังอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 69 เรื่อง แต่เรื่องที่เสร็จสิ้นแล้วนั้นทาง ป.ป.ช.ก็ยังไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐรายใดหรือ อปท.ไหนเป็นผู้กระทำผิดได้ เนื่องจากการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดฯยังต้องส่งเรื่องให้กับทาง ป.ป.ช.กลางเป็นผู้สรุปอีกครั้งหนึ่ง จึงจะสามารถเปิดเผยรายชื่อได้ 

และหากมีการเปรียบเทียบกันแล้ว จังหวัดลำปางก็ยังถือว่าการมีการทุจริตอยู่ในระดับปานกลางไม่รุนแรงเหมือนเช่นจังหวัดใหญ่ๆ ในภาคอีสาน หรือภาคกลาง ที่มีความรุนแรงมากกว่าของจังหวัดลำปางเรา ทั้งนี้ก็อาจจะเป็นเพราะจังหวัดลำปาง ยังไม่มีโครงการใหญ่ๆ ที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนพัวพันด้วย แต่ในอนาคตข้างหน้าก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องระวังเพราะเมื่อถึงเวลานั้นการขยายตัวของสังคม และการขยายตัวของพื้นที่จะต้องเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการก่อสร้างในโครงการต่างจะต้องเพิ่มตามไปด้วยจึงอาจะมีการทุจริตเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว 

นางอรดี ไกรยุทธศักดิ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการปราบปรามการทุจริตจากทั่วประเทศ ป.ป.ช.มีการรับคดีเข้าสู่การพิจารณาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 จนถึงปีงบประมาณ 2557 ซึ่งเป็นเรื่องค้างสะสมที่ยกมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่ 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 11,578 คดี และมีการรับเรื่องร้องเรียนใหม่ จำนวน 22,950 คดี และดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 25,012 คดี จึงยังเหลือคดีค้างสะสมอยู่อีก 9,516 เรื่องด้วยกัน ด้านการตรวจสอบบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อวินิจฉัย ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและการแสดงบัญชีทรัพย์และหนี้สินอันเป็นเท็จ มีดังนี้ ในปีงบประมาณ 2550 มีจำนวน 17 ราย ปี 2551 มี 5 ราย ปี 2552 มี 2 ราย ปี 2553 มี 2 ราย ปี 2554 มี 3 ราย ปี 2555 มี 2 ราย และปี 2556 มี 15 ราย ส่วนในปีงบประมาณ 2557 นี้ ป.ป.ช.มีการดำเนินการในกรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรจะแจ้งให้ทราบมี 3 รายด้วยกัน 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1003 ประจำวันที่ 14 - 20 พฤศจิกายน  2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์