วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ถึงเวลา พิฆาต กสทช.!






คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีอาจารย์จุมพล รอดคำดี อดีตประธานคณะอนุกรรมการวิชาการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  เป็นประธาน ชวนผู้นำองค์กรสื่อ ไปตั้งวงพูดคุยเรื่อง ข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน เมื่อวันอังคาร (25 พ.ย.)

มีทั้ง เรื่องเสรีภาพสื่อมวลชน องค์กรกำกับดูแลสื่อ การป้องกันการแทรกแซงจากอำนาจภายนอก และบทบาทของสื่อในการสร้างสรรค์สังคม

ว่ากันเฉพาะเสรีภาพ ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ที่คนร่างรัฐธรรมนูญเห็นความสำคัญในบทบาทของสื่อมวลชนมากขึ้น

แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เสรีภาพสื่อมวลชน แต่คำถามคงอยู่ที่ขอบเขตการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชน ที่ขาดความรับผิดชอบ และส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นเหตุผลที่นำมาสู่การยึดอำนาจ และกำลังก่อตัวเป็นสึนามิในวงการสื่อมวลชน เมื่อเริ่มมีเสียงเรียกร้อง ให้มีกระบวนการในการออกใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เช่นเดียวกับแพทยสภา สภาทนายความ และสภาวิชาชีพอื่นๆ

พวกเราไม่ได้ปฏิเสธความจริงที่ว่า มีสื่อมวลชนที่ใช้เสรีภาพโดยปราศจากความรับผิดชอบ แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีวิธีการอื่น นอกจากย้อนยุคไปใช้กฎหมายในทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484 คือการควบคุมบังคับให้สื่อปฏิบัติตามโดยใช้ใบอนุญาตเป็นเงื่อนไข เพราะไม่มีประเทศเสรีประชาธิปไตยประเทศใดในโลกนี้ ที่การเป็นสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาต

และหากจะเทียบเคียงกับวิชาชีพอื่นๆก็แตกต่างกัน เพราะคนที่มาทำอาชีพสื่อมวลชน ไม่ได้จบมาเฉพาะทางด้านสื่อมวลชน หากมีหลายสาขาวิชา ทั้งกฎหมาย รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และแม้ไม่ได้จบการศึกษาตามระบบ เช่นนักข่าวในยุคก่อนๆ ก็ยังเข้าสู่วิชาชีพนี้ได้ นอกจากนั้นการกำหนดให้มีใบอนุญาต ยังเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น อันขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วย

ฉะนั้น  สิ่งใดเล่าจะเป็นหลักประกัน สำหรับความรับผิดชอบของสื่อมวลชน

ผมคิดว่า มีประเด็นที่ควรพิจารณา  2 เรื่อง คือความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในกิจการสื่อมวลชน และความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับสังคม หรือผู้บริโภคข่าวสาร

เมื่อเราเริ่มแยกแยะได้ ระหว่าง สื่อระดับผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน  กับ ผู้ประกอบการสื่อมวลชน เราก็จะเห็นภาพการใช้เสรีภาพมากขึ้น ผมมีความเชื่อมั่นว่าสื่อระดับปฏิบัติการ ซึ่งได้แก่นักข่าวภาคสนามที่เป็นต้นทางของข่าวสารนั้น  เขาเข้าใจและมีความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับที่พวกเขากำลังรณรงค์เสรีภาพบนความรับผิดชอบขณะนี้  แต่เมื่อข่าวสารมีการจัดการโดยผู้บริหารในกองบรรณาธิการภายใต้นโยบายธุรกิจ  หลายครั้งข่าวและภาพที่มุ่งแต่การขาย ก็ก่อให้เกิดคำถามเรื่องความรับผิดชอบแบบเหมารวม รวมทั้งสื่อการเมือง สื่อสังคมออนไลน์ สื่อบันเทิง ที่ต้องนิยามกันใหม่ให้ชัดเจน

หรือบางกรณีระดับปฏิบัติการไม่สามารถทำงานอย่างตรงไปตรงมาตามวิชาชีพได้ เพราะถูกจำกัดเสรีภาพโดยนายจ้าง หรือถูกกลั่นแกล้งไม่ให้ทำหน้าที่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด

อย่างน้อยแม้เราจะปฏิเสธกฎหมายที่มีเนื้อหาเผด็จการ แต่ควรมีกฎหมายที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจ เช่น ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งผม คุณมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนพ้องในวงการบางคน นักวิชาการ นักกฎหมาย ได้ช่วยกันยกร่างและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เป็นเครื่องมือในการทำให้เสรีภาพมีผลบังคับใช้

หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน  ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการฯ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ แต่มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการ โดยอำนาจ คือการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพหรือไม่ เรียกบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐมาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องร้องเรียน หรือสั่งให้มีการแก้ไข หรือเยียวยาแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับสังคม อาจจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรผู้บริโภค ซึ่งผมเสนอแนวคิดในลักษณะเดียวกับ สคบ.ในฝ่ายสื่อ มีหน้าที่ในการเป็นสื่อกลางรับเรื่องร้องเรียนให้กับองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เป็นตัวแทนในการฟ้องคดีกรณีสื่อละเมิดกฎหมาย รวมทั้งมีหน้าที่คล้ายๆมีเดียมอนิเตอร์ ที่จะเฝ้าระวังการทำงานของสื่อ และสามารถเสนอเรื่องสื่อละเมิดจริยธรรมมายังองค์กรวิชาชีพโดยตรง

เรื่องการกำกับดูแลสื่อเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง ที่จะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับบทบาท กสทช.

บทบาทจากนี้ซึ่งจะต้องไม่เป็นองค์กรซ่อนเงื่อน คือจัดการให้ กสทช.กลับมาอยู่ในร่องรอยให้สมฐานะการเป็นต้นแบบการปฏิรูปสื่อในสังคมไทย

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์