วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

โรงเรียนมัธยมศาสตร์ ทางเลือกเพื่อการเรียนรู้




กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
           
ในอาณาจักรที่ร่มรื่นด้วยพรรณไม้มีอาคารเรียนรูปทรงคล้ายหอประชุมขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางพื้นที่ ภายในอาคาร 2 ชั้นนี้ ด้านซ้ายและด้านขวาแบ่งเป็นห้องเรียนที่มีการจัดโต๊ะเรียนเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนตรงกลางอาคารเป็นพื้นที่อเนกประสงค์โล่งกว้าง ทั้งหมดนี้เป็นการฉีกกรอบอาคารเรียนแบบเดิม ๆ ได้อย่างน่าสนใจ

โรงเรียนมัธยมศาสตร์เป็นโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กในจังหวัดลำปาง ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้จัก เพราะเพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2555 แต่สำหรับพ่อ-แม่และเด็ก ๆ จำนวนหนึ่ง ที่นี่คือโรงเรียนในฝัน ซึ่งประกาศจุดยืนของตนเองว่า เดินตามรอยของสิงคโปร์ โมเดล 
 
ก่อนหน้านั้น ชนิศา จิวะสันติการ รองกรรมการอำนวยการโรงเรียนมัธยมศาสตร์ ใช้เวลาศึกษาอยู่ในต่างประเทศหลายปี ซึ่งทำให้เธอตระหนักว่า นักเรียนไทยมีปัญหาเกี่ยวกับทักษะในการเรียนรู้หลายอย่าง หลังกลับมาบ้าน เธอหวังจะสร้างโรงเรียนในฝันที่สอนเด็ก ๆ มากกว่าบทเรียนในตำรา นั่นคือสอนทักษะชีวิต เริ่มจากการเดินทางไปดูงานตามโรงเรียนทางเลือกที่มีชื่อเสียงอย่างดรุณสิกขาลัยและเพลินพัฒนา แต่ในที่สุดก็สนใจที่จะนำรูปแบบการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ เรียกว่า SRIDAR MODEL มาใช้ ซึ่งก็คือ การเรียนแบบบูรณาการที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ ทั้งนี้ เด็ก ๆ จะได้รับมอบหมายให้ผลิตชิ้นงานเทอมละ 1 ชิ้น โดยผ่านกระบวนการคิด ตั้งแต่เริ่มคิดถึงปัญหา กระทั่งหาทางสร้างสรรค์ชิ้นงานเพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ ให้ได้ จะว่าไปแล้ว วิธีนี้ช่วยฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักใช้เทคโนโลยี รวมถึงอุปกรณ์เชิงช่างชนิดต่าง ๆ ซึ่งทางโรงเรียนเตรียมไว้ให้เพียบพร้อมในช็อปด้านหลัง

โรงเรียนมัธยมศาสตร์เปิดสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย สายสามัญศึกษา วิทย์-คณิต อังกฤษ-คณิต และอังกฤษ-สังคม จุดเด่นของโรงเรียนมัธยมศาสตร์อยู่ที่ห้องเรียนปรับอากาศ ที่จำกัดจำนวนนักเรียนไว้ไม่เกินห้องละ 20 คน ด้วยจำนวนนักเรียนที่ไม่แออัด ย่อมทำให้ครูดูแลได้อย่างทั่วถึง การเรียนการสอนจึงมีประสิทธิภาพ พร้อมกับวางเป้าหมายว่า ทุกคนจะสื่อสารภาษาอังกฤษพื้นฐานได้ภายใน 3 ปี เพราะถึงแม้จะเป็นโรงเรียนโปรแกรมไทย แต่ก็เน้นชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษถึง 13 คาบ ต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าโรงเรียนธรรมดา 1 เท่าตัว

ทุกเช้า วิชาแรกที่เด็ก ๆ จะได้เรียน คือ English Communication Skills ที่สอนโดย มร. มาร์ค เวบบ์ ครูสอนภาษาอังกฤษที่เข้าใจนิสัยของเด็กไทยมากที่สุด นั่นคือ กลัวฝรั่งและเกลียดแกรมมาร์ เขาจึงจัดแจงฉีกกรอบการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ ลืมแกรมมาร์ที่แสนน่าเบื่อ หันไปหาเพลง หรือภาพยนตร์ ให้เด็ก ๆ ได้ฝึกพูดมากที่สุด ถึงแม้จะผิดก็ไม่มีปัญหา มาร์คจะสอนให้เด็ก ๆ เรียนรู้จากการผิดพลาดนั้น ฟังดูแล้ว การเรียนภาษาอังกฤษที่นี่คงสนุกทั้งคนเรียนคนสอน

ไม่เพียงเท่านั้น การพัฒนาจุดแข็ง แก้ไขจุดอ่อน ยังเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องเข้าใจว่า เด็กทุกคนไม่ได้ยืนอยู่ในจุดเดียวกัน พวกเขามีความแตกต่าง จึงมีการปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับนักเรียนมากที่สุด ขณะเดียวกัน ก็ไม่ลืมที่จะสอนให้เด็ก ๆ เป็นทั้งผู้นำและผู้เรียนรู้ เทคนิคอย่างหนึ่งคือห้องเรียนทุกห้องจะมีโพเดียมตั้งอยู่ เพื่อฝึกให้เด็กกล้าพูด กล้าแสดงออก นอกจากนี้ นักเรียนชั้น ม. 2 และ ม. 5 ยังมีโอกาสเดินทางไปทัศนศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ 1 อาทิตย์อีกด้วย

แม้จะมุ่งพัฒนาทักษะชีวิต แต่โรงเรียนมัธยมศาสตร์ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงกระแสค่านิยมในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้จัดติวเข้มโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี สังคม และภาษาไทย ก่อนหน้านั้นยังส่งเสริมให้นักเรียนได้เข้าร่วมการแข่งขันต่าง ๆ เพื่อสะสมเป็นแฟ้มผลงาน อันจะมีผลต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

สิ่งที่พ่อ-แม่ ผู้ปกครองคงชื่นชอบอีกอย่างสำหรับโรงเรียนนี้ นั่นคือ Student Progress Chart ที่แสดงคะแนนสะสม คะแนนสอบของเด็ก ๆ อย่างละเอียดยิบ ซึ่งคะแนนเหล่านี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของครูผู้สอนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยจะมีช่องประเมินการสอนของครูให้เห็นด้วย

บนเส้นทางการศึกษาของเด็กไทย ยังมีข้อถกเถียงอีกมากถึงความอ่อนด้อย โรงเรียนทางเลือกจึงเกิดขึ้นเพื่อต้องการอุดรอยรั่วต่าง ๆ โดยเริ่มที่ตัวของเด็กก่อน ด้วยการปรับกระบวนการคิดเสียใหม่ ไม่ปล่อยให้ตำรับตำรานำทาง แต่เปิดโลกแห่งการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว ซึ่งนั่นวิเศษที่สุดแล้วสำหรับชีวิตจริงนอกรั้วสถานศึกษาที่ไม่ได้ต้องการเพียงเกรดสวย ๆ เท่านั้น

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1002 ประจำวันที่ 31  ตุลาคม - 6 พฤศจิกายน  2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์